Home / บทความ / มาตรการที่เมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานำมาใช้ส่งเสริมการใช้จักรยาน (ตอนที่ 2)

มาตรการที่เมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานำมาใช้ส่งเสริมการใช้จักรยาน (ตอนที่ 2)

มาตรการที่เมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานำมาใช้ส่งเสริมการใช้จักรยาน (ตอนที่ 2)

(เครดิตภาพ: Adam Coppola Photography)

เดี๋ยวนี้หลายเมืองในไทยประกาศตนเองว่าเป็น “เมืองจักรยาน” โดยไม่ได้บอกว่าได้ทำอะไรไปในการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นวิธีการสัญจรในชีวิตประจำวันของคนในเมืองนั้นที่ทำให้เมืองของตนมีคุณสมบัติเป็น “เมืองจักรยาน” ได้เหนือกว่าเมืองอื่นๆ  ความจริงเมืองเหล่านั้นอาจจะมีการดำเนินงานที่มีผลจริง แต่ไม่ได้ชี้แจงออกมา   บทความนี้จึงขอนำมาตรการหลากหลายที่เมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานำมาใช้ในการเอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถใช้จักรยานได้สะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้นมานำเสนอ

ด้านหนึ่ง ชาวบ้านทั่วไปและกลุ่ม-องค์กรที่ส่งเสริมการใช้จักรยานสามารถเอาไปดูได้ว่าเมืองของเรามีการนำมาตรการไหนมาใช้บ้าง หากยังไม่มี น่าจะนำมาตรการใดมาใช้บ้างหรือไม่ และได้นำไปผลักดันให้ผู้บริหารเมือง  อีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารที่เอาจริงกับการส่งเสริมการใช้จักรยานก็จะได้มีแนวคิดว่า ควรจะนำมาตรการใดมาปรับใช้ในเมืองของตนได้บ้าง

การเสนอตัวอย่างต่างๆ ข้างล่างนี้มิได้เรียงลำดับตามเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการสุ่มมาเสนอ จึงควรพิจารณาเป็นแต่ละมาตรการไป

(ตอนที่ 2) (มาตรการที่ 1-4 อยู่ในตอนที่ 1)

5) การมีระบบจักรยานสาธารณะ

การศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ว่าจะที่ไหนในโลกยืนยันตรงกันว่า การขี่จักรยานบนถนนร่วมกับยานพาหนะอื่นๆ จะปลอดภัยมากขึ้นตามจำนวนของคนที่ออกมาใช้จักรยานบนถนนในเมืองนั้น  และปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้คนใช้จักรยานบนถนนทั่วไปคือการมีระบบจักรยานสาธารณะ ซึ่งพิสูจน์ความสำเร็จให้เห็นมาแล้วและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลกดังที่เราได้รายงานข่าวไปแล้วเป็นระยะ  ยิ่งระบบให้บริการที่เข้าถึงและใช้ได้ง่าย  สะดวก ครอบคลุมพื้นที่กว้าง และค่าบริการย่อมเยา เท่าใด ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น   ดังนั้นตัวอย่างที่ยกมาจึงไม่ใช่ระบบจักรยานสาธารณะ Citibike ของนครนิวยอร์ก แต่เป็นระบบจักรยานสาธารณะ Indego ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเพิ่งเริ่มมีเมื่อปีที่แล้ว (2015) นี่เอง  ที่เด่นกว่าที่เมืองอื่นคือ บริษัทที่ดำเนินงานอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถจ่ายค่าสมาชิกระบบได้ด้วยเงินสด ทำให้คนที่ไม่มีบัตรเครดิตใดๆ ซึ่งมักจะเป็นคนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงใช้ระบบได้  แม้การจ่ายเงินสดจะทำให้มีความเสี่ยงเพราะไม่มีการยืนยันอัตลักษณ์ที่ถูกต้องแน่นอนของสมาชิกคนนั้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จักรยานจะถูกขโมย แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่เกิดปัญหานี้ขึ้น หากแต่ระบบประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ระบบอินเดโกเปิดดำเนินงานได้เพียง 100 วันแรกก็มีผู้ใช้บริการไปแล้วกว่า 180,000 เที่ยว บริษัทจึงจะเพิ่มจักรยานและสถานีอีกในปีนี้ (2016)   ในไทย ขณะนี้มี 4 เมืองแล้วที่มีระบบจักรยานสาธารณะ แม้จะมีขนาดเล็กมากก็ตาม ได้แก่ กรุงเทพฯ พิษณุโลก อุดรธานี และเชียงใหม่

6) การจัดทุนมาสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับจักรยานมากขึ้น

กรุงวอชิงตัน ดีซีเป็นเมืองหนึ่งที่มีสถิติอาชญากรรมไม่งดงามนักในสหรัฐฯ  แต่เป็นคนละเรื่องเมื่อมาดูการใช้จักรยาน  เมืองนี้กลับได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ปลอดภัยในการใช้จักรยาน  ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะผู้บริหารเมืองอัดงบประมาณลงไปทำให้เกิดขึ้นน่ะสิครับ  จากการผลักดันของสมาคมผู้ใช้จักรยานเขตวอชิงตันและเพื่อนมิตร เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกาแห่งนี้จัดสรรงบประมาณต่อหัวของประชากรมาใช้กับโครงการสำหรับผู้ใช้จักรยานและคนเดินเท้ามากกว่าเมืองใดๆ ในสหรัฐฯ  ผลก็คือมีทางจักรยานทั้งอยู่ร่วมกับถนนและที่แยกต่างหากเกิดขึ้นมาเชื่อมโยงทุกส่วนของเมืองเข้าด้วยกัน

7) การขยายทางจักรยานที่แยกต่างหากจากถนน

ตัวอย่างในเรื่องนี้คือมหานครนิวยอร์ก  นิวยอร์กมีทางจักรยานที่แยกต่างหากอยู่แล้ว 616 กิโลเมตรครอบคลุมทั้งห้าเขตของเมือง และยังมีแผนที่จะสร้างเพิ่มขึ้นไปเรื่อยทุกปี  กรมการขนส่งของนิวยอร์กรายงานว่า ทางจักรยานเหล่านี้เพิ่มความปลอดภัยให้ไม่เพียงแต่คนที่ใช้จักรยานเท่านั้น แต่ให้คนเดินเท้า และคนที่ใช้รถยนต์ด้วย!  ทางจักรยานที่แยกต่างหากที่ถนนโคลัมบัส ทำให้มีคนใช้จักรยานตามถนนสายนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 56ในวันทำงาน และการชนโดยรวมลดลงร้อยละ 34 ในขณะที่สภาพการจราจรยังคงเดิม  รายงานฉบับนี้ยังชี้ด้วยว่า ยอดขายของกิจการค้าปลีกตามแนวทางจักรยานแยกต่างหากนี้ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับถนนอื่นที่อยู่รอบข้าง  แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า การส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

8) การเชื่อมโยงย่านชานเมืองด้วยจักรยาน

เมื่อปีที่แล้ว (2015) กลุ่มผลักดันนโยบายด้านการเดินและการใช้จักรยานในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ที่ชื่อว่า Active Transportation Alliance ได้จัดการรณรงค์ทางจักรยานที่เป็นมิตรกับครอบครัว ให้มีการทำทางจักรยานที่แยกจากถนนและโครงสร้างพื้นฐานประกอบอื่นๆ ออกไปยังย่านชานเมืองและพื้นที่รอบนอกของนครชิคาโก ซึ่งที่ผ่านมามักเข้าถึงการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรน้อยที่สุด โดยเน้นไปที่การทำทางจักรยานที่เด็กและผู้ใช้จักรยานที่ไม่แข็งแรงได้ใช้ ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะนักจักรยานที่แข็งแรงและมีประสบการณ์  โครงการแบบนี้สามารถสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้เมืองทั้งหมดโดยรวมได้เนื่องจากเป็นการขยายขอบเขตการสัญจรด้วยจักรยานออกไปพ้นจากย่านใจกลางเมือง

หมายเหตุ  นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของมาตรการที่เมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานำมาใช้ในการส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังมีมาตรการอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะในยุโรป  การเรียนรู้จากเมืองในสหรัฐอเมริกาน่าสนใจในแง่ที่เมืองเหล่านี้เป็นเมืองในขั้นเริ่มต้น (Starter City) ของการส่งเสริมการใช้จักรยานเช่นเดียวกับเมืองในประเทศไทย ในขณะที่เมืองในยุโรปที่เรามักจะมองเป็นตัวอย่าง อยากทำตาม มักเป็นมืองในขั้นพัฒนา (Climber City)และเมืองในขั้นก้าวหน้า (Champion City) แล้ว ตามเกณฑ์ของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF)  ซึ่งยากมากที่เราจะก้าวกระโดดข้ามไปทำในขั้นนั้นทีเดียว   การศึกษาจากเมืองที่อยู่ในขั้นเดียวกันจึงน่าจะเป็นประโยชน์  อีกประการหนึ่ง หน่วยงานราชการไทยมักจะนิยมใช้ตัวอย่างหรือมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาในการศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้มากกว่าของทางยุโรป  จึงได้นำตัวอย่างเหล่านี้ ซึ่งนิตยสาร Bicycling ในสหรัฐฯ ได้เสนอไว้มาให้เราศึกษากัน

——————————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา  กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เก็บมาเขียนจาก 8 Things Top Bike Cities Have Done to Promote Safer Cycling โดย Caitlin Giddings ใน bicycling.com

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) มาตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชีย  และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA) ในปี 2557

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น