ทำไมระบบจักรยานสาธารณะจึงปลอดภัย
ระบบจักรยานสาธารณะ Citibike ที่สถานีรถไฟ Grand Central ในนครนิวยอร์ค
เมื่อตอนที่เอาระบบจักรยานสาธารณะ “ปันปั่น” มาใช้ในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกนั้น หลายคนอาจจำได้ว่ามีความห่วงใยกันถึงความปลอดภัยของคนที่จะมาใช้ เพราะน่าจะเป็นคนที่ไม่ได้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการขี่จักรยานในเมืองมากนัก และกรุงเทพฯ มีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับให้ขี่จักรยานได้ปลอดภัยอยู่น้อย
ความกังวลนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ในเมืองอื่นก็มีเช่นกัน อย่างในมหานครนิวยอร์กที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่เริ่มมีระบบจักรยานสาธารณะ Citibike ก็มีการทำนายทายทักกันว่า “เลือดจะนองถนน” เพราะผู้ใช้จักรยานที่ด้อยประสบการณ์และนักท่องเที่ยวจะลงมาขี่จักรยานบนถนนปะปนไปกับรถยนต์ในกระแสการจราจรที่วุ่นวายในนิวยอร์ก แต่เชื่อไหมครับ มาถึงต้นปี 2016 นี้ ระบบจักรยานสาธารณะได้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วจนมีใช้อยู่ในเมืองใหญ่ 94 แห่ง และมีจำนวนเที่ยวที่คนใช้ระบบนี้รวมแล้วกว่า 35,000,000 เที่ยว แต่ในสหรัฐฯ ไม่มีคนเสียชีวิตจากการใช้ระบบจักรยานสาธารณะเลยแม้แต่คนเดียว (มีข้อมูลว่ามีผู้ใช้จักรยานสาธารณะเสียชีวิตในคานาดา 2 คนและอีก 1 คนในเม็กซิโก)
ข้อเท็จจริงนี้ทำให้นักวิจัยที่สถาบันการคมนาคมขนส่งมิเนตะ (Mineta Transport Institute) หันมาสนใจทำวิจัยว่า ทำไมระบบจักรยานสาธารณะในสหรัฐฯ ถึงปลอดภัยได้มากจนน่าอัศจรรย์เช่นนั้น พวกเขาใช้สถิติข้อมูลต่างๆที่มี การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และการจัดประชุมกลุ่มย่อย (focus group) กับผู้เกี่ยวข้อง ทำมาประมวล วิเคราะห์ และได้ข้อสรุปเป็นเหตุผลของความปลอดภัยนี้หลายประการ
เหตุผลประการแรกนี่อาจจะขัดใจนักจักรยานหลายคน ความปลอดภัยของระบบจักรยานสาธารณะไม่ได้มาจากการที่ผู้ใช้ใส่หมวกนิรภัย นักวิจัยพบว่ามีผู้ใช้เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ใส่หมวกนิรภัย การใช้หมวกนิรภัยกันน้อยมากนี้ส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติของการแบ่งปันกันใช้จักรยานที่เป็นไปเอง คือผู้ใช้มักจะไม่ได้วางแผนมาก่อน เมื่อเห็นว่าสะดวกที่จะใช้ก็ไปใช้ ผู้ใช้ที่ให้ข้อมูลบอกว่าพวกเขาไม่มีหมวกนิรภัย และการเที่ยวถือหมวกนิรภัยติดตัวไปไหนมาไหนโดยไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือไม่เป็นภาระเกะกะอึดอัด
ลักษณะทั่วไปของจักรยานสาธารณะที่ให้ความปลอดภัยสูงกว่าจักรยานทั่วไป
เหตุผลประการที่สองคือลักษณะของจักรยานที่ออกแบบมาให้เป็นจักรยานสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองไหนในสหรัฐฯ หรือความจริงก็ที่เมืองไหนในโลก จักรยานสาธารณะโดยทั่วไปแล้วถูกออกแบบมาให้หนัก แข็งแกร่งทนทาน ทำความเร็วได้ไม่สูงมาก และมักจะมีไฟส่องสว่างและวัตถุสะท้อนแสงสำหรับการใช้ในเวลากลางคืนติดมาด้วยพร้อมสรรพ การออกแบบจักรยานสาธารณะให้เป็นเช่นนี้มีผลกระตุ้นให้ผู้ใช้ขี่ด้วยความเร็วน้อย และขี่ “อย่างอนุรักษ์” คือขี่ด้วยความระมัดระวังสูง กว่าผู้ใช้จักรยานที่มีจักรยานของตนเอง ซึ่งมักจะเป็นจักรยานที่มีสมรรถนะในการขี่สูงกว่า เบากว่า ทำความเร็วได้มากกว่า ทำให้มีโอกาสมากกว่าที่ผู้ใช้จะเผลอขาดความระมัดระวัง ใช้ความเร็วมากเกินไป หรือจงใจเสี่ยงเพราะคิดว่าจักรยานจะพาตัวเขาไปได้ปลอดภัย นอกจากนั้นจักรยานส่วนตัวจะไม่มีไฟติดมาด้วย ขึ้นอยู่กับผู้ใช้จะต้องติดตั้งและใช้เอง ซึ่งบางครั้งพวกเขาก็ลืมทั้งที่รู้ว่าเพิ่มความเสี่ยงอีกมากเมื่อขี่ยามค่ำคืน
เหตุผลประการที่สามคือ บริเวณที่มีการใช้จักรยานสาธารณะ โดยทั่วไปแล้ว จักรยานสาธารณะจะมีให้บริการในย่านใจกลางเมืองที่มีประชาชนหนาแน่น มีคนเดินเท้ามาก และการจราจรเคลื่อนไปด้วยความเร็วน้อยกว่า ในบริเวณนี้ของเมือง ผู้ใช้รถมักจะมีความระมัดระวังสูงกว่า พวกเขาจะใส่ใจสังเกตคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานมากกว่า และใช้ความเร็วต่ำกว่า (ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการจราจรที่ติดขัดทำให้ใช้ความเร็วสูงไม่ได้อยู่ดี)
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ คนที่ใช้จักรยานสาธารณะมักจะใช้ด้วยความระมัดระวังมากกว่าใช้จักรยานส่วนตัว ผู้เชี่ยวชาญบางคนแม้จะเชื่อว่า คนที่ใช้จักรยานเป็นครั้งเป็นคราวมีโอกาสจะทำความผิดพลาด ทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงต่ออันตรายมากกว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากการไม่คุ้นเคยกับจักรยาน ไม่คุ้นเคยกับเส้นทาง และไม่คุ้นเคยกับการขี่จักรยานร่วมไปในกระแสการจราจร แต่พวกเขาก็เชื่อว่าการขาดประสบการณ์ในสามด้านใหญ่ดังที่กล่าวข้างต้นนี้จะได้รับการชดเชยจากการใส่ใจกับตัวจักรยาน เส้นทาง และการจราจรมากขึ้นของผู้ใช้จักรยานสาธารณะ และคนขับรถเองก็จะใส่ใจ ยอม และให้อภัยกับผู้ใช้จักรยานสาธารณะมากกว่าผู้ใช้จักรยานทั่วไปด้วย
ที่น่าสนใจคือ นักวิจัยไม่พบหลักฐานที่รองรับทฤษฎี “ปลอดภัยด้วยจำนวน” (‘safety in numbers’ theory) ทฤษฎีนี้เชื่อว่า ยิ่งมีคนใช้จักรยานมากเท่าใด คนขับรถมองเห็นพวกเขามากขึ้นและบ่อยขึ้นมากเท่าใด พวกเขาก็จะประสบเหตุร้ายน้อยลงและปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น นักวิจัยสรุปว่า อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะศึกษาเรื่องนี้ เนื่องจากการใช้จักรยานสาธารณะในปัจจุบันยังอยู่ในระดับ-ปริมาณที่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดผลกระทบใดๆ ต่อความปลอดภัยในการใช้จักรยานของประชาชนโดยทั่วไป นักวิจัยเชื่อว่าจุดเปลี่ยนที่ระบบจักรยานสาธารณะทำให้เกิดผลตามทฤษฎีปลอดภัยด้วยจำนวนยังมาไม่ถึง อย่างน้อยก็ในเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา
การใช้จักรยานสาธารณะ |
การใช้จักรยานส่วนบุคคล |
ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการใช้จักรยานส่วนบุคคล |
ความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการใช้จักรยานสาธารณะ |
1.ความเร็วต่ำกว่า (จักรยานหนักกว่าและมีเกียร์น้อยกว่า) |
1. ผู้ใช้มีประสบการณ์และใช้จักรยานบ่อยครั้งกว่า |
2. หน้ายางกว้างกว่า | 2. มีสัดส่วนผู้ใช้ที่สวมหมวกนิรภัยมากกว่า |
3. จักรยานมีสีสด-สว่างกว่า | 3. ปกติแล้ว ผู้ขี่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันตามเส้นทางที่คุ้นเคย |
4. อุปกรณ์ที่ติดมามักรวมไฟที่ใช้เวลาขี่กลางคืน | |
ความเสี่ยงที่สูงกว่าการใช้จักรยานส่วนบุคคล | ความเสี่ยงที่สูงว่าการใช้จักรยานสาธารณะ |
1.ผู้ใช้มีประสบการณ์น้อยกว่า |
1. ความเร็วสูงกว่า (จักรยานเบากว่าและมีเกียร์มากกว่า) |
2.มีการใช้หมวกนิรภัยน้อยกว่า |
2. หน้ายางแคบกว่า |
3.ผู้ใช้ไม่ค่อยคุ้นเคยกับเส้นทาง โดยเฉพาะคนที่ใช้เป็นครั้งคราว |
ตารางเปรียบเทียบความเสี่ยงจากการใช้จักรยานสาธารณะกับการใช้จักรยานส่วนตัว
กล่าวโดยสรุปแล้ว ลักษณะของจักรยานที่ออกแบบมาใช้กับระบบจักรยานสาธารณะมีผลอย่างสำคัญมากกว่าที่คนคิดกัน นอกจากนั้นการศึกษายังบ่งชี้ถึงความแตกต่างในเชิงประชากรของผู้ใช้ระบบจักรยานสาธารณะด้วย
ผู้ใช้ระบบจักรยานสาธารณะจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้นทันทีเมื่อขี่จักรยานเหล่านี้เนื่องจากไม่ใช่จักรยานที่พวกเขาคุ้นเคยเหมือนกับจักรยานส่วนตัวของพวกเขาเอง กลุ่มประชากรที่ใช้ระบบจักรยานสาธารณะก็มีส่วนสำคัญ ในการสำรวจ ผู้ใช้ระบบจักรยานสาธารณะมักจะบอกเสมอว่าพวกเขาไม่ใช่ตัวแทนของผู้ใช้จักรยานทั่วไป และอย่างน้อยในสหรัฐอเมริกา การสำรวจพบว่าผู้ใช้ระบบนี้โดยเฉลี่ยแล้วเป็นคนที่มีอายุน้อยกว่าและได้รับการศึกษามากกว่า
แต่ท้ายสุด ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นเช่นใด การที่ระบบจักรยานสาธารณะเป็นระบบการเดินทางหนึ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยก็เป็นข่าวดี เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเมืองที่มีระบบนี้ และเป็นเหตุผลหนักแน่นที่ผู้บริหารเมืองจำนวนมากขึ้นๆ จะพิจารณาเอาระบบจักรยานสาธารณะไปลงทุนทำมาใช้ในเมืองของตน
ในไทยเรา ขณะนี้มีระบบจักรยานสาธารณะใช้แล้วใน 4 เมืองได้แก่ กรุงเทพมหานคร พิษณุโลก อุดรธานี และเชียงใหม่ แม้จะเชื่อได้ว่าระบบเหล่านี้มีความปลอดภัย เพราะเท่าที่ทราบ ไม่เคยมีข่าวรายงานถึงเหตุร้ายที่เกิดกับผู้ใช้ ก็น่าจะมีการสำรวจ-การศึกษาระบบเหล่านี้โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยบ้าง เพื่อนำผลมาปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น และหากผลการสำรวจ-การศึกษาออกมาในทำนองเดียวกับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะเป็นเหตุผล เป็นแรงกระตุ้น ให้มีการขยายระบบในเมืองทั้งสี่ที่มีใช้อยู่แล้วให้มีจำนวนจักรยานและสถานีมากขึ้น และจักรยานที่ใช้ในระบบมีคุณภาพดีน่าใช้มากขึ้นด้วย และการนำระบบนี้ไปใช้บ้างในเมืองที่ยังไม่มี ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้ผู้บริหารเมือง-องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณานำระบบนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตน โดยเฉพาะเมือง-เทศบาลที่ประกาศว่าจะส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน จะเป็น “เมืองจักรยาน” เพราะมีการศึกษาก่อนหน้านี้ที่บ่งชี้ว่า การมีระบบจักรยานสาธารณะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันประสบความสำเร็จ
——————————————————————————————————————————————————————————————-
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เขียนจากข้อมูลในบทความ Not a single American has died using a bike share. Why not? ใน treehugger.com