เมืองโอเด็นเซเปิดไฟจราจรให้จักรยานไปได้นานขึ้นเมื่อฝนตก
ป้ายสำหรับผู้ใช้จักรยานในเมืองโอเด็นเซ ป้ายบนเขียนว่า “เมื่อฝนตก สายฝนจะกระทบใบหน้าและคุณจะเปียก ดังนั้นไฟสัญญาณจึงเป็นสีเขียวนานขึ้นสองเท่าเมื่อฝนตก”
ส่วนกล่องสัญญาณข้างล่างจะมีไฟติดสว่างแจ้งให้ผู้ใช้จักรยานทราบเวลาที่ระบบไฟสัญญาณเวลาฝนตกกำลังทำงานอยู่
ถ้าจะให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันอย่างแพร่หลายกลายเป็นกิจวัตรของคนทั่วไปในพื้นที่หนึ่ง ก็ต้องส่งเสริมกันอย่างจริงจังทำให้การใช้จักรยานในพื้นที่นั้นทำได้สะดวก สบาย และปลอดภัย การขี่จักรยานเพื่อเดินทางไปประกอบกิจต่างๆ เป็นสิ่งที่น่าทำ และจะให้ดี ต้องน่าทำ และมีความได้เปรียบหรือได้ประโยชน์ มากกว่าการใช้ยานพาหนะประเภทอื่น โดยเฉพาะรถยนต์ ประเทศที่ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังจึงมีการนำมาตรการส่งเสริมต่างๆ ออกมาใช้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา บ้างก็เป็นของใหม่ เป็นนวัตกรรม บ้างก็เป็นสิ่งที่เคยใช้มาก่อนแล้วที่อื่น แต่นำมาประยุกต์ปรับใช้จนได้ผลดีเหมาะกับสภาพของพื้นที่นั้น
ในเดนมาร์ก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ เมืองต่างๆ แข่งขันกันนำมาตรการต่างๆ ออกมาทดลองใช้ หากว่าสำเร็จได้ผลดี เมืองนั้นก็จะครอง “ความเหนือกว่า” ในบางแง่มุม เป็นเมืองที่ได้รับการยกย่องเอ่ยนามถึง หากมีการจัดลำดับหรือประกวด เมืองนั้นก็จะติดอันดับต้นๆ หรือได้รางวัล เป็นที่ภาคภูมิใจ
โอเดนเซ(Odense) เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของเดนมาร์ก ปัจจุบันมีอายุ 1,028 ปี และเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของประเทศ เพื่อให้ก้าวขึ้นไปเทียบชั้นกับกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศ ในแง่การส่งเสริมการใช้จักรยาน เทศบาลเมืองโอเดนเซมองไปที่การรับมือกับธรรมชาติที่ทำให้การใช้จักรยานไม่น่าอภิรมย์ นั่นคือฝน พวกเขาตระหนักว่าไม่มีใครอยากจะขี่จักรยานตากฝน แต่เมื่อเราห้ามไม่ให้ฝนตกไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือลดเวลาที่จำเป็นต้องตากฝนลงให้น้อยที่สุด เมื่อใช้จักรยานตามถนนในเมือง ผู้ใช้จักรยานก็ต้องเคารพสัญญาณไฟจราจร พวกเขาต้องหยุดเมื่อมีสัญญาณไฟแดงในทางของพวกเขาแม้ฝนจะตกอยู่ก็ตาม สิ่งที่เทศบาลเมืองโอเดนเซทำให้ผู้ใช้จักรยานคือเปิดไฟเขียวให้จักรยานผ่านไปได้มากขึ้น โอกาสที่ผู้ใช้จักรยานจะต้องมาหยุดติดไฟแดงก็จะน้อยลงไปด้วย
พวกเขาติดตั้งอุปกรณ์ตรวจฝนและเครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวเชื่อมโยงเข้ากับระบบไฟสัญญาณจราจร เมื่ออุปกรณ์ตรวจฝนพบว่ามีฝนตกลงมา เครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวจะตรวจว่ามีจักรยานขี่เข้ามาหาสี่แยกในระยะ 70 เมตรหรือไม่ ถ้าไม่มี ระยะเวลาการเปิดไฟสัญญาณจะเป็นไปตามปกติแม้ฝนจะตกก็ตาม แต่ถ้าทั้งฝนตกและมีจักรยานขี่เข้ามาในระยะนี้ ระบบไฟสัญญาณจราจรจะถูกปรับให้เปิดสัญญาณไฟเขียวให้ผู้ใช้จักรยานนานขึ้น 20 วินาที ให้พวกเขาขี่ผ่านไปได้ ไม่ต้องหยุด และเมื่อระบบยืดเวลาไฟเขียวสำหรับจักรยานทำงาน กล่องสัญญาณที่ติดไว้ที่เสาไฟสัญญาณจราจรก็จะมีไฟสว่างขึ้นบอกผู้ใช้จักรยานว่าระบบทำงานให้ความสะดวกกับคุณแล้ว
แน่นอนว่า เมื่อสัญญาณไฟเป็นเช่นนี้ รถยนต์ที่ใช้ถนนที่มาตัดกับทางหลวงจักรยานพิเศษนี้ก็จะต้องติดไฟแดงนานขึ้นเมื่อฝนตก เทศบาลเมืองโอเดนเซลดความไม่ชอบใจในเรื่องนี้ของผู้ใช้รถลงด้วยการอธิบายพวกเขาว่า ถึงแม้ว่าคนขับรถจะติดไฟแดงนานขึ้นจริง แต่พวกเขาก็ไม่น่าจะบ่นอะไรเพราะพวกเขานั่งสบายๆ ตัวแห้งอยู่ในรถ ในขณะที่ผู้ใช้จักรยานต้องเปียกปอนฝนอยู่ข้างนอก พวกเขาจึงควรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้ใช้ถนนร่วมกันที่ลำบากกว่า นอกจากนั้นเทศบาลประเมินว่า เอาเข้าจริงๆ เงื่อนไขจะพร้อมครบถ้วนจนมีการเปิดไฟเขียวให้จักรยานนานขึ้นเพียงเดือนละ 1-3 ครั้งเท่านั้น
เครื่องตรวจฝนติดตั้งใกล้ยอดเสาตรงสี่แยก
ระบบนี้จะช่วยให้คนตัดสินใจใช้จักรยานเป็นวิธีเดินทางในชีวิตประจำวันง่ายขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก ขณะนี้การใช้ระบบอยู่ในช่วงการทดลองที่สี่แยกแห่งหนึ่ง หากได้ผลสำเร็จด้วยดี ก็จะมีการนำไปติดตั้งตามสี่แยกต่างๆ ทั่วเมืองต่อไป
นายโทรเอลส์ แอนเดอร์สัน หัวหน้าโครงการเมืองจักรยานของโอเดนเซ เปิดเผยว่า ความตั้งใจของพวกเขาคือทำให้โอเดนเซเป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับการใช้จักรยานในเดนมาร์ก ซึ่งทำให้พวกเขาจึงต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย การเปิดไฟเขียวให้ผู้ใช้จักรยานนานขึ้นเมื่อฝนตกเป็นคำตอบที่ดีเยี่ยม เพราะถ้าจะให้เป็นธรรมหากว่ามีใครสักคนต้องหยุดคอยนานขึ้นเมื่อฝนตก คนๆนั้นก็ควรจะเป็นผู้ใช้รถยนต์ที่ได้นั่งอุ่นสบายตัวแห้งอยู่ข้างในรถ ในขณะที่ให้โอกาสผู้ใช้จักรยานไปได้เร็วขึ้น
เทศบาลเมืองโอเดนเซเป็นสมาชิกของ Danish Cycling Embassy
——————————————————————————————————————————————————————————————-
ที่มา: Rain makes the light go green for cyclists in the Danish city of Odense ในเว็บไซต์ของ Cycling Embassy of Denmark
กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย