ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
นั่นสิ มันเกี่ยวอะไรด้วย เรามาลองทำความรู้จัก SDGs ซึ่งเป็นเรื่องที่โลกสนใจ แต่กลับใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวันกันดีกว่าไหม
วันที่ 25 กันยายนปีนี้ (ปี 2559) เป็นวันครบปีพอดีของการที่องค์การสหประชาชาติได้ร่วมกันกำหนดให้มีเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก เป้าหมายที่ว่านี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Sustainable Development Goals และเรียกย่อๆ ว่า SDGs เป้าหมายนี้เมื่อถูกกำหนดโดย 193 ประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมจากทั่วโลก ซึ่งรวมประเทศไทยของเราด้วย ไทยเราจึงมีหน้าที่และพันธกิจที่ต้องทำให้เป้าหมายนั้นไปสู่ความสำเร็จให้ได้ แล้ว SDGs ที่ว่านี้มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องเดินและจักรยาน มันเกี่ยวตรงที่ SDGs นี้มีหลักคิดหลักๆมาจากเรื่องการขจัดความยากจนและความหิวโหย การมีสุขภาพดีการลดปัญหาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (เช่น พายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคใหม่ๆที่ไม่เคยมี) และอีกหลายอย่างแน่นอนว่าเห็นได้ง่ายๆ ว่าเกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะคนกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป้าหมาย SDGs นี้สหประชาชาติต้องการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2030 หรือพ.ศ. 2573 หรืออีก 14 ปีจากนี้
และการเดินและการจักรยานของพวกเรานี่แหละที่สามารถตอบโจทย์พวกนี้ได้อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงทีเดียว
องค์ประกอบ 17 ข้อของ SDGs
ภาพประกอบจาก : http://www.se4all.org/sdg7_history
SDGs มีเป้าหมายหลักอยู่ 17 ข้อ แล้วมีข้อใดบ้างที่เรื่องเดินและจักรยานของเรานี้ไปเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาระดับโลกและระดับท้องถิ่นด้วยพร้อมกัน เรามาลองดูกัน
ข้อ 1. ความยากจนหมดไป ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานของกลุ่มคนยากจนบางกลุ่ม อาจสูงถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ของคนใช้แรงงานรายวันหากทำงานในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งการเดินและจักรยานนี้ถ้ารัฐทำให้สะดวกและปลอดภัยคนก็จะมาเดินและใช้จักรยานและจะสามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้มาก คนแรงงานคงชอบใจ
ข้อ 2. ความหิวโหยหมดไป ข้อนี้เกี่ยวกับข้อแรก คือ ถ้ากลุ่มคนรายได้น้อยสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยการเดินและการใช้จักรยานได้ ก็จะมีเงินเหลือไปซื้ออาหารให้กับตัวเองและครอบครัว รวมถึงลูกหลาน ความหิวโหยและภาวะขาดอาหารโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก หญิงท้อง และคนชราก็จะลดลงหรือหมดไป
ข้อ 3. สุขภาพและสุขภาวะดี ข้อนี้ไม่ต้องพูดอะไรมาก ในขณะที่พวกเราบางคนไม่ว่ามีหรือจน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย หากสามารถมีทางเท้า-ทางจักรยานที่ดีพอ เราก็สามารถเดินหรือใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ทุกวัน ซึ่งแค่นี้ก็ทำให้สุขภาพดี สุขภาวะแจ๋วแล้ว นี่องค์การอนามัยโลกบอกไว้
ข้อ 4. คุณภาพการศึกษา ถ้าโรงเรียนดี ครูดี แต่อยู่ไกล ไปไม่ได้หรือต้องเสียค่ารถสองแถวแพง ระบบจักรยานช่วยได้มาก
ข้อ 5. ความเสมอภาคของเพศ ข้อนี้ในประเด็นเดินจักรยาน ประเทศไทยคงไม่มีปัญหานัก แต่ในทวีปอาฟริกายังมีอีกมากเพราะในบางประเทศไม่ให้ผู้หญิงขี่จักรยานหรือไม่ก็ไม่ส่งเสริมเลย
ข้อ 6. น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล ข้อนี้ก็เช่นกัน ในประเทศเราไม่เป็นประเด็นนัก แต่ในประเทศที่จนมากๆ การเดินทางไปเอาน้ำสะอาดหรือไปส้วมสาธารณะรวมยังเป็นปัญหาอยู่มาก การใช้จักรยานจะช่วยให้การเดินทางสะดวกและเร็วขึ้นได้มาก
ข้อ 7. พลังงานสะอาดและสู้ราคาไหว พลังงานที่ใช้ไปในการเดินและจักรยาน เพื่อการเดินทางและขนส่ง นี่ถือว่าสะอาดสุดๆ และชาวบ้านก็จ่ายได้ สู้ราคาไหว เพราะทางเท้าทางจักรยานถูกกว่าถนน และจักรยานก็ราคาถูกกว่ารถยนต์หลายสิบเท่า แถมไม่มีค่าใช้จ่ายเติมน้ำมันอีกด้วย
ข้อ 8. งานเหมาะและการเติมโตทางเศรษฐกิจ ถ้าคนจนมีขีดจำกัดในเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่มีเงินค่าเดินทางไปที่ทำงาน ความอิสระในการเลือกงานและอำนาจต่อรองจะน้อยลง หากสามารถใช้จักรยานไป ซึ่งไปได้ไกลกว่าการเดิน และไม่มีค่าใช้จ่าย คนๆ นั้นก็จะสามารถเลือกงานที่ดีกว่าเดิมและมีรายได้มากกว่าเดิม ปัญหาใหญ่ของโลกก็แก้ได้ง่ายๆ อย่างนี้แหละ
ข้อ 9. อุตสาหกรรม, นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ข้อนี้ชัดเจนเลยในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ที่SDGs ข้อนี้บอกว่าต้องทำ(เช่น ถนนหนทาง)ให้เข้าถึงได้และในราคาที่ชาวบ้านจ่ายไหว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น รายจ่ายน้อยลง และลืมตาอ้าปากได้
ข้อ 10. ลดความไม่เสมอภาค มีรายงานของนักวิจัยออกมาว่าในประเทศที่มีระบบเดินและจักรยานดี ประเทศนั้นจะมีความเสมอภาคและประชาธิปไตยดีกว่าประเทศที่ไม่มีระบบฯ ข้อนี้เห็นได้ง่ายๆว่ากรุงเทพฯและเมืองต่างๆในเมืองไทยสร้างไว้ให้รถยนต์ แต่ไม่มีความสะดวกต่อคนเดินเท้าและใช้จักรยาน ดังนั้นหากจะลดความไม่เสมอภาค ก็ต้องทำทางเท้าทางจักรยานให้ดี ให้ใช้ได้และปลอดภัย
ข้อ 11. ชุมชนและเมืองยั่งยืน ในข้อนี้ ข้อดีของการเดินและการใช้จักรยานจะเห็นได้ง่ายๆและชัดเจน เพราะเมืองจะมีมลพิษน้อย สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สุขภาพคนและสุภาพเมืองดีขึ้น และในข้อนี้ SDGs กำหนดให้ต้องจัดเตรียมระบบขนส่ง(คนและสินค้า)ให้ปลอดภัย เข้าถึงได้ และในราคาที่จ่ายไหวด้วย ซึ่งการเดินและการจักรยานก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้อย่างชัดเจน
ข้อ 12. การบริโภคและการผลิตที่รับผิดชอบ การบริโภคหรือใช้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน พวกนี้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน การเดินและการใช้จักรยานซึ่งไม่ใช้เชื้อเพลิงพวกนี้เลย จึงถือเป็นการบริโภคที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก งั้นเรามาเดินกับใช้จักรยานกันดีกว่า
ข้อ 13. ปฏิบัติการด้านภูมิอากาศ ข้อนี้ก็ชัดเจนอีกหนึ่งข้อ ที่การเดินและการใช้จักรยานมิได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเดินและขี่จักรยานจึงเป็นมาตรการแก้ไขปัญหานี้ในราคาที่ถูกที่สุด
ข้อ 14. ชีวิตใต้น้ำ ข้อนี้หมายถึงสิ่งมีชีวิตในทะเล ในมหาสมุทร จึงไม่เกี่ยวกับการเดินและจักรยาน
ข้อ 15. ชีวิตบนดิน ข้อนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบนิเวศบนบก เช่น ป่าไม้ การลดปัญหาเขาหัวโล้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเดิน-จักรยานนัก
ข้อ 16. สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ข้อนี้เกี่ยวกับทุกข้อที่อยู่ข้างบน เรื่องเดินกับจักรยานจึงแฝงอยู่ในนั้นด้วย
ข้อ17. ภาคีสภาพของเป้าหมาย ข้อนี้เป็นเรื่องของการทำให้ 16 ข้อข้างบนบรรลุสู่เป้าหมาย โดยให้ประเทศที่รวยๆเอางบประมาณและเทคโนโลยี มาช่วยประเทศที่ไม่รวยในการปฏิบัติการ จึงเป็นการขมวดปมให้เป้าหมายทั้งหมดนี้สามารถดำเนินไปสู่ความสำเร็จได้
คำถามที่น่าจะถามต่อคือ แล้วเราจำเป็นต้องสนใจไปแก้ปัญหาระดับโลก(เพราะกำหนดโดยองค์กรระดับโลก คือ สหประชาชาติ)นี้ไหม ในเมื่อปัญหาพื้นๆ อีกหลายอย่างบ้านเรายังแก้ไม่ได้หมดเลย คำตอบคือ ประเทศไทยก็มีปัญหาแบบเดียวกับโลกนี่แหละ ฉะนั้นจะโลกไม่โลกเราก็ต้องแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ไทยเรายังไปสัญญากับเขาแล้วว่าจะร่วมหัว จมท้ายกับอีกร้อยกว่าประเทศที่จะช่วยกันนำพาโลกไปสู่การลดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นนโยบายรัฐและงบประมาณของประเทศจึงต้องถูกจัดสรรมาที่นี้ และกรม กอง กระทรวงต่างๆ ต่างก็ต้องทำโครงการในความรับผิดชอบของตัวเองเพื่อตอบโจทย์ SDGs นี้ให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราจะไม่สนใจได้อย่างไร จริงไหมครับ
2 comments
Pingback: ขอบคุณ กทม. ที่ช่วยให้เราได้ลดโลกร้อน และตอบโจทย์ SDGs – สถาบันการเดินและการจักรยานไทย
Pingback: ขอบคุณ กทม. ที่ช่วยให้เราได้ลดโลกร้อน และตอบโจทย์ SDGs - มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย