Home / บทความ / คาร์ฟรีเดย์กับทางเท้า

คาร์ฟรีเดย์กับทางเท้า

คาร์ฟรีเดย์ซึ่งต่างประเทศกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 22 กันยายนของทุกปี ได้เวียนมาบรรจบแล้วอีกครั้งหนึ่ง คาร์ฟรีเดย์หรือวันปลอดรถยนต์ส่วนตัวนี้ก็คล้ายๆกับวันโอโซนหรือ Ozone Day ที่ในต่างประเทศเริ่มซาความนิยมลงไป  สาเหตุอาจจะเป็นเพราะทั้งสองงานนี้เป็นเพียงงานรณรงค์เชิงสัญลักษณ์เพราะมันแก้ปัญหาไม่ได้จริง  คือคนใช้รถยนต์ส่วนตัวยังไม่ได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้นจริง  และเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้จริง แถมกิจกรรมยังมักซ้ำอยู่กับที่อยู่หลายปีแล้ว  แรงกระแทกทางสังคมจึงลดน้ำหนักลงไปตามกาลเวลา  

อาจจะเป็นเพราะเราใช้จักรยานเป็นสื่อเพียงสื่อเดียวของการรณรงค์ในการเดินทางทางเลือก(alternative travel) เพื่อให้ปลอดรถยนต์ส่วนตัวในวันคาร์ฟรีเดย์ ซึ่งจริงๆแล้วมิได้หมายถึงให้ปลอดรถประจำทาง  รถไฟ รถขนส่งสาธารณะ  รถแท็กซี่  ฯลฯ ผู้คนในสังคมไทยจึงถูกจูงให้นึกวาดภาพไปว่าคาร์ฟรีเดย์คือไบซิเคิลเดย์หรือวันจักรยาน  ซึ่งในอันที่จริงกิจกรรมง่ายๆแม้กระทั่งอย่างการเดิน  เช่น เดินไปต่อรถสาธารณะ เดินไปตลาด เดินไปโรงเรียน ก็เป็นโสตหนึ่งของการเดินทางที่สามารถลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้

แต่ปัญหาที่พบและทำให้คนไทยไม่นิยมการเดินทางด้วยการเดินเท้าคือ ทางเท้าของไทย  ไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด  มักไม่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี   การก่อสร้างและการควบคุมงานก็ไม่ได้เรื่องอาจจะเพราะสถาปนิกและวิศวกรเห็นเป็นเรื่องง่ายที่ใครก็น่าจะทำได้  จึงไม่ได้ใส่ความสนใจและรายละเอียดมากพอ   และเมื่อก่อสร้างเสร็จและมาถึงการดูแลบำรุงรักษาก็มักทำได้ไม่ดีอีก   ทางเท้าในไทยจึงอยู่ในสภาพที่ทุกคนที่เดินบนทางเท้านี้ รู้ดีว่าไม่สะดวก ไม่สบาย ไม่ราบรื่น และไม่ปลอดภัยจากการสะดุดหกล้ม  จนบางคนเอาไปเรียกขานเชิงล้อเลียนว่าเป็นทางเดินที่เดินไม่ได้

การสร้างความเข้าใจและความสนใจของประชาชนรวมทั้งผู้บริหารเมืองในเรื่องเดินในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ   พวกเราชาวเมืองไม่ว่าจะเมืองกทม.หรือเมืองเชียงใหม่ เมืองชลบุรี เมืองพัทยา เมืองสุพรรณบุรี  ก็ไม่ควรยอมทนเดินบนทางเท้าที่อยู่ในสภาพไม่น่าเดินหรือเดินไม่ได้ อีกต่อไป    เมื่อเร็วๆนี้จึงได้มีคนกลุ่มหนึ่งทั้งในแวดวงเอ็นจีโอและนักธุรกิจรวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย มาร่วมกันจัดโครงการการประกวดภาพถ่ายทางเท้าที่น่าประทับใจ(ชอบที่จะไปเดิน) และสะเทือนใจ(ไม่ชอบที่จะไปเดิน)ในเขตเมือง   จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นจุดเร้าหรือกระตุ้นสังคมไทยให้เกิดความสนใจต่อการเดินและตระหนักว่าวิธีการง่ายๆอย่างการเดินนี้สามารถลดปัญหาของเมืองได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมลพิษอากาศ การสิ้นเปลืองพลังงาน การบรรเทาปัญหาจราจร การลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการเดินทาง รวมทั้งสามารถช่วยปัญหาลดโลกร้อนได้ด้วย   และที่น่าจะเป็นจุดน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการทำให้สังคมรู้ว่าการเดินซึ่งเป็นกิจกรรมง่ายๆนี้สามารถนำมาเป็นมาตรการหนึ่งของคาร์ฟรีเดย์ได้ในลักษณะที่ทุกคนสามารถลุกขึ้นมามีส่วนร่วมได้ทันที โดยไม่ต้องรอใคร  หรือสิ่งใด  หรืองบประมาณจากที่ใดเลย

ไม่ต้องรอความพร้อม ไม่ต้องรอเวลา  เราเพียงแต่เปลี่ยนวิธีคิดและออกเริ่มเดินในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง  และไม่ต้องรอจนถึงคาร์ฟรีเดย์ซึ่งปีหนึ่งมีเพียงวันเดียว แต่เราควรเดินกันทุกวัน  ให้ทุกวันเป็นคาร์ฟรีเดย์ไปตลอดปีเลย

ภาพประกอบของ                                                                         ภาพประกอบของ

คุณสุนทร ตาลยงค์ ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดภาพถ่ายทางเท้า…เล่าเรื่อง                     คุณกัสลีดา อูเซ็ง  ผู้ส่งผลงานเข้าประกดวภาพถ่ายทางเท้า…เล่าเรื่อง

         ธงชัย พรรณสวัสดิ์
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน 2555)

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น