Home / Highlight / ระดมผู้เชี่ยวชาญช่วยเสริมพลังเมืองที่อยากเป็นมิตรกับการเดินและจักรยาน

ระดมผู้เชี่ยวชาญช่วยเสริมพลังเมืองที่อยากเป็นมิตรกับการเดินและจักรยาน

ผู้เชี่ยวชาญ ทีมงานติดตาม และกรรมการ-เจ้าหน้าที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมประชุม

หลังจากดำเนินงานมาได้ครึ่งทาง โครงการเสริมพลัง 15 เมืองที่เป็นมิตรกับการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ก็ได้จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและทีมงานที่ลงติดตามการดำเนินงานส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานของเทศบาลนำร่อง 15 เมืองในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2559   การดำเนินงานส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานนี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ สู่ท้องถิ่นสุขภาวะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ที่ชมรมฯ ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ   โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มนตรีรีสอร์ทแอนด์สปา เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

เทศบาลนำร่อง 15 เมืองดังกล่าวได้แก่ เทศบาลตำบลหาดเสี้ยว (สุโขทัย), เทศบาลเมืองพิจิตร, เทศบาลนครเชียงราย, เทศบาลนครลำปาง, เทศบาลเมืองสิงห์บุรี, เทศบาลตำบลพนมสารคาม (        ฉะเชิงเทรา), เทศบาลเมืองพนัสนิคม (ชลบุรี), เทศบาลตำบลโคกกรวด (นครราชสีมา), เทศบาลเมืองยโสธร, เทศบาลเมืองศรีสะเกษ, เทศบาลเมืองหนองสำโรง (อุดรธานี), เทศบาลนครขอนแก่น, เทศบาลตำบลมาบอำมฤต (ชุมพร), เทศบาลเมืองทุ่งสง (นครศรีธรรมราช), เทศบาลนครหาดใหญ่ (สงขลา) และเทศบาลนครภูเก็ต

ส่วน “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ลงติดตามครั้งนี้เป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาคที่เคยทำงานวิจัยหรืองานส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันร่วมกับชมรมฯ มาก่อน (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) รวมทั้งนายพรเทพ ดิษยบุตร เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและการเดิน (ภาคใต้ตอนบน) และนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองประธานชมรมฯ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย โดยได้ไปเยือนติดตามงานของเทศบาลในภาคเดียวกับมหาวิทยาลัยของตน  ในการประชุมครั้งนี้ยังได้มีผู้บริหารเทศบาลในปัจจุบันและในอดีตมาร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ยิ่งอีกด้วย

นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ   รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

ที่ประชุมได้หารือถึงสิ่งที่พบเห็นจากการไปติดตามงานของเทศบาลเหล่านั้นไล่เรียงเป็นแห่งๆไป โดยเน้นว่าเทศบาลเหล่านั้นมีจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส(ปัจจัยภายนอกที่เป็นบวก) และอุปสรรค-ข้อจำกัด(ปัจจัยภายนอกที่เป็นลบ) อย่างไร  จากนั้นผู้เชี่ยวชาญและกรรมการก็ได้ช่วยกันสรุปและเสนอแนะสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อปรับปรุงให้เทศบาลแต่ละแห่งดำเนินงานให้มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าเทศบาลแต่ละแห่งจะมีบริบท จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค-ข้อจำกัด แตกต่างกันไป  ที่ประชุมพบว่า หลักๆ นั้น เทศบาลทุกแห่งยังมีข้ออ่อนในการทำงานข้อมูล หลายแห่งยังเก็บข้อมูลไม่เสร็จหรือไม่ได้เอามาประมวล ไม่ได้เอาข้อมูลมาใช้ ทำให้ไม่สามารถวางแผนและกำหนดเป้าหมายกิจกรรมให้สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการ และบริบทที่เป็นจริงของพื้นที่ได้  จำเป็นจะต้องทำงานข้อมูลให้เสร็จเป็นเบื้องต้น  อีกประการหนึ่ง เทศบาลแทบทุกแห่งมีปัญหาบุคลากร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มักจะเป็นการทำงานคนเดียว-ส่วนงานเดียว ไม่ได้ทำงานเป็นทีมเป็นการร่วมงานของส่วนงานต่างๆ ของเทศบาลซึ่งเป็นวัตถุประสงค์มาแต่ต้น  ชมรมจักรยานในท้องถิ่นที่มีอยู่ในหลายพื้นที่เทศบาลและถูกมองในเบื้องต้นว่าเป็น “จุดแข็ง” เมื่อได้วิเคราะห์ลงไปลึก กลับปรากฏว่า ความจริงเป็นอุปสรรค-ข้อจำกัดเสียมากกว่า

ท้ายที่สุด นอกจากข้อเสนอแนะเฉพาะต่อแต่ละเทศบาลแล้ว ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะต่อทุกเทศบาลโดยรวมว่า ให้เทศบาลทุกแห่งเก็บและประมวลข้อมูลการเดินการใช้จักรยานของคนในพื้นที่ให้เสร็จ และนำมาใช้ในการวางแผนอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจจะให้นักวิชาการเข้ามาช่วย, เทศบาลทุกแห่งควรมุ่งทำงานในพื้นที่เฉพาะเล็กๆ ที่ประชากรสนใจที่จะร่วมโครงการ จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า, ควรให้โครงการ-กิจกรรมออกมาจากการเสนอของกลุ่มเป้าหมายหรือคนในพื้นที่นั้นด้วยตนเอง, ควรทำให้โครงการออกมาในลักษณะที่คนทุกกลุ่มในพื้นที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่ทำให้รู้สึกว่าเท่าแต่คนที่ใช้จักรยานหรือคนเดินเท้ากลุ่มเฉพาะเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ฯลฯ  ที่ประชุมยังเห็นพ้องไปในทำนองเดียวกันว่า เทศบาลน่าจะเริ่มต้นด้วยโครงการ-กิจกรรมส่งเสริมให้เด็ก ครู และบุคลากร เดินไปโรงเรียน เทศบาลเองก็ล้วนมีโรงเรียนในสังกัดอยู่แล้ว จะง่ายกว่า ดึงดูดการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนได้มากกว่า

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และกรรมการ-เหรัญญิกมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Comments

comments

Check Also

The 5th Thailand Bike and Walk Forum