หัวข้อที่ ๕ การขนส่งจักรยาน
ได้ข้อสรุปว่า :
แร็คหลังคารถยนตร์ ติดตั้งอย่างถูกกฎหมาย ได้หรือไม่ ? :
เรา สามารถติดตั้งแร็คแบบถาวร บนหลังคารถยนตร์ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๒, ๑๔ แห่ง พรบ.รถยนตร์ พ.ศ. ๒๕๒๒
แร็คท้ายรถยนตร์ ใช้กับ รถยนตร์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน เจ็ดคน ได้หรือไม่ ? :
กฎ กระทรวง ฉบับที่ ๔ (ออกตามความใน พรบ.จราจรทางบกฯ) ข้อ ๑ (๒) (ก) ประกอบ พรบ.รถยนตร์ฯ มาตรา ๒๑ อนุญาตให้รถยนตร์ทั้ง ๓ ชนิด คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน(รถเก๋ง รถกระบะสองตอน) รถยนตร์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน(รถกระบะแวน รถตู้) และรถยนตร์บรรทุกส่วนบุคคล(รถกระบะ รถสเปซแคป) สามารถบรรทุกจักรยานยื่นพ้นตัวรถด้านหลังได้ ๒.๕๐ เมตร
ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอีก ๒ ประการ คือ
ประการ ที่ ๑ ปฏิบัติตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๕ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (ออกตามความใน พรบ.จราจรทางบกฯ) ข้อ ๑๓ คือ ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน สัตว์ รถ หรือสิ่งกีดขวางในทาง ได้โดยชัดแจ้งภายในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ต้องใช้โคมไฟแสงแดงติดไว้ที่ปลายสุดของส่วนที่ยื่นออกไปด้วย หรือในเวลากลางวัน ต้องติดธงสีแดงไว้ที่ตอนปลายสุดของสิ่งที่บรรทุกนั้น
ประการที่ ๒ ปฏิบัติตามพรบ.รถยนตร์ฯ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ คือ ทำให้เห็นว่า
(ก) รถที่เพิ่มแร็คเข้าไปนั้น ไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น
(ข) รถที่เปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของรถโดยการติดแร็ค ซึ่งผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ เมื่อใช้รถนั้นแล้วไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายในเวลาใช้
(ค) รถที่เพิ่มแร็คเข้าไปนั้น ในขณะที่ใช้มีลักษณะที่เห็นได้ว่าน่าจะปลอดภัยในการใช้
รถนั่ง บรรทุกได้สูง เมตรครึ่ง จาก หลังคา หรือว่า พื้นทาง ? :
กฎหมาย อนุญาตให้ รถยนตร์บรรทุกส่วนบุคคล(รถกระบะ รถสเปซแคป) บรรทุกจักรยานได้สูงไม่เกิน ๓.๐๐ เมตร จากพื้นทาง ส่วน รถยนตร์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน(รถกระบะแวน รถตู้) กับ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน(รถเก๋ง รถกระบะสองตอน) นั้น บรรทุกจักรยานได้สูงจากพื้นทางเพียง ๑.๕๐ เมตร เท่านั้น
แม้ทางทฤษฎีอาจ จะมีข้อไม่ชัดเจนอยู่บ้าง แต่ไม่น่าวิตกเกินไปนัก เพราะจากการสอบถามไปยังผู้ปฏิบัติในหลายหน่วยงาน เช่น กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจทางหลวง กองบังคับการตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี ด่านเก็บเงินทางด่วนบางนา ต่างก็ให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า ถ้าบรรทุกจักรยาน(ซึ่งเป็นสัมภาระของผู้เดินทาง) ไว้บนแร็คหลังคา แล้วแลดูว่า มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย ในเวลาใช้ ก็จะไม่เรียกตรวจ แต่หากเป็นกรณีใช้ “รถยนตร์นั่งส่วนบุคคล” บรรทุกจักรยานในลักษณะทางธุรกิจรับจ้างขนส่งหรือนำไปเพื่อการค้าขาย ก็ถือเป็นการบรรทุก “สิ่งของ” อันเป็นความผิดตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
สภาพบังคับของกฎหมาย :
ข้อหากระทำผิดเกี่ยวกับการบรรทุกสูงเกินกำหนด มีเฉพาะโทษปรับ ๕๐๐ บาท ทั้ง ๒ กรณี คือ
(๑) รถยนตร์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน(รถเก๋ง รถกระบะสองตอน) บรรทุกจักรยานสูงเกิน ๑.๕๐ เมตร จากพื้นทาง
(๒) รถยนตร์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน(รถกระบะแวน รถตู้) บรรทุกจักรยานสูงเกิน ๑.๕๐ เมตร จากพื้นทาง
ทั้ง ๒ กรณีนี้เป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๑๘ ประกอบมาตรา ๑๕๐ (๓) มีโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท (ห้าร้อยบาท)
ส่วน ข้อหากระทำผิดเกี่ยวกับการใช้แร็คขนจักรยานยื่นล้ำออกนอกตัวรถ(ด้านท้าย รถ)แล้ว ที่ปลายสุดของส่วนที่ยื่นออกไป ไม่ติดธงสีแดงในเวลากลางวัน หรือไม่ใช้โคมไฟแสงแดงในเวลากลางคืน ก็เป็นความผิดตามพรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๕๒ มีโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท)
ไชยยศ รัตนพงษ์ และณัฏฐ์ นีลวัชระ