Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / หนุน “เดิน-ขี่จักรยาน”ชูเป็นวาระแห่งชาติ

หนุน “เดิน-ขี่จักรยาน”ชูเป็นวาระแห่งชาติ

ในขณะที่หลายคนต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์สัก คันเพื่อการเดินทางสะดวกสบาย ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในงาน Motor Expo 2012 ที่ผ่านมา มียอดการจองทะลุถึง 80,000 คัน นับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 29 ปี ด้วยแรงผลักดันจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มคนเล็กๆ หันมาเลือกเดินทางด้วยวิธี “การเดินและขี่จักรยาน” แทน เนื่องจากมองว่านอกจากเป็นวิธีที่สะดวก ง่าย ประหยัด และช่วยลดมลภาวะแล้ว ยังเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่ช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย

     แต่ที่ผ่านมาพบว่าทั้งการเดินและขี่จักรยาน ไปยังสถานที่ต่างๆ กลับไม่ค่อยสะดวกนัก และมีอุปสรรคในเรื่องเส้นทาง โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครที่การจราจรคับคั่ง ที่อาจทำให้เกิดอันตราย ทั้งขาดการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ที่เลือกเดิน ทางด้วยสองวิธีนี้ ด้วยเหตุนี้ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงมีการบรรจุวาระการผลักดัน “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำ วัน” ให้เป็นนโยบายสาธารณะและวาระแห่งชาติ ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ นำไปกำหนดเป็นนโยบายหลัก

     ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ บอกว่าการเดินและใช้จักรยานเป็นวิถีการเดินทางหลักของคนไทย นับแต่มีการนำจักรยานเข้ามาในประเทศเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว แต่เมื่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณการใช้รถยนต์สูงขึ้นอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งรัฐบาลส่วนใหญ่ยังมุ่งแนวคิดพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับรถยนต์ ส่วนบุคคลเป็นหลัก ในการออกแบบเมืองและพัฒนาโครงสร้างขนส่ง ทำให้ผู้คนส่วนมากเลือกใช้รถยนต์แม้เพียงระยะทางสั้นๆ เพราะสะดวกสบาย แต่กลับทำให้กิจกรรมทางกายลดลงจนส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

     โดยพบว่าจำนวนผู้มีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มมากขึ้น มีการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อไม่เรื้อรังมากขึ้น ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคข้อกระดูกเสื่อม เป็นต้น ขณะนี้คนไทยเป็นโรคอ้วนติดอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว

     เมื่อมองในมุมเศรษฐกิจ ศ.ดร.ธงชัย บอกว่า หากเดินหรือใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์สัปดาห์ละ 1 วัน จะประหยัดค่าน้ำมันได้ 5,200 บาทต่อคันต่อปี ซ้ำการเดินทางด้วยวิธีนี้ยังลดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้ ซึ่งเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่วันละ 20-25 ราย หากส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานสำเร็จจะช่วยลดมูลค่าความเสียหายที่เกิด ขึ้นจากอุบัติเหตุลงได้ถึง 62,000 ล้านบาท ขณะที่ มุมมองด้านมลภาวะยังช่วยลดการเกิดมลพิษจากท่อไอเสีย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

     ซึ่งเมื่อปี 2554 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 21 ของประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก จากข้อมูลรถยนต์ 1 ล้านคัน หากวิ่งน้อยละวันละ 1.3 กิโลเมตร จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 100,000 ตัน นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการช่วยแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัดลงได้ ช่วยทำให้สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

    ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนการเดินและการขี่จักรยานของประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายและแผนพัฒนาหลายฉบับ แต่กลับขาดความต่อเนื่อง ไม่มีการศึกษาว่าทางจักรยานที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ควรเป็นอย่างไร ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ การจัดเส้นทางที่เหมาะสม รวมถึงกฎหมายที่เอื้ออำนวยเพื่อส่งเสริม และการณรงค์ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีบางพื้นที่มีความก้าวหน้าที่เห็นได้ชัดในการให้ความ สำคัญต่อการเดินและใช้จักรยาน อย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ตาก เพชรบุรี ยะลา สงขลา และระยอง เป็นต้น

      อย่างไรก็ตามในการผลักดันนโยบายนี้อยากให้มองภาพรวมทั้งประเทศ อย่ามองแต่แค่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในต่างจังหวัดมีการใช้จักรยานกันมาก

    ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าหากการผลักดันการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานสำเร็จเชื่อว่าจะลด การเกิดภาวะโรคอ้วนและโรคเรื้อรังของคนในประเทศลงได้ เพราะตามหลักการการเดินหรือปั่นจักรยาน 30 นาทีก็ถือเป็นการออกกำลังกายแล้ว ถ้าเดิน 45-60 นาทีก็ช่วยลดน้ำหนักได้ แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมอาหารด้วย

      นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดทำตัวชี้ วัดใหม่ในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยตั้งเป้าขยับให้คนไทยมีอายุไขเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 80 ปี จากเดิมที่ผู้ชายอยู่ที่ 68 ปี ผู้หญิงอยู่ที่ 72 ปี พร้อมกันนี้จะต้องให้คนไทยมีอายุสุขภาพที่ดีถึง 72 ปี โดยยึดหลัก 3 อ. คือ การดูแลในเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ และ 2 ส.คือการงดสูบบุหรี่และสุรา

     ทั้งนี้ เมื่อดูในส่วนของกรุงเทพมหานครพบว่า ปัจจุบันมีการจัดเส้นทางจักรยานไว้ถึง 31 เส้นทาง เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขี่ นายอรวิทย์ เหมะจุฑา รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร บอกว่าในจำนวนนี้มีบางเส้นทางที่ยังใช้ได้อยู่ โดยมีประชาชนยังใช้จักรยานสัญจรกันมาก อย่างเช่น ถนนพุทธมลฑลสาย 4 ตรงหน้าอุทยานองค์พระ ถนนหลวงประดิษฐ์มนูญธรรม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล และถนนรามคำแหง เป็นต้น แต่บางเส้นทางได้ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นพื้นที่ขายของ เส้นทางมอเตอร์ไซด์แทน เช่นเดียวกับถนนกรุงธนบุรีที่เส้นทางจักรยานเริ่มจางหายไป และไม่ค่อยมีผู้ใช้งาน

    ด้วยเหตุนี้ทางกรุงเทพมหานครจึงอยู่ระหว่าง การระดมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้จักรยาน เพื่อดูว่าเส้นทางไหนมีการใช้เป็นประจำเพื่อที่จะได้ปรับปรุงให้เกิดความ สะดวกในการขับขี่มากขึ้น ซึ่งเท่าที่ดูผู้ใช้จักรยานส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นการขี่ไปบนถนนใหญ่ แต่ส่วนมากจะเป็นการขี่ในซอยที่เป็นระยะสั้นๆ อย่างเช่นไปตลาด แต่ในกรณีจำเป็นอาจใช้เส้นทางลัดเพื่อหลบเลี่ยงเข้าซอยได้ ซึ่งจะมีการสำรวจเส้นทางลัดจักรยานเพื่อทำเป็นแผนที่ เพื่อที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ได้

     “สิ่งที่ต้องการขณะนี้คือการระดมความเห็น จากผู้ที่ใช้เส้นทางจักรยานจริงๆ ว่า ทั้ง 31 เส้นทาง มีเส้นทางใดที่ยังใช้อยู่บ้าง หากมีการขยายเพิ่มเติมควรเป็นเส้นทางใด พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครยังมีแนวคิดจัดทำผังเมือง “กรุงเทพเมืองสวรรค์” ตามแนวพระราชดำริในการปรับปรุงเมือง ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดทำช่องทางจักรยานไว้ เริ่มนำร่องที่ถนนวงแหวนรัชดาภิเษก”

รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ยังบอกด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการสถานีจักรยาน โดยมีจักรยานไว้เพื่อบริการประชาชนหลังจากขึ้นลงจากรถไฟฟ้า เพื่อใช้เดินทางต่อไปยังสถานที่ต่างๆ เบื้องต้นนำร่อง 2 สถานี คือสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม และสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสามย่าน ก่อนขยายไปยังสถานีอื่นต่อไป

นายอรวิทย์ บอกว่าการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานหลังผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. จะมีการจัดทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้การผลักดันและส่งเสริมมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่แต่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่รวมถึงต่างจังหวัดด้วย ตลอดจนงบประมาณที่จะมาสนับสนุนหลังจากนี้

การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ นอกจากการปรับโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น ทั้งการเพิ่มช่องทางจักรยาน การปรับพื้นผิวทางเท้าแล้ว ยังต้องควบคู่ไปกับการรณรงค์ปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้คนหันมาเลือกการเดินและ ใช้จักรยานมากขึ้น เพราะตราบใดที่คนไม่เปลี่ยนวิธีคิด การปรับเฉพาะแค่โครงสร้างพื้นฐานก็จะไม่เป็นผล

“สิ่งที่ต้องการขณะนี้ คือ การระดมความเห็น จากผู้ที่ใช้เส้นทาง จักรยานจริงๆ”

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ฉบับวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2555

คอลัมน์ สังคม-ชุมชน (ดวงกมล สจิรวัฒนากุล)

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น