ทริปสะอาดครั้งที่ 10 ชมความงามของธรรมชาติและซึมซับรสพระธรรมที่ชัยภูมิ
“ทริปสะอาด” การขี่จักรยานท่องเที่ยวที่ได้ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพทางสังคม กลับมาอีกครั้งหนึ่งในช่วง
เทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา โดยทริปสะอาดครั้งที่ ๑๐ นี้ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดไปขี่ที่จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดที่
ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของภาคอิสานและอันดับ ๗ ของประเทศ โดยใช้เวลาสี่วัน ขี่กันอย่างสบายๆ ไม่ต้องการทำระยะทาง ไม่เร่งร้อน ให้ทุกคนได้เก็บ
เกี่ยวความสุขกันอย่างเต็มที่
วันแรกของการเดินทาง วันเสาร์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เราออกเดินทางเช้าร่วมไปกับขบวนรถมากมายที่หลั่งไหลออกจากกรุงเทพฯ ใน
ช่วงวันหยุดยาว ถึงอุทยานแห่งชาติตาดโตนซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง กินอาหารกลางวันเสร็จแล้วฟังการบรรยายและฉายภาพเรื่องราวของอุทยาน
แห่งชาติลำดับที่ ๒๓ ของไทย(และบังเอิญประกาศตั้งในปี ๒๕๒๓ ด้วยพอดี) ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคา ทำให้ได้ทราบว่าที่นี่ได้รับความนิยมสูง
ในปัจจุบันมีคนมาเที่ยวทุกวัน จนมีรายได้เป็นอันดับ ๙ จากอุทยานแห่งชาติทั้งหมดของไทยร้อยกว่าแห่ง ฟังเสร็จ พวกเราส่วนใหญ่เลือกไปแช่น้ำกัน
ที่น้ำตก มีสามคนที่เลือกเดินป่าศึกษาธรรมชาติและได้รับความกรุณาจากคุณสังวร จุลนันท์ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น นำทาง ชี้ชวนให้ดู
และอธิบายให้ความรู้ถึงพรรณไม้ต่างๆ ที่บ่งบอกลักษณะเฉพาะของป่าสามชนิดคือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ที่ประกอบเป็นอุทยาน
แห่งชาติแห่งนี้
ถ่ายรูปหมู่หน้าป้ายน้ำตกอุทยานแห่งชาติตาดโตน | เดินป่าศึกษาธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน | แวะพักเหนื่อยจากการเดินศึกษาธรรมชาติในอุทยาน |
จากนั้นเราเริ่มปั่นจักรยานไปมอหินขาว โดยมีนักปั่นจากชมรมจักรยานชัยภูมิมาเป็นเพื่อนช่วยนำทาง มอหินขาวเป็นเนินทุ่ง (“มอ” เป็น
ภาษาอิสานแปลว่าเนิน) บนหลังคาของเทือกเขาภูแลนคา ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคา มีเสาหินและกลุ่มหินก้อนใหญ่สี(ออก)ขาวที่มีรูปลักษณ์
แปลกตาน่าอัศจรรย์ใจ อายุราว ๑๗๕-๑๙๕ ล้านปี กระจัดกระจายเป็นกลุ่มต่างๆ มีเพียงแห่งเดียวในทวีปเอเชีย คนสมัยก่อนจินตนาการว่ากที่นี่เคย
เป็นเมืองและเรียกว่า “เมืองนครกลางหาว” เราเลือกขี่ไปทางถนนลูกรัง ปั่นขึ้นเนินไปเรื่อยๆ ผ่านป่า สวนยาง และไร่มันของชาวบ้านห้วยหมากแดง
และบ้านวังโพน ในที่สุดก็ไปถึงผาหัวนาคซึ่งเป็นจุดสูงสุดของมอหินขาว สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๙๐๕ เมตร มีแท่งหินยื่นเป็นชะโงกออกไป
เหนือหน้าผาที่ดิ่งลงไปเป็นร้อยเมตรอันเป็นที่มาของชื่อผา มองข้ามที่ราบไปทางทิศตะวันตกเห็นที่ราบของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ของชัยภูมิและ
เทือกเขาภูเขียวในจังหวัดเพชรบูรณ์อย่างเด่นชัด พวกเราตื่นตะลึงกับทิวทัศน์อันสวยงามน่าหลงใหลในแสงอาทิตย์อ่อนยามใกล้อัศดง พร้อมกับลมที่
พัดมาเย็นๆ แต่ในที่สุดก็จำใจต้องปั่นลงเนินมาเพื่อให้ทันกางเต็นท์ก่อนมืด เราเข้านอนใต้ฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆต่อเนื่องมาจากกลางวันและลมที่พัด
แรงตลอดคืน
ต้นทางลูกรังไป ‘มอหินขาว’ | ใช้แรงปั่นกันสุดฤทธิ์เพื่อขึ้นไปบน มอหินขาว | ใครที่มาถึงต้องได้มาเจอกับ ‘ผาหัวนาค’ | จุดกางเต้นท์บนลานมอหินขาว |
วันที่สองของการเดินทาง วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม เมฆยังคงเต็มฟ้า เลยไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากกลุ่มหินโขลงช้างที่เขาว่างด
งามนัก หลังอาหารเช้า คุณบัวขาว อาจนาฝาย หัวหน้าหน่วยมอหินขาว พาเราไปชมความงดงามของสวนหินล้านปี ซึ่งไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไป
เองเนื่องจากความอ่อนเปราะของพื้นที่ พวกเราตื่นตาตื่นใจกับดงหินที่มีกล้วยไม้ป่าและหญ้ามอสเกาะอยู่มากมาย ร่วมกับดอกไม้ป่าต่างๆ เราเดินชม
สวนหินขึ้นลาดเนินไปจนถึงหน้าผาที่เห็นทิวทัศน์คล้ายกับผาหัวนาค ใต้ผาลงไปคืออุทยานแห่งชาติภูแลนคา จากสวนหินล้านปี เราปั่นต่อขึ้นเนินไป
ที่กลุ่มหินเจดีย์และกลุ่มหินโขลงช้าง ซึ่งมีชื่อเสียงจากการที่ ททท.นำธงไชย แมคอินไตร์ มาถ่ายทำวิดีโอโฆษณา จนมีหินชื่อ “ที่เบิร์ดดูดาว” “ที่
เบิร์ดนั่ง” และ “ที่เบิร์ดนอน” ถ่ายรูปกันจนจุใจแล้วปั่นกลับมาใกล้ลานกางเต็นท์ ไปชมกลุ่มเสาหินห้าแท่งซึ่งเป็นเสาหินทรายประติมากรรมธรรมชาติ
ใหญ่ที่สุดบนมอหินขาว สูงราว ๑๐-๑๒ เมตร แต่ละแท่งมีชื่อพร้อมตำแหน่งเป็นขุนหรือหลวงและกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์พร้อมสรรพ
รูปหมู่หน้า ‘สวนหินล้านปี’ | กลุ่มหินเจดีย์ | กลุ่มหินโขลงช้าง | กลุ่มเสาหินห้าแท่ง |
จุดที่พี่เบิร์ด ‘ดูดาว’ | ที่เบิร์ด ‘นั่ง’ (พี่กวินเป็นนายแบบแทน) | ที่เบิร์ด ‘นอน’ |
จากกลุ่มเสาหินห้าแท่ง เราปั่นลงเขา (ความจริงคือปล่อยจักรยานให้ไหลลงเขา) อย่างเดียวเป็นสิบกิโลเมตรตามถนนอย่างดี เข้าเขต
อำเภอแก้งคร้อ ไปกินอาหารกลางวันที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปะทาว แล้วเดินทางต่อไปวัดภูเขาทองวนาราม บ้านท่ามะไฟพัฒนา ต้นไม้ที่วัดป่า
กลางชุมชนแห่งนี้ทั้งใหญ่ทั้งหนาแน่น ทำให้ร่มรื่นเย็นสบายอยู่แล้ว แต่เราก็ช่วยกันปลูกต้นสาละลังกาเพิ่มไปอีก 50 ต้น เสร็จแล้วปั่นไปจบการเดิน
ทางวันนี้ที่วัดป่าสุคะโต สถาบันสติปัฏฐาน ที่บ้านใหม่ไทยเจริญ เรากินอาหารมื้อเย็นกันแต่ห้าโมงเพื่อไปร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็นและฟังธรรม
บรรยายจากพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ถึงความหมายของวันอาสาฬหบูชา
รูปหมู่ที่เสาหินห้าแท่ง ร่วมกันปลูกต้นสาละลังกา คืนสู่ธรรมชาติ
วันที่สามของการเดินทาง วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม นักปั่นจากชมรมจักรยานชัยภูมิมาพาเราปั่นจักรยานขึ้นยอดภูคลี ซึ่งอยู่ในแนวเทือก
เขาภูแลนคาเช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติตาดโตน ภูคลีเป็นจุดสูงสุดของแผ่นดินชัยภูมิ สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางกว่า ๑,๓๐๐ เมตรไปชม
ความมหัศจรรย์ของป่าปรงพันปี นักปั่นชัยภูมิเล่าว่าทางจังหวัดพยายามทำที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ จึงเริ่มทยอยทำถนนอย่างดีขึ้นไป
ช่วงแรกห้ากิโลเมตรเป็นถนนคอนกรีตเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ช่วงบนยังเป็นถนนดินที่มีหินลอย ทราย ร่องน้ำ ฯลฯ ท้าทายนักจักรยานให้ทดสอบหรือ
ฝึกความสามารถ แม้เส้นทางจะขึ้นตลอดและวันนี้มีแดดแรงต่างกับสองวันแรก แต่ทางส่วนใหญ่ก็ไม่ชันนัก พวกเราส่วนมากจึงปั่นขึ้นไปกินอาหาร
กลางวันที่นั่นได้ บริเวณยอดภูคลีนี้มีต้นปรงขึ้นค่อนข้างหนาแน่นในป่าดิบเขา จนพอจะเรียกว่า “ป่าปรง” ได้ และเป็นป่าปรงผืนใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดใน
ไทย มีอายุย้อนไปมากกว่าพันปีและต้นที่ใหญ่สุดสูงถึงราว ๑๐ เมตร ป่าปรงนี้ติดกับริมผาชื่อผานางคอย ซึ่งมองไปเห็นภูเขียวเช่นเดียวกับมอหิน
ขาว เราจึงได้ทั้งกินอาหารในป่าที่ร่มรื่นและชมทิวทัศน์ไปพร้อมกัน ยังได้เดินไปตามทางเท้าที่ทำใหม่ๆ ไปออกทุ่งโล่งที่มองเห็นทิวทัศน์มุมกว้าง
แบบพานอรามาด้วย
ป่าปรงพันปีที่ภูคลี อีกสักภาพกับทิวทัศน์ผานางคอยที่ยอดภูคลี
ขาลงเป็นการ “ลง” จริงๆ ที่กดเบรกกันตลอดจนหลายคนเมื่อยต้องหยุดเป็นระยะ ลงมาได้ท่อนหนึ่งฝนก็ตกลงมาแปรสภาพถนนดินเป็น
ถนนขี้โคลน ขี้โคลนนี้ทั้งสุดแสนจะลื่นขนาดรถขับเคลื่อนสี่ล้อที่ตามไปช่วยบริการน้ำและเก็บคนที่ขี่ไม่ไหว ยังลื่นไถล และยังติดล้อติดตะเกียบ
จักรยานจนล้อหมุนไม่ได้ ต้องลงเข็นกันเกือบทุกคน เข็นแล้วก็ยังต้องควักโคลนออกจากล้อเป็นระยะๆ จนมาขึ้นถนนปูน ชาวบ้านข้างทางล้วนใจดี
ให้เราเข้าไปล้างโคลนจากล้อจึงขี่ต่อลงมาได้ สภาพเช่นนี้เองทำให้การลงเขาล่าช้า ไม่มีเวลาไปวัดป่ามหาวันตามที่วางแผนไว้ ต้องมุ่งกลับมาวัด
ป่าสุคะโตโดยตรง เพื่อให้ทุกคนได้ล้างจักรยาน อาบน้ำ และกินอาหารเย็นเสร็จทัน เราจึงได้ร่วมฟังเทศนาและเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชากับ
อุบาสกอุบาสิกากว่าร้อยคนตามที่ตั้งใจ การขี่จักรยานในทริปนี้มาสิ้นสุดลงในวันนี้ด้วย รวมระยะทั้งหมดสามวันประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร แม้จะไม่มาก
แต่ทุกคนก็พอใจที่ได้ขี่ทางหลายแบบ หลายสภาพภูมิประเทศ หลายลมฟ้าอากาศ และเรียกว่าได้แทบจะทุกรสชาติของการขี่จักรยานเลยทีเดียว
เส้นทางปั่นจักรยานพบทุ่งหญ้าในป่าปรง ภูคลี ภารกิจยก เข็น ปั่น จักรยานหลังฝนตกที่ภูคลี
วันที่สี่ของการเดินทาง วันอังคารที่ ๒๓ กรกฎาคม วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา หลังถวายผ้าอาบน้ำฝนและจตุปัจจัยแล้ว เราแบ่งเป็นสอง
คณะ คณะหนึ่งอยู่วัดป่าสุคะโต ปลูกต้นสาละ ๑๕๐ ต้นที่ด้านในสุดของพื้นที่วัดใกล้ที่เผาศพ เป็นการเสริมป่าอภัยทาน ซึ่งความจริงก็กว้างใหญ่ มี
ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นอยู่แล้วจากการปลูกเสริมในหลายปีที่ผ่านมา และทำความสะอาดศาลาใหญ่ใกล้ประตูวัดที่เราใช้นอน อีกคณะหนึ่งนำผ้าอาบน้ำฝน
และจตุปัจจัยไปถวายพระไพศาล วิสาโล ที่วัดป่ามหาวัน (ภูหลง) “หลวงพี่เตี้ย” ดังที่นักกิจกรรมที่คุ้นเคยท่านเรียก แสดงธรรมชี้ให้เราอยู่กับปัจจุบัน
ขณะ เมื่อขี่จักรยานก็อย่าไปคิดถึงเป้าหมายซึ่งเป็นอนาคต ให้ใจอยู่กับการปั่นในขณะนั้น การขี่จักรยานก็เช่นเดียวกับการกระทำทุกอย่างที่ไม่ใช่ขึ้นกับ
กำลังกายอย่างเดียว ใจมีส่วนสำคัญมาก หลังกินอาหารกลางวัน พวกเราทุกคนยังได้ฟังธรรมจากหลวงพี่แจ็คที่วัดป่าสุคะโต ท่านบอกเลยว่าให้เรา
มาพักที่นี่ได้ตลอดเวลา ศาลาใหญ่นี้ถ้าฆราวาสไม่มาใช้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะพระพักในป่าด้านใน จากนั้นท่านได้อธิบายให้เราเข้าใจความหมาย
ของ “สติปัฏฐาน” อันเป็นชื่อของสถานที่นี้ว่าคือการเจริญสติ ทำให้สติอยู่กับตัวอยู่กับปัจจุบัน จึงจะลดทุกข์ได้ และได้แนะนำอุบายในการทำเช่นนั้น
โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวแขนและมือตามแบบสายของหลวงพ่อเทียน จากนั้นเราก็ได้ลาท่านเดินทางกลับกรุงเทพฯ
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย