Home / บทความ / มาฟัง มาโนช พุฒตาล พูดถึงการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

มาฟัง มาโนช พุฒตาล พูดถึงการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

มาฟังมาโนช พุฒตาล พูดถึงการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ในรายการคนกรุงเก่าเล่าเรื่อง ตอน สาวบ้านแต้ขี่จักรยาน คืนวันที่ 5กันยายน 2556 ทางวิทยุ FM 96.5 MHz

(รายการคนกรุงเก่าเล่าเรื่องออกอากาศสดทุกคืนวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี เวลา 23.30 – 00.30 น.)
เปิดฟังได้ที่ http://www2.mcot.net/fm965/audio/view/id/5229bba5150ba06e17000108#.UjKVe9K-18E


(ตอนเริ่มรายการ เปิดเพลง “สาวบ้านแต้ขี่รถจักรยาน” และพูดเรื่องอื่นไปจนถึง นาทีที่ 18.12)

.….ย้อนกลับไปที่เพลงสาวบ้านแต้ขี่รถจักรยานนะฮะ  จักรยานนี่แต่ไหนแต่ไรมันเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของเรา  ถ้าย้อนไปในอดีต ผู้คนใช้รถจักรยานเพราะว่ามันสะดวกกว่าเดิน เดินน่ะมันไกลมาก ใช่ไหมครับถ้าบนถนนนะ  แต่ถ้าไปตามตรอกซอกซอย หรือว่าเดินไปลงคลองอาบน้ำ เดินไปตามป่าละเมาะ เดินสะดวกกว่า เดินสะดวกที่สุดแล้ว  แต่ถ้าขึ้นมาบนถนน มีทางดินทางลูกรังที่ขี่จักรยานได้  ถ้าเรามีจักรยานสองล้อ เราก็จะขี่จักรยานกัน เพราะว่ามันสะดวกกว่า มันไปได้เร็วกว่า มันไปได้ไกลกว่า  ข้างหลังก็ยังใช้ให้คนซ้อนก็ได้ ใช้บรรทุกของไปส่งก็ได้ จักรยานส่งน้ำแข็ง จักรยานส่งข้าวของ  สมัยก่อนในตลาดแถวบ้านผมนะครับ เขาชื่อตาส่ง คือสมชื่อจริงๆเลย เขาเป็นเจ้าของร้านขายของชำ เขามีข้าวสารไปส่งตามร้านต่างๆ ตามบ้านต่างๆ   เขาใช้จักรยานขี่ไปส่ง เขาเรียกตาส่ง ขี่จักรยานไปส่งข้าวสาร 

คือหมายความว่า ในอดีตนั้นจักรยานเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก เป็นสิ่งที่ช่วยทุ่นแรงในชีวิตของเราจริงๆ เลย  แล้วจนกระทั่งมันมีมอเตอร์ไซค์เกิดขึ้น มีรถยนต์เกิดขึ้น ซึ่งมันสบายกว่า  มันทุ่นแรงกว่ากันอีก  เราก็ยังไม่ได้ตระหนักอะไร เพราะตอนนั้นมันก็ยังมีไม่มาก น้ำมันก็มีใช้เยอะ อากาศยังไม่ได้เสียเยอะขนาดนี้ เราก็เลยมีความสุขสบาย เราก็ใช้มันมากขึ้นๆๆ  จนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ ไอ้ความสะดวกสบายจากจากใช้รถยนต์ จากการใช้จักรยานยนต์ จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง มันก็เริ่มส่งผลมานานแล้วด้วยว่า ทำให้ชีวิตลำบาก จึงต้องมองย้อนกลับไปหาของเก่า จักรยานสองล้อซึ่งอาจจะเคยจอดนิ่งสนิทอยู่ในโรงรถของท่านมายาวนานแล้ว ตอนนี้ก็น่าจะต้องเวลาที่จะหยิบมันออกมาปัดฝุ่นใช้งานอีกครั้งหนึ่ง

ในหลายๆ ประเทศ จักรยานสองล้อก็เป็นวิถีชีวิตประจำวันของเขา  อย่างสมมติกรุงปักกิ่งนี่นะครับ กรุงปักกิ่งเราเคยเห็นภาพคนออกมาขี่จักรยานกันเป็นหมื่นๆ คันเลย  แต่มาวันนี้ภาพเหล่านั้นก็ค่อยจางหายไป เพราะว่ารถยนต์เข้ามาแทนที่ เศรษฐกิจของคนจีนดีขึ้น  พอเศรษฐกิจดีขึ้น มีเงินมากขึ้น ก็ซื้อหาความสะดวกจากรถยนต์ จากน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น  เชื่อว่าอีกไม่นานอาจจะต้องย้อนกลับไปหาเมียเก่า คือจักรยานสองล้อ น้ำพริกถ้วยเก่า ซึ่งมันจะอำนวยความสะดวกได้  แม้ว่าจะไม่สะดวกเท่า ไม่รวดเร็วเท่า  แต่โดยข้อดีซึ่งทุกคนก็ตระหนักดีอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นอย่างเพลงสาวบ้านแต้นั้นมันสะท้อนชัดเจน มันเป็นเพลงรุ่นเก่า  สมัยก่อนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมนั่งรถเมล์ผ่านเวลาไปเรียนหนังสือ มองเข้าไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สักเมื่อปี พ.ศ. 2519 นะครับ ยังเห็นลานจอดรถจักรยานจอดได้เป็นร้อยๆ คัน พรืดไปหมดเลย  เดี๋ยวนี้คุณผ่านไปทางมหาวิทยาลัยเกษตร คุณก็จะเห็นแต่ถนนที่เต็มไปด้วยรถยนต์ ลานจอดรถยนต์ที่ไม่พอเพียงด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยที่ผมใช้เวลาเติบโตที่นั่น 5-6 ปี ตอนผมเรียนที่นั่นปี 2512 13 14 15 16 อะไรเนี่ย เรามีโรงจอดรถจักรยานยาวเหยียด จอดรถจักรยานได้ทีสองสามร้อยคัน  มานะวันนี้ มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนี้อีกต่อไป  อยุธยาวิทยาลัยก็เต็มไปด้วยโรงจอดรถยนต์ซึ่งแน่นไม่พอ ทั้งคุณครู ทั้งเด็กนักเรียนที่พ่อแม่มีสตางค์ ก็จัดหารถยนต์ให้ เดี๋ยวนี้ก็มีรถยนต์มาจอดแน่น  เดี๋ยวนี้กลายเป็นสถาบันการศึกษาแทบทุกแห่งมีปัญหาการจราจรภายในสถาบันศึกษา มีปัญหาเรื่องลานจอด พื้นที่สำหรับจอดรถยนต์  อย่าง มศว.ประสานมิตร ถึงกับลงทุนขุดชั้นใต้ดินใต้สนามกีฬาทำเป็นสถานที่จอดรถ  แต่พอเอาเข้าจริง ผ่านไปทางละแวกนั้นก็ยังพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัดภายในมหาวิทยาลัย

คุณผู้ฟังลองถึงถึงภาพที่ว่ามหาวิทยาลัย สถานศึกษา  เวลาผมเป็นเด็กนึกถึงสถานศึกษา ไม่ว่าที่ไหนนะ ก็จะนึกถึงอาคารเรียน ธงชาติไทยที่ปักอยู่หน้าอาคารเรียน เสาธงตั้งอยู่หน้าอาคาร ที่เหลือก็จะเป็นสนามหญ้าเขียวขจี เป็นที่โล่งแจ้ง เป็นที่วิ่งที่เล่นกีฬา มีต้นก้ามปู มีต้นไม้เขียวขจีเขียวชอุ่มไปทั่วสถานการศึกษา  คุณลองไปดูสถานการศึกษานะเวลานี้สิครับ โดยเฉพาะในเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่แล้วจะคลาคล่ำไปด้วยยานพาหนะ

หลังจากเปิดเพลงสาวบ้านแต้ และก็ได้ฟังเรื่องสาวบ้านแต้ขี่รถจักรยานแล้ว  พอดีผมตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเอาไว้หลายวันแล้ว ว่าจะเอามาอ่าน  หนังสือพิมพ์ลงเอาไว้ตั้งแต่เมื่อสักสองสามสัปดาห์ที่แล้วว่า “นักปั่นมีเฮ ดันใช้จักรยานเป็นวาระแห่งชาติ”  อันนี้ทำให้หัวจิตหัวใจมันชุ่มชื้นชุ่มฉ่ำขึ้นนะครับสำหรับคนที่ต้องการให้มีความสะดวกในชีวิต ทั้งตัวเองและสังคมหันมาใช้จักรยานสองล้อ  อึดอัดขัดข้องหมองใจมาอย่างยาวนานกับการที่รัฐบาลไม่ค่อยเหลียวแลผลักดันให้การขี่จักรยานสองล้อถูกส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนทำสิ่งนี้กันเป็นรูปธรรม  พอมาลงข่าวแบบนี้บอกว่า มีการผลักดันให้การขี่จักรยานสองล้อเป็นวาระแห่งชาติ ก็เลยมีความชื่นใจขึ้น

รายละเอียดของข่าวบอกว่า “นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอเรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ทั้งการเดินเท้าด้วยนะครับ “ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อกำหนดให้เป็น”…  อ๋อ ยังไม่ได้กำหนด ให้พิจารณาให้กำหนด  แหม ดีใจไป ยังนี่ แค่ให้เป็นการพิจารณาก่อน  ต้องมานั่งภาวนาว่าเขาจะให้เป็นวาระแห่งชาติจริงหรือเปล่า  ซึ่งถ้าเป็นวาระแห่งชาติขึ้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยกันสนับสนุน ช่วยกันจัดทำยุทธศาสตร์ให้ชาวไทยหันมาเดินเท้าและใช้จักรยานสองล้อ โดยให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งประชาชน ประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมทั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย  ชมรมนี้เขาผลักดันเขาต่อสู้เพื่อให้สังคมหันมาใช้จักรยานมาอย่างยาวนานนะ 

ผมรู้จักชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งที่ผมได้จักรยานสองล้อคันใหม่ในเวลานั้นนะครับ  ผมมีจักรยานครั้งแรกตอนผมอายุประมาณสิบขวบ คือเมื่อต้องขี่จักรยานสองล้อไปโรงเรียนด้วยตัวเองแล้วนี่  ผมขี่จักรยานปีละสามร้อยกว่าวัน เพราะขี่จักรยานไปโรงเรียนเช้าเย็นๆ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ขี่เที่ยว แต่มันเป็นจักรยานของพ่อผม ซึ่งเก่ามาก แล้วทุกข์ทรมานกับอานมันมาก  อานของมันตามปกติต้องมีหนังหรือพลาสติกหุ้มด้านบนใช่ไหม  แต่เมื่อขี่ไปนานเข้า ก้นเราเสียดสีจนมันขาด คุณก็จะไปเจอสปริงที่อยู่ข้างล่าง สปริงเขาขึงไว้สี่ห้าตัว  พ่อไม่ยอมซื้ออานใหม่ เขาเสียดายเงิน ผมก็เลยต้องขี่จักรยานมีสปริงหนีบตูดไปตลอดทาง  แต่มันก็ดีไปอย่างนะ ทำให้เรามีสติ เป็นการฝึกสติมาตั้งแต่เด็ก  ผมล่ะน้อยใจเหลือเกินในเรื่องอานจักรยานที่ว่านี่นะครับ  แล้วจักรยานคันนี้ก็อยู่กับผมจนจบ ม.8  เมื่อจบ ม.8 แล้วผมก็ไปเอเอฟเอส แล้วก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ไปเรียนมหาวิทยาลัย  ตั้งแต่นั้นชีวิตผมกับจักรยานก็ห่างเหินกันอยู่กี่ปี เดี๋ยวนะ ตั้งแต่ปี 2518 19 20 โอ้ ห่างไกลกันอยู่หลายปีเลยทีเดียว  ห่างไกลกันนับสิบปี จนผมมาซื้อจักรยานคันใหม่ ฝากหลานซื้อ คราวนี้เป็นจักรยานเสือภูเขา  แต่ที่ซื้อนี่ก็คือถ้านับถึงทุกวันนี้ก็ยี่สิบห้าปีมาแล้ว ก็นานโขอยู่นะครับ

นั่นแหละก็เมื่อยี่สิบห้ามาแล้วที่ผมได้จักรยานคันใหม่มา ก็ทำได้ผมได้พบกับมิตรภาพบนเส้นทางเพิ่มขึ้น  ไปร้านจักรยาน ไปประกอบจักรยาน ก็ได้รู้จักชื่อวิเชียร คนที่แขนกุด แขนกุดเพราะทำระเบิดมือ แล้วมันระเบิดใส่ เอ๊ย ระเบิดขวด แล้วมันระเบิดใส่จนพิการ แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ต่อชีวิต  เป็นนักจักรยานที่ปั่นมาแล้วรอบโลกทั้งที่มีแขนเดียวเพราะอีกข้างมันกุด ก็รู้จักกับวิเชียร รู้จักกับเจ้าปู่  เจ้าปู่นี่ก็เป็นมนุษย์โครมังยอง  ผมก็ชวนเจ้าปู่มาทำงานที่บริษัทมายสโตน มอบหน้าที่ให้เป็นเมสเซ็นเจอร์  บริษัทมายสโตนที่ผมเป็นเจ้าของนี่มีคนขี่จักรยานเป็นเมสเซ็นเจอร์ไปรับส่งของ รับส่งเอกสาร ไปรับซีดี รับเช็คส่งเช็ค มาตั้งแต่เมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้วนะครับ

และหลังจากนั้นผมก็ได้มารู้จักชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เขาเชิญชวนให้ไปขี่จักรยานแถวสยามสแควร์ แล้วติดป้ายข้างหลังเชิญชวนคนให้มาขี่จักรยานสองล้อกัน  นี่ทำกันมาตั้งแต่ยี่สิบห้าปีที่แล้ว  และจากนั้นมาก็ได้รับวารสารจุลสารจากชมรมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้  ก็ดีใจอย่างยิ่งที่ชมรมนี้ได้มีส่วนผลักดันไปจนถึงรัฐบาลเหลียวมามองแล้ว  อ่านข่าวต่อ 

“สำหรับแนวทางการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจะช่วยเสริมให้คนไทยหันมาใช้พื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะต้องเร่งปรับปรุงระเบียบกฎหมายและมาตรการต่างๆ ให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวโน้มของการใช้จักรยานที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมจับต้องได้  จะเริ่มนำร่องในมหาวิทยาลัย 120 แห่งทั่วประเทศ”  อืมดีจริงๆ ครับ “แล้วก็พวก อบต.ทุกพื้นที่ เพื่อให้เป็นต้นแบบ  และประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือความปลอดภัยของคนเดินและคนใช้จักรยาน”  อันนี้ก็ถูกต้องเลยทีเดียว เพราะคนจำนวนไม่น้อยอยากออกมาขี่จักรยาน แต่ยังไม่กล้า เพราะว่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย

(เริ่มเปิดเพลง) …หวังว่าจะไม่ต้องรอถึงพันปีแบบเพลงนี้นะครับ… (เพลง Thousand Years)  …..ความรักอันมั่นคงนั้นรอคอยได้ รอได้เป็นพันปี เพราะพวกเขาไม่ใช่คนธรรมดานี่ พวกเขาเป็นแวมไพร์ แวมไพร์มีอายุยืนได้เป็นร้อยเป็นพันปี  แต่เราเป็นมนุษย์ธรรมดา ชั่วชีวิตหนึ่งจะมีสักกี่ปีครับ  อย่าให้ประชาชนต้องรอกันทั้งชีวิตเลยนะครับ  นี่คือเพลง Thousand Years จากเรื่อง Twilight….  (เปิดเพลง)  … เพลงนี้ชื่อว่าเพลง Astronaut แปลว่ามนุษย์อวกาศ 

มานั่งพิจารณาดูอีกทีนะครับ ไม่รู้ว่าผู้ฟังจะเห็นยังไงนะ  ผมมานั่งนึกดูนี่ หลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรา สิ่งดีๆ วิถีชีวิตที่ดี สิ่งต่างๆ กิจกรรม หรือสิ่งก่อสร้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสิ่งดีๆ หรือเกิดชื่อเสียงกับประเทศไทยกับสังคมไทยนี่ มาคิดดูให้ดีแล้ว ภาครัฐไม่เคยเป็นผู้เริ่มต้นขึ้นมาก่อนเลย  รัฐบาลหรือผู้ปกครองมักไม่ได้เป็นผู้เริ่มกิจกรรมเหล่านี้ ส่วนใหญ่ประชาชนนั่นแหละครับเป็นคนเริ่มไว้ก่อน  เป็นคนเริ่มทำไว้ก่อน คนละไม้คนละมือ ฟันฝ่าต่อสู้อุปสรรค  บางทีนอกจากไม่ได้รับความช่วยเหลือ บางทีรัฐยังเป็นอุปสรรคเสียเองด้วย  รอจนกระทั่งสิ่งที่ประชาชนสร้างประสบความสำเร็จขึ้นมาแล้ว รัฐบาลมักจะตามต้อยๆ ทีหลัง คราวนี้ล่ะก้อ ตามมาสนับสนุน ตามมาส่งเสริม เหมือนกับว่ามาเกาะชายผ้าเหลืองไปด้วย  อันนี้ไม่รู้ผมคิดมากไปหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ…..  (นาที 38.12 จากนั้นพูดเรื่องที่ประชาชนทำคือร้านอาหารไทยในต่างประเทศและประชาธิปไตย)

(นาที 42.21) …ย้อนมาดูการขี่จักรยานสองล้อบ้าง  การใช้จักรยานสองล้อเป็นพาหนะในชีวิตประจำวันนั้น ถามว่าประชาชนดูแลตัวเองหรือรัฐบาลให้การสนับสนุน จนมาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง  ก็มีแต่ประชาชนที่ลุกมาเสี่ยงชีวิตกันเอง มาขี่กันเอง สร้างกลุ่มสร้างก้อนสร้างชมรมขึ้นมา  จนมาถึงตอนนี้ ทั้งๆ ที่รัฐบาลก็เห็นอยู่แล้วว่าประเทศต่างๆ ที่เขาเจริญ เนเธอร์แลนด์ ประเทศยุโรปอย่างสวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น  ประเทศใดก็ตามทีที่เขามองเห็นคุณค่าคุณภาพของชีวิต เขาหันมาขี่จักรยานสองล้อกันแล้วทั้งนั้นแหละ แล้วภาครัฐก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำถนนหนทาง ทำจักรยานให้เช่า ทำจักรยานให้ยืม สร้างความปลอดภัย สร้างความเท่าเทียมกัน เพราะเสียภาษีเหมือนกันนี่หว่า  ถนนจะให้รถยนต์ใช้อย่างเดียวเหรอ ก็ต้องให้คนเดินมีสิทธิด้วย ให้คนขี่จักรยานมีสิทธิด้วย และเขาให้สิทธิเท่าเทียมกันนะ  คนขี่จักรยานในประเทศที่เจริญๆ แล้วนี่เขามีช่องทางชัดเจน และรถยนต์ต้องเกรงๆ จักรยานมากกว่าด้วย เพราะจักรยานมันเนื้อหุ้มเหล็กนะครับ  เราก็เห็นด้วยตาเปล่ากันมาแล้วว่าภาครัฐไม่ได้ยื่นมือมาช่วยเหลืออย่างจริงจัง  รอจนกระทั่งตอนนี้ภาคประชาชนเขาทำกันเอง เขาทำกันมาไกลพอสมควรนะ  เราเห็นคนขี่จักรยานมากขึ้นๆ หนาตาขึ้นๆ  เอาล่ะ รัฐบาลจึงได้ตาสว่าง จึงได้คิด เพิ่งมองเห็น ก็พยายามจะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่ทราบนะครับว่าจะได้เป็นจริงหรือเปล่า  สงสัยจะต้องรอภาคประชาชนออกมาช่วยกันผลักดันกันเรื่อยๆ ต่อไปล่ะครับ

อย่างนี้ผมก็เห็นอีกอันหนึ่ง ขอแนะนำเอาไว้สำหรับท่านที่สนใจเรื่องขี่จักรยานสองล้อ  มีนิตยสารออกมาเจ็ดแปดฉบับแล้ว เจ็ดแปดเดือน คงจะออกมาได้ครึ่งปีกว่าแล้ว คือนิตยสารชื่อ Crank เป็นนิตยสารว่าด้วย cycling and the people ว่าด้วยเรื่องของการปั่นจักรยานและเรื่องของประชาชน เป็นนิตยสารที่ผลิตโดยพวกศิลปินที่เรียนจบมาจากตบแต่งภายใน Interior จบมาจากสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรอะไรพวกนี้ แล้วพวกเขาก็ขี่จักรยานแล้วมาเจอกัน เจอกันแล้วถูกคอกันก็ชวนกันมาทำนิตยสาร  นิตยสารเขาทำแบบรูปเล่มสวยงาม ใช้กระดาษอย่างดี พิมพ์สี่สี และพิมพ์สองภาษาด้วย ทั้งภาษาไทยทั้งภาษาอังกฤษ  ก็เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งสำหรับผู้ฟังที่รักการขี่จักรยาน

เพราะทุกวันนี้จักรยานสองล้อ คือในอดีตที่พูดกันแต่ตอนต้นรายการว่า มันเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก มันเป็นความจำเป็นในชีวิต  เหมือนอย่างในบางประเทศอย่างในปากีสถาน  ผมไปปากีสถานนี่ คนขี่จักรยานกันเยอะมากเลย แต่ไม่ได้ขี่เพราะแฟชั่น ไม่ได้ขี่เพราะสุขภาพ ขี่เพราะว่ามันต้องเดินทาง ใช้เป็นพาหนะจริงๆ  ผมก็ไม่รู้ในอนาคต ในปากีสถานรายได้ดีกว่านี้ ประชาชนมีรายได้มากกว่านี้ ประชาชนจะหันไปขี่จักรยานยนต์แทนหรือไม่ ผมก็ไม่รู้นะ แต่ในบ้านเมือง อย่างบ้านเมืองเราที่เศรษฐกิจดีกว่า พวกที่เขาหันมาขี่จักรยานกัน ช่วงแรกคงเป็นเรื่องสุขภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อม  แต่ในยุโรปกลายเป็นพาหนะใช้ในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่งสูทแต่งชุดไปทำงานอ๊อฟฟิศ สวยๆหล่อๆ เท่ๆ เก๋ๆ แต่ปั่นจักรยานสองล้อกันหน้าตั้งเลย  เป็นเพราะอากาศมันดี ความปลอดภัยมันมีสูง  ใครๆ ก็เลยคิดว่าจักรยานมันตอบโจทย์ชีวิตในเมืองได้เป็นอย่างดี  ในกรุงเทพมหานคร อากาศยังไม่ดีพอ เส้นทางก็ยังไม่ปลอดภัยพอ  ก็เป็นความหวังนะครับ  หวังว่าคงไม่ต้องรอกันถึงพันปีเหมือนเพลง Thousand Years จากหนังเรื่อง Twilight วาระแห่งชาติเรื่องการขี่จักรยานสองล้อและการเดินเท้าจะกลับมาเป็นวิถีชีวิตอีกอย่างหนึ่งของคนในเมืองใหญ่ ซึ่งแท้จริงมันมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนแล้วที่จะต้องพลิกวิถีชีวิตมาเป็นแบบนี้… (เปิดเพลง) …เชิญชวนกันครับ Come Together…

เพลง Come Together ของบีทเทิ้ลส์ แต่ MJ Michael Jackson เป็นคนร้อง เพราะว่าวันก่อนผมเห็นคนขี่จักรยานกันมาเป็นกลุ่มใหญ่เลยสักสิบกว่าคัน ผมก็ชี้ให้ลูกดูว่าจะขี่จักรยานให้ปลอดภัย ต้องขี่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนแบบนี้  ปกติผมขี่เดี่ยวๆ แล้วก็รู้ว่าเวลาเราขี่เดี่ยวๆ มันไม่เป็นที่สังเกตของผู้อื่นบนถนนด้วยกันที่เขาขับรถขับราอยู่ โดยเฉพาะพวกรถประจำทาง รถเมล์ พวกสองแถวนี่ เขาก็มีความเครียดอยู่แล้วในชีวิตประจำวันในงานของเขา  เวลาคนเรามีความเครียด สมาธิก็จะไม่ดี สติสตังค์สายตงสายตาก็แย่ลงด้วย บางทีเขาไม่สังเกตเห็นว่าเราขี่จักรยานสองล้ออยู่ บางทีก็มาเบียดเราได้ เป็นอันตรายอยู่  แต่ถ้าเราขี่กันกลุ่มใหญ่ๆ ไปห้าคนสิบคน ห้าคันสิบคันนี่มันดูเป็นกลุ่มเป็นก้อน  พอเป็นกลุ่มเป็นก้อนปั๊บมันมีพลัง  พอมันมีพลัง มันก็ทำให้คนอื่นที่เขาขับรถบนท้องถนนระมัดระวังมากขึ้น  คล้ายกับจะมีความเกรงใจอะไรมากขึ้น แบบนี้  เพราะฉะนั้น Come Together จึงเป็นเพลงที่เลือกมาเปิดคุณฟังเมื่อสักครู่นี้ครับ…  (เพลง Take Me Home Country Road)…

(เพลงบรรเลงทำนองเศร้าสร้อย) …..เมื่อครั้งที่รัฐบาลเค้านำเสนอแนวคิดเรื่องซื้อรถยนต์คันแรก แล้วก็ลดหย่อนภาษีให้นั้น ก็ประมาณว่าใครที่ซื้อรถคันแรกหนึ่งคันก็จะได้ลดหย่อนภาษีตั้งเป็นเงินหลายหมื่นบาทถึงหลักแสนบาทใช่ไหมครับ ก็เป็นการแก้ปัญหา เพื่อจะให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายขึ้นโดยมีรถยนต์ใช้  แต่ในที่สุดมันกลายมาเป็นงูกินหาง ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความสะดวกที่ควรจะได้รับกลายเป็นความทุกข์ยากอีกครั้งอยู่ดี เพราะว่ารถติด ค่าซ่อมบำรุง ค่าน้ำมัน และก็ค่าผ่อนส่ง โดยที่รัฐก็ต้องควักเงินจำนวนมหาศาลก้อนนั้นสำหรับเป็นค่าภาษี  ผมยังอดนึกเสียดายเลยว่าเงินก้อนเดียวกันนี้เปลี่ยนเป็นนโยบายรถคันแรกเหมือนกัน แต่เป็นจักรยานสองล้อคันแรก แล้วแจกให้ฟรีเลย  เงินก้อนเดียวกันนี้ครับ ถามว่าซื้อจักรยานสองล้อคุณภาพดีได้กี่หมื่นคัน หรือถ้าเป็นแสนคันล่ะ จักรยานชั้นดีนี้ราคาประมาณไม่เกิน 5000 บาทอยู่แล้ว แล้วถ้ามีการสั่งผลิตกันทีเดียวเป็นหลักหมื่นคัน คงถูกลงอีกเยอะด้วยซ้ำ แล้วก็ประทับตราใส่หน้าภาพของหัวหน้ารัฐบาลลงไปในจักรยานคันนี้ก็ยังได้เลย ถ้าจะคิดว่ามันจะเป็นประชานิยมละก็ แล้วแจกประชาชนครอบครัวละ 1 คัน สำหรับครอบครัวที่ยังไม่มีจักรยานนะครับ เมื่อมีครอบครัวใหม่ ๆ หนึ่งแสนครอบครัวมีจักรยาน 2 ล้อ ครอบครัวละ 1 คัน ผลักดันถนน ผลักดันเส้นทางสร้างขึ้นมาสำหรับจักรยานสองล้อ  เราลองจินตภาพ จินตนาการนึกฝันซิครับว่า เมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยมันจะน่าอยู่ขึ้นมั้ย  แล้วถามว่าประชาชนจะรักหัวหน้ารัฐบาลผู้นั้นที่ปรากฏหน้าประทับบนจักรยานสองล้อนี้ไหม  คงรักไปอีกนานเท่านาน เพราะจักรยานคันหนึ่งมีอายุการใช้งานไม่ใช่ปีสองปีครับ ดูแลดีๆ มันอยู่ชั่วชีวิต….. เพลงมันทำให้เศร้านะ มันเศร้าเพราะเสียงเพลง หรือมันเศร้าเพราะเนื้อหาของมัน…. ปั่นจักรยานไปน้ำตาไหลพรากนะครับ ฮึๆ  ไม่ได้ไหลเพราะความเศร้าซึ้งหรอกครับ ไหลเพราะขี้ฝุ่น ควันรถยนต์

สู้ต่อไปครับ สู้กันต่อไป ชาวจักรยานสองล้อทั้งหลาย พวกเรามากันถูกทางแล้ว  จริงๆ ไม่ต้องบอกด้วยว่าการขี่จักรยานสองล้อนั้นมาถูกทางแล้ว เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้วด้วยครับ

วันนี้ลากันไปเพียงเท่านี้ครับ จากผม มาโนช พุฒตาล บุตรของนายเฉลียวกับนางอำไพ… สุขสันต์กับการขี่จักรยานครับ  สวัสดีครับ…(เพลง Blowing in the Wind)

กวิน ชุติมา  ถอดความจากบันทึกเสียงรายการ

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น