๑. ต้องรู้เขา–รู้เรา “รู้เขา” คือ รู้ว่ารถของเขาเร็ว, แรง, แข็งกว่าของเรา “รู้เรา” คือ รถของเราเล็กที่สุดที่วิ่งอยู่บนถนน อุปกรณ์ชิ้นส่วนทุกชิ้นย่อมเล็กและมีสมรรถนะต่ำกว่ารถเขาอื่น ฉะนั้น จงอย่าซ่า ! จะเจ็บตัว.!
๒. ในช่วงที่รถมาก อย่าขี่เร็วมากนัก เนื่องจากเบรกไม่ใช่ดิสเบรก หน้ายางที่เกาะถนนเล็กนิดเดียว อาจลื่นไถลล้มได้ง่าย ถ้าฝนตกถนนย่อมลื่น ต้องขี่ช้าลง เพื่อความปลอดภัย ป้องกันการลื่นล้ม
๓. ยางเบรกต้องจับล้อหยุดนิ่งทั้ง ๒ ล้อ มือเบรกต้องตั้งให้อยู่ในระยะห่างเท่ากันทั้ง ๒ ข้าง ทุกครั้งที่เบรกต้องเบรกพร้อมกันทั้งล้อหน้าและล้อหลังและโดยแรงบีบเท่าๆ กันด้วย
๔. กระดิ่ง ควรต้องมี เพราะรถวิ่งเงียบ เมื่อรถวิ่งอยู่ในซอยที่เด็กวิ่งหรือเดินกันอยู่ขวักไขว่ เด็กจะได้หลบให้
๕. หมั่นสังเกตตะเกียบคู่หน้าและซี่ลวด หากคดงอหลวมหรือขาด ต้องรีบเปลี่ยนหรือขันให้แน่น
๖. เฟืองพลาสติกที่ตีนผี หากสึกเกินพิกัดจนโซ่ติดขัดต้องเปลี่ยน
๗. ควรขี่ชิดขอบทางด้านซ้ายให้มากที่สุดเสมอ บังคับรถให้วิ่งตรงไปข้างหน้าโดยไม่ส่ายเซ มีสมาธิมองตรงหน้าแน่วแน่
๘. ระวัง “หลุมและสิ่งกีดขวางบนถนน เช่น ก้อนหิน ขวด ท่อนไม้ แก้วกระจกรถยนต์แตก ตะปู ฯลฯ และกิ่งไม้ที่ทอดลงมาจะแทงตาหรือโดนศีรษะ”
๙. ก่อนเปลี่ยนช่องทางวิ่ง ต้องเหลียวมองรถข้างหลังก่อนทุกครั้ง โดยรถไม่ส่ายหรือเซ อย่าขี่ฉวัดเฉวียนส่ายซิกแซกซ่า !
๑๐. ขี่กลางคืน ควรมีไฟหน้า–หลัง หรือมีแผ่นสีสะท้อนแสงติดให้รถอื่นเห็นไกลๆ ด้วย
๑๑. ขณะขี่จะผ่านรถที่จอดข้างทาง ต้องดูเข้าไปข้างในรถนั้นด้วยว่า มีคนจะเปิดประตูออกมาขวางทางเราหรือไม่
๑๒. ถนนบางแห่งมีเหล็กปิดฝาท่อระบายน้ำเป็นร่อง ต้องดูว่าเป็นร่องตามขวางหรือร่องตามยาว ถ้าเป็นร่องตามยาวต้องหลบหลีกให้พ้น หากไม่หลบล้อที่เล็กกว่าร่องจะตกลงไปติด ทำให้หกคะเมนตีลังกาได้
๑๓. “หู” ต้องฟังด้วยว่า รถที่วิ่งส่งเสียงตามมาข้างหลังเป็นรถอะไร ถ้าเป็นรถใหญ่ควรหันไปมองด้วยว่า ที่เขาวิ่งกันมาในลักษณะนั้น เราจะต้องหลบเขาให้ชิดขอบทางอีกหรือไม่
๑๔. ขณะที่ขี่อยู่ หากมีรถรับจ้างตีคู่ จงดูข้างหน้าด้วยว่า มีผู้โดยสารจะเรียกรถรับจ้างนั้นหรือไม่ หากมีต้องชะลอรถให้ช้าลง เพราะถ้าผู้โดยสารเรียก รถรับจ้างจะปาดเข้าไปรับทันที เขามักจะไม่สนหรอกว่ารถเราเล็กและอยู่ในความเร็วเช่นไร เมื่อเบาให้เขาเข้าไปแล้ว เราก็ขี่ตรงไปได้ปลอดภัย ต้องรู้ว่ารถรับจ้างทุกคันต่างวิ่งล่าเหยื่ออยู่ด้วยความหิว เมื่อพบเหยื่อจะโขยกเข้าขย้ำทันที ไม่ดูตาม้าตาเรือกันนักหรอก
๑๕. ระวัง “รถเมล์” ปาดหน้าเข้าจอดป้าย โดยไม่สนใจรถเล็กอย่างเรา “ข้าใหญ่และมีเหล็กหุ้มเนื้อข้าอยู่ ข้าย่อมไม่เจ็บ ถ้าเอ็งไม่ระวังข้า เอ็งเจ็บก็เรื่องของเอ็ง เอ็งตาย..ข้าก็หนี !
๑๖. เมื่อขี่จวนจะถึงทางแยกซ้าย ให้สังเกตด้วยว่ามีรถตีคู่อยู่ทางขวาหรือเปล่า ถ้ามีจงระวังเขาอาจเลี้ยวซ้ายปาดหน้าเราเข้าซอย อาจทำให้เบรกไม่ทันและชนเขาได้
๑๗. ขณะที่รถใหญ่จอดรอเลี้ยวอยู่กลางถนน ต้องสังเกตว่า ถ้าเขาเลี้ยวขวาและเราก็จะเลี้ยวขวา ให้เข้าไปอยู่ทางซ้ายของเขา แล้วเลี้ยวขวาพร้อมเขา ถ้าเขาเลี้ยวซ้ายและเราก็จะเลี้ยวซ้าย ให้เข้าไปอยู่ทางขวาของเขาแล้วเลี้ยวซ้ายพร้อมเขา จงอย่าไปอยู่ผิดข้าง จะทำให้ถูกเบียดออกไปอยู่กลางถนน หรือเข้าไปใต้ท้องรถใหญ่ได้
๑๘. ทางลงสะพานที่ลาดต่ำและโค้งด้วย เช่น สะพานพุทธและสะพานปกเกล้า ช่วงเช้ารถเมล์เติมน้ำมันเต็มถังอาจมีบางคันทำหกราดถนนไว้ จงอย่าลงเร็วและมองให้ดี จะได้หลบทันไม่เข้าไปลื่นล้ม
๑๙. ควรสวมหมวกกันน๊อคและถุงมือ เพื่อป้องกันอวัยวะที่ถูกสวมอยู่นั้นไปกระทบกับของแข็ง เมื่อรถล้มย่อมหนักเป็นเบา
๒๐. หากรถติดกันเป็นแพบนถนน ให้ออกวิ่งกลางถนนตามรถเครื่องไป แต่ต้องระวังคนเดินข้ามถนน คนออกมาจากซอกของรถที่จอดติดกันอยู่ รถเครื่องที่เปลี่ยนช่องทางออกมาขวางทางวิ่งของเรา ระวังรถที่สวนมา อาจจะแซงกินทางเข้ามาปิดช่องทางด้วย อย่าเหม่อและอย่าใจลอยเป็นอันขาด
๒๑. หากมีสุนัขอยู่ข้างถนน เก้ๆ กังๆ จะข้ามถนน ต้องระวังโดยชะลอความเร็ว ดูให้แน่ใจก่อนจึงผ่านไป
๒๒. จงระวังสุนัขเกเรข้างทางไล่กัดน่อง สัญชาติญาณจะบอกเองว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากเขี้ยวอันแหลมคมนั้น สำหรับผมเคยใช้วิธี “ตะโกนสุดเสียง” มาแล้วได้ผล ถ้าหลายตัวก็ต้องจอดเอารถกันหรือหาไม้ ก้อนหินช่วย
๒๓. ถึงทางแยก .. ทางโค้ง .. ทางเลี้ยว .. ทางคับขัน ต้องลดความเร็ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
๒๔. ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยต้องศึกษาให้ทราบอย่างถ่องแท้ ปฏิบัติได้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย
๒๕. ต้องรู้ถึงจิตใจของผู้ขับรถแต่ละชนิดบนถนนด้วยว่า เขาชอบขับรถกันอย่างไร เช่น รถเมล์ ชอบขับในลักษณะที่ว่าข้าใหญ่ นึกจะเข้าหรือออก ก็พารถเข้าออกไปเลย รถอื่นที่เล็กกว่าต้องชะลอให้ รถรับจ้าง พอเห็นผู้โดยสารเรียกก็จะรีบเข้าไป รถเก๋งส่วนตัวมีหลายประเภท ที่ต้องระวังให้มากก็พวกรถซิ่ง .. รถซ่า (รถซิ่งผู้ชายหนุ่มน้อยๆ ขับ ส่วนรถซ่า .. ผู้หญิงสาวหน่อยๆ ขับ) แล้วรถที่ผู้หญิงเพิ่งขับเป็นใหม่ๆ หรือเป็นนานแล้วแต่ยังไม่คล่อง ก็ต้องระวังด้วย สำหรับรถเครื่องนั้นตัวร้าย ชอบแซงขึ้นมาปิดทางขวางหน้า ทำให้เราต้องเบรกตัวโก่งอยู่บ่อยๆ รถเข็นก็ต้องระวังด้วย บางครั้งเข็นสวนทางมา เกะกะอยู่ข้างทางเป็นประจำ
๒๖. ระวังก้อนดินเหลวๆ ที่หล่นมาจากรถขนดินในหน้าฝน ลื่นมาก (เคยล้มมาแล้ว)
๒๗. ระวังก้อนหินเพียงก้อนเดียว เดี่ยวๆ โดดๆ ด้วย เคยมีนักแข่งประเทศเราไปเสียชีวิตต่างประเทศแล้วด้วย
๒๘. ไหล่ทางต่างระดับถนนต่างจังหวัด ให้ระวัง หากพลาดลงไป อย่ารีบหักกลับขึ้นมา จะคว่ำได้ ให้ประคองรถตรงไปเรื่อยๆ และเบาความเร็วลง จนกว่าจะมีทางเรียบให้ขึ้น หากไม่มีควรจอดจูงขึ้น
๒๙. ถ้ามีข้อความ “อันตราย – โปรดห่าง – ขอบคุณมาก” ติดอยู่ด้านหลังที่เสื้อหรือที่บังโคลนท้ายก็จะดี (ทดลองแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ บนถนนต่างจังหวัด รถที่เห็นป้ายข้อความข้างต้น ถ้าด้านรถสวนว่าง เขาจะขับห่างออกไปทางขวามากๆ เลย ถ้าทางรถสวนไม่ว่าง เขาก็จะขับให้ล้อขวาทับเส้นกลางถนน เพื่อเปิดทางซ้ายให้ห่างจากเรา แต่ก็ไม่ควรไว้ใจป้าย ๑๐๐ % นัก เพราะบนถนนยังมีผู้ที่ขับรถแบบบ้าบิ่น คึกคะนอง เอาแต่ใจตัวเอง เมา หลับใน ใจลอย มือใหม่ กินยาม้า โรคประสาท และอื่นๆ อีก ต้องระวังให้จงหนักด้วยเพื่อช่วยตัวเอง)
๓๐. จงแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในละแวกนั้นด้วย เช่น เมื่อเห็นซากศพ จงภาวนาในใจว่า จุตติ จุตตํ อรหัง พุทโธ ดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สุคติภพเถิด ขณะที่เริ่มเคลื่อนรถออกจากบ้านทุกครั้งที่ไปทางไกล ควรแผ่เมตตาว่า .. สัพเพ สัตตา สุขี โหนตุ, สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ, สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ, สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ, สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ, สรรพสัตว์ทั้งหลาย ผีเปรตผีพรายผีร้ายผีตายโหงทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มาเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้ทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด สัตว์ทั้งหลายที่มีบาปมีเคราะห์ก็ขอให้อย่าได้มาประสพเคราะห์กรรมที่ข้าพเจ้าเลย จงไปประสพในที่ห่างไกลออกไปเถิด
๓๑. สำหรับใน กทม. ถ้าจะให้ปลอดภัยจริงๆ ก็ขึ้นไปขี่บนฟุตบาทเลย ไม่มีใครว่าหรอก ระวังชนคน–คนชน ก็แล้วกัน
๓๒. การขี่ขึ้นเนินสูงชัน ควรถอยก้นไปท้ายอานนิดหนึ่ง แล้วถีบเท้าไปข้างหน้าแล้วกดลงแล้วดึงขึ้นให้เท้าหมุนในลักษณะเป็นวงกลม จะมีแรงอัดทำให้ไต่ขึ้นได้มากขึ้น (ข้อนี้แถมสำหรับน้องใหม่ที่เริ่มขี่ออกทัวร์ทางไกลกับชมรมฯ)
(นายเนตร สงวนสัตย์ แก้ไขปรับปรุงเมื่อ ๒๙ มีค. ๓๗ แก้ไขปรับปรุงอีกครั้งเมื่อ ๓๑ พ.ค. ๒๕๔๖)
เอกสารอ้างอิง:
เนตร สงวนสัตย์. (2546). ข้อพึงสังวรระวังในขณะขี่รถจักรยาน ๒ ล้อ.. เพื่อความปลอดภัยของท่าน. ใน รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการใช้จักรยานในประเทศไทย. (หน้า 110-111). กรุงเทพฯ: ในนามของ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ยื่นต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.