ชมรมฯ ร่วมพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญในเรื่องการเดินการใช้จักรยาน
บรรยากาศการประชุมที่มีตัวแทนฝ่ายงานของสำนักงานเขต, กทม., ม.สยาม, ชุมชนในเขต และองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอย่างคับคั่ง
จากการที่สำนักงานเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครมีความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาเขตภาษีเจริญให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) จึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ทำการวิจัยและนำผลการวิจัยมาดำเนินการต่อยอดและขยายผลหวังให้เกิดนวัตกรรมเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญขึ้น โดยมีนายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน และตั้งคณะทำงานพัฒนาพื้นที่สุขภาวะระดับเขตขึ้นมาเป็นฝ่ายปฏิบัติการ ๗ คณะ
(ซ้าย) รอง ผอ.เขต, ผอ.เขต และ ผอ. ศวพช. ม.สยาม (ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ); (ขวา) นายนวัชรศิษฐ์ สุภาการ ประธานชุมชนหน้าวัดโคนอน(คนกลาง)
คณะทำงานชุดที่ ๔ ในเจ็ดคณะนี้คือ คณะทำงานเพิ่มช่องทางจักรยาน/ทางเดินเท้าในบริบทคนเมืองกรุง มีนายนวัชรศิษฐ์ (เบิด) สุภาการ ประธานชุมชนหน้าวัดโคนอน เป็นประธาน โดยมีเป้าหมายให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนพื้นที่ทรัพยากรในการจัดทำกิจกรรมเชิงโครงสร้างตามแผนงานที่กำหนดขึ้นอย่างชัดเจน เกิดเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าที่ส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของคนภาษีเจริญอย่างครบวงจร อย่างย้อยประเภทละ ๑ เส้นทาง (อาทิจากซีคอนสแควร์มาสถานีรถไฟฟ้า, จากสำนักงานเขตมาสถานีรถไฟฟ้า ฯลฯ โดยมีระบบการดูแลความปลอดภัยอย่างครบวงจร เป็นต้น) และมีรูปแบบการรณรงค์ส่งเสริมให้คนภาษีเจริญมีกิจกรรมทางกายผ่านเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้า เนื่องจากชุมชนจักรยานหน้าวัดโคนอนเป็นชุมชนจักรยานแห่งแรกๆ ในประเทศไทยที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมีส่วนในการก่อตั้งในปี ๒๕๕๔ และได้ทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการใช้จักรยานมาโดยตลอด คุณเบิดจึงเชิญให้ชมรมฯ เข้าร่วมในคณะทำงานชุดนี้ด้วย
คณะทำงานฯได้จัดประชุมและกำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้คือ ถนนพุทธมณพลสาย ๑, ถนนเพชรเกษม, ถนนเทิดไท, ถนนราชพฤกษ์ และถนนบางแวก ถนนพุทธมณฑล สาย ๑ นั้น มีทางจักรยานแบบตีเส้นที่ทำไว้ในสมัยผู้อำนวยการเขตคนก่อน แต่ยังติดปัญหาขาดความปลอดภัย รถจอดทับ และชุมชนข้างถนนทำทางออกมาเชื่อมต่อ ส่วนถนนเพชรเกษมในเขตภาษีเจริญที่มองว่าควรมีทางจักรยานบนทางเท้าทั้งสองข้าง ปัจจุบันติดขัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่ทำได้และควรทำจึงเป็นการทำที่จอดจักรยานบริเวณป้ายรถเมล์ ส่วนการลงพื้นที่สำรวจเส้นทางจักรยาน ได้ไปสำรวจ ๓ พื้นที่ได้แก่ (๑) เส้นทางจากถนนเพชรเกษม ข้ามคลองภาษีเจริญ ผ่านวัดอ่างแก้ว เข้าไปชุมชนหน้าวัดโคนอน (๒) ถนนราชพฤกษ์ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส บางหว้า และ (๓) ถนนพุทธมณฑล สาย ๑ จากนั้น ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หนึ่งในสมาชิกคณะทำงาน ได้ออกแบบเส้นทางและที่จอดจักรยานให้
ตัวอย่างภาพแสดงทางที่ให้จักรยานใช้ร่วมกับคนเดินเข้าสู่ชุมชนหน้าวัดโคนอนในปัจจุบันและแบบที่เสนอให้ปรับปรุง
ภาพซ้ายคือซอยเพชรเกษม ๒๗ ตรงปากทางที่ถนนเพชรเกษม ภาพขวาเป็นทางเข้าชุมชนจากลานวัดโคนอน
ตัวอย่างภาพแสดงการออกแบบที่จอดจักรยานใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางหว้า และทางเข้าวัดประดู่ โรงเรียน และชุมชน จากถนนราชพฤกษ์
คณะทำงานได้นำผลการสำรวจและออกแบบมาเสนอคณะกรรมการอำนวยการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญในที่ประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ประชุมได้อภิปรายกัน โดยนายกวิน ชุติมา ตัวแทนชมรมฯ ที่เข้าประชุมครั้งนี้ได้ร่วมแสดงความเห็นว่าทางจักรยานที่จะใช้ได้จริงควรเป็นเช่นใด รวมทั้งความสำคัญของที่จอดจักรยาน ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการเลยสองจุดคือ ปรับปรุงทางจากถนนเพชรเกษมเข้าไปถึงในชุมชนหน้าวัดโคนอนให้ใช้จักรยานได้สะดวกขึ้น เช่นเดียวกับทำที่จอดจักรยานและทางจักรยานบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางหว้า บนถนนราชพฤกษ์เข้าไปสู่วัดประดู่ โรงเรียนบางจาก และชุมชนบริเวณนั้น ซึ่งทาง ผอ.เขตภาษีเจริญย้ำว่าเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ กทม.อยู่แล้วที่จะให้มีที่จอดจักรยานตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนทางจักรยานที่ถนนพุทธมณฑลสาย ๑ นั้น ที่ประชุมมีมติเลือกทำทางจักรยานแบบแยกส่วนจากถนนที่รถยนต์ใช้ ไม่ต้องไปแบ่งพื้นที่มาจากถนน ซึ่งทำได้เนื่องจากมีเขตทางอยู่ ๓-๕ เมตร และให้ทำไปพร้อมกับท่อระบายน้ำและทางเท้าที่ฝ่ายโยธาธิการมีแผนจะทำอยู่แล้ว โดยมอบหมายให้คณะทำงานไปหารือกับฝ่ายโยธาในเดือนกุมภาพันธ์นี้เลยว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนั้นทาง ผอ.เขตยังให้สนใจความสนใจกับทางจักรยานที่ชาวบ้าน-ชาวชุมชนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน ตัวแทนชมรมฯ จึงได้แนะนำว่าควรไปนำผลการศึกษาทางจักรยานชุมชนในเขตนี้ ที่ อ.กัญจนีย์เองเป็นหัวหน้าทีม ทำไว้แล้วมาพิจารณาได้เลยว่าจะดำเนินการอย่างไร
ภาพถนนพุทธมณฑลสาย ๑ แสดงทางจักรยานที่ทำไว้เดิมและที่ออกแบบใหม่ให้แยกไปจากถนน
หลังการประชุม ตัวแทนชมรมฯ ได้มอบเอกสารเรื่องการเดินการใช้จักรยาน ทั้งแผ่นพับและวารสารคลอโรฟิลล์ ให้ผู้อำนวยการเขตและคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยสยาม เพื่อให้ได้รับความรู้และใช้อ้างอิงในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
—————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)