Home / News and Events / News / “เดินและจักรยานเข้าไปอยู่ในผังเมืองแล้ว….ไชโย”

“เดินและจักรยานเข้าไปอยู่ในผังเมืองแล้ว….ไชโย”

 

      วันนี้วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2559  กรุงเทพมหานคร โดยสำนักผังเมืองได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในด้านความเหมาะสมในการเอาประเด็นผังเมืองมาส่งเสริมการพัฒนากรุงเทพชั้นในและชั้นกลาง ซึ่งเราก็มีตัวแทนเข้าไปร่วมให้ความคิดเห็นด้วยมาในหลายครั้ง

      มีข้อสรุปในส่วนที่เกี่ยวกับพวกเราและทำให้พวกเรายินดีโห่ร้องด้วยความยินดีได้เยอะทีเดียวค่ะ มาเล่าสู่กันฟังสั้นๆ ดังนี้นะคะ

  1. ข้อแรกเลย เขาสรุปว่า “ส่งเสริมการสัญจรรอบสถานีรถไฟฟ้า และส่งเสริมการเดินและใช้รถจักรยานให้มากขึ้น” นี่เป็นครั้งแรกเลยนะที่เขาเอาเรื่องนี้ไปใส่ในมาตรฐานทางผังเมืองอย่างชัดๆ ไม่ใช่พูดลอยๆ อย่างที่เคยทำมา….แบบนี้ก็ต้องไชโยสิคะ ใช่มั้ยละคะ

  2. ส่งเสริมให้เขตชั้นในและเขตชั้นกลางของกรุงเทพฯ เช่นแถวสีลม สนามหลวง เยาวราช บางซื่อ ดินแดง บางกอกใหญ่ ราษฎร์บูรณะ ฯลฯ เป็น ‘เมืองกระชับ’ หรือ compact city ซึ่งเมืองกระชับแบบนี้จะเหมาะแก่การเดินและการใช้จักรยานอย่างมาก เพราะการเดินทางจะสั้นๆ ไม่ไกลเกินไป ซึ่งนี่ก็จะเป็นโอกาสของพวกเราในการผลักดันขับเคลื่อนให้เรื่องเดินละจักรยานในวิถีชีวิตประจำวันไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายและเร็วขึ้น…..ต้องขอไชโยอีกทีละค่ะ

  3. “ควรสงวนและรักษาทางเท้า เพื่อลดปัญหาการจราจรจากการซื้อของ’ นี่ก็คงหมายถึงมีหาบเร่แผงลอยบนทางเท้ามากจนเดินไม่ได้ ต้องไปเดินบนถนนจึงเป็นปัญหาของคนเดินเท้ารวมทั้งคนขับรถ และนี่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังละเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เราเดินและขี่จักรยานได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้น….ได้มาอย่างนี้ก็ร่วมกันไชโยอีกสิคะ

  4. ‘ทำแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น เมืองผู้สูงอายุ เมืองภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น’

      ตรงนี้ชัดเจนว่าเมืองเราจะเป็นเมืองที่มี ‘คนแก่’ มากขึ้นๆและคนแก่นี่แหละที่เดินได้ไม่คล่องตัวเท่าคนหนุ่มสาว ซึ่งคน ‘ไม่แก่’ รู้กันไหมว่า คนแก่ก้าวเดินขึ้นลงที่ขอบทางเท้าสูงๆ ไม่ค่อยได้ ถ้าเราไม่ทำให้เมืองเราเดินได้ง่ายขึ้น คนแก่จะออกจากบ้านไม่ได้ และกลายเป็นคนพิการไปโดยปริยาย

      สำหรับเรื่องเมืองภัยพิบัติ ตรงนี้มีหลักฐานชัดเจนว่า ตอนเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ตึกถล่ม ไฟฟ้าดับ ปั๊มน้ำมันใช้งานไม่ได้ ถนนพัง ทำให้รถยนต์วิ่งไม่ได้ จะมีก็แต่จักรยานนี่แหละที่ขี่ไปมาได้ ตรงไหนขี่ลำบากก็ยังจูงไปต่อได้

      ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี่ชัดเจนว่า การเดินและการใช้จักรยานไม่ปล่อยมลพิษ จึงไม่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนไป  โลกก็จะไม่ร้อน ฝนตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาลก็จะไม่เกิดขึ้น เรื่องเดินและจักรยานจึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากถึงมากที่สุดทีเดียว

      ขอแถมนิดนึงว่า การผลักดันให้มีการสร้างทางจักรยานหรือทางเท้า ในเมืองนี่เป็นเรื่องดี ดีมากด้วย แต่ถ้าเราไม่ผลักดันแบบเป็นถนนทีละสาย ทีละถนน เราจะเป็นเมืองจักรยานได้ช้ามากเพราะบ้านเราเมืองเรามีถนนเป็นร้อยๆถนน มันคงไม่ทันการ วิธีที่ดีไปกว่านั้น คือ ผลักดันให้เรื่องเดิน และจักรยานนี้เข้าไปสู่ในระบบผังเมือง ซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่กว่าและใช้บังคับได้ทั้งเมือง

      ดังนั้นเมื่อเราผลักดันขับเคลื่อนจนเรื่องนี้เข้าไปสู่มาตรการทางผังเมืองได้สำเร็จนี่ก็เป็นความสำเร็จร่วมกันของพวกเราทุกคน ก็ขอแสดงความยินดีต่อพวกเราทุกคนด้วยค่ะ

20160825_101531 (1)

Comments

comments

Check Also

การเปิดรับบทคัดย่อและผลงานวิจัยด้านการเดินและจักรยาน Thailand Bike and Walk Forum ครั้งที่ 5