ประเด็นเดินและจักรยานเข้าสู่แผนแม่บท สผ. แล้ว
หลังจากที่ชมรมฯได้มีหนังสือไปถึง สผ. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ขอให้ สผ. นำเอาประเด็นการเดินและการใช้จักรยานไปบรรจุอยู่ในแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2555 – 2593 อย่างที่ชมรมฯได้เคยเล่าให้พวกเราฟังไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตอนนี้จากข่าวล่ามาเร็ว พบว่า ประเด็นนี้ได้ถูกนำไปบรรจุไว้ในแผนแม่บทฯอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเราก็หวังว่าการผลักดันเรื่องเดินและจักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะจะทำได้ง่ายขึ้น และได้รับการตอบรับจากหน่วยงานของรัฐมากขึ้น (ไชโย้, ขอแอบไชโยนิดหน่อยนะครับ) อย่างไรก็ตาม ชมรมฯก็ยังได้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมไปจากนั้นอีก และชมรมได้ทำหนังสือแจ้งข้อคิดเห็นเพิ่มเติมนี้ไปยังสผ. ตามฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2555
รายละเอียดดังเนื้อหานี้ >>>>>
ที่ จสท.062/2555
28 กันยายน 2555
เรื่อง ข้อคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2555-2593 ฉบับแก้ไขล่าสุด(สิงหาคม 2555)
เรียน คุณวิจารย์ สิมาฉายา
เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ก่อนอื่นชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (Thailand Cycling Club: TCC) ขอขอบคุณสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในการนำประเด็นการเดินและการใช้จักรยาน เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปเพิ่มเติมในแผนแม่บทฯ ตามที่ชมรมฯได้เสนอแนะไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 โดยหนังสือที่ จสท.044/2555 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2555
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์หัวข้อนี้เพิ่มเติม พบว่า สผ. 1) ได้นำประเด็นการเดินและการใช้จักรยาน ซึ่งเป็นการขนส่งเบา (Light Transportation) และเหมาะสมต่อการเดินทางในระยะสั้นสำหรับวิถีชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ไปผนวกรวมอยู่ในหัวข้อ‘การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ฯลฯ’
อันน่าจะเป็นระบบขนส่งขนาดใหญ่ ตลอดจน 2) ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (คค.) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลประเด็นนี้
ซึ่งชมรมฯ มีข้อคิดเห็นสำหรับกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. เห็นควรแยกประเด็นการเดินและการใช้จักรยาน ซึ่งเป็นการขนส่งเบา แยกออกต่างหากจากการขนส่งขนาดใหญ่ ด้วยมีลักษณะอันเป็นการเฉพาะตัว
2. เห็นควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ เช่น กทม. เมืองพัทยา ฯลฯ เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านการเดินและการใช้จักรยาน โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักในระดับรอง เพราะภารกิจและพันธกิจนี้เป็นบทบาทและความผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่ากระทรวงคมนาคม
และชมรมฯ ขอถือโอกาสนี้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นคำศัพท์และความหมายของศัพท์ ดังต่อไปนี้
1. Global Warming หากแปลว่า ‘ภาวะโลกร้อน’ จะทำให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน ซึ่งมักไปผูกโยงกับ‘ภาวะอากาศร้อน’ โดยเฉพาะในยามอากาศร้อนผิดปกติในฤดูร้อน ซึ่งทำให้การจัดการและการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกชักนำให้ไปดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องและไม่ตรงกับปัญหาได้มาก จึงขอเสนอให้ใช้ศัพท์บัญญัติว่า ‘การอุ่นโลก’ ซึ่งตรงกับความหมายทั้งในเชิงของรากศัพท์ภาษาอังกฤษและความหมายทางวิชาการ
2. mitigation หากแปลหรือบัญญัติศัพท์ว่า ‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก GHG’ อาจไม่ตรงกับความหมายนัก เพราะ mitigation อาจไม่ใช่การลดการปล่อย GHG แต่เพียงอย่างเดียว และอาจเป็นการลดผลกระทบด้วยก็ได้
นอกจากนี้การให้ความหมาย mitigation เป็นว่า ‘การดำเนินการใดๆเพื่อลดการดูดกลืนรังสีความร้อนของก๊าซเรือนกระจก’ ก็อาจสื่อความหมายที่ไม่ตรงกับทางวิชาการ เพราะการลดการดูดกลืนอาจไม่ใช่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ได้
3. ก๊าซเรือนกระจก หากให้ความหมายเป็น‘ก๊าซและไอน้ำ ที่มีความสามารถในการดูดกลืนความร้อนในชั้นบรรยากาศโลก’ นั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะจริงๆแล้วควรให้ความหมายเป็น ‘ก๊าซหรือไอของน้ำ (water vapor ซึ่งไม่ใช่ไอน้ำอันหมายถึง steam) ที่สามารถดูดซับและถ่ายเทความร้อนออกทุกทิศทาง ซึ่งมีผลทำให้เกิดการกันการถ่ายเทความร้อนออกสู่นอกบรรยากาศโลก ซึ่งทำให้ความร้อนถูกกักอยู่ในชั้นระหว่างผิวโลกกับชั้นบรรยากาศ และทำให้อุณหภูมิบรรยากาศของโลกสูงขึ้นในระยะยาวได้’
จึงนำเสนอมาเพื่อพิจารณา
อนึ่ง ชมรมฯ ขอขอบคุณสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้สังคมไทยรวมทั้งชมรมฯได้มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นต่อการกำหนดนโยบายและแผนของหน่วยงาน เพื่อผลักดันให้แผนแม่บทฯ บรรลุตามเจตนารมณ์ที่ได้กำหนดไว้
ขอแสดงความนับถือ
(ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์)
ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
ติดต่อประสานงาน
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 02 618 4434 โทรสาร 02 618 4430 email; tcc@thaicyclingclub.org