ก่อนอื่นผมขอเกริ่นไว้ในช่วงแรกนี้สักสองสามเรื่อง เรื่องแรก คือ ทางเท้ากับทางจักรยานนี้จริงๆ แล้วเป็นของคู่กัน เวลาจะวางแผนหรือกำหนดนโยบาย หรือออกแบบ หรือแม้กระทั่งเอามาใช้งานจริงๆ
มันต้องทำไปพร้อมๆกัน ซึ่งในการนี้ต้องพิจารณาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ครบ อันหมายรวมไปถึงคนพิการ
คนสูงอายุ คนด้อยโอกาส เด็กเล็ก หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์ ตำรวจ รวมทั้งตำรวจจราจร ฯลฯ
ส่วนเรื่องที่สอง ขอเกริ่นเพิ่มว่า เรื่องการออกแบบทางเท้าทางจักรยานนั้น ใครๆก็มองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ใช้เทคโนโลยีไม่สูง ใครๆก็น่าจะทำได้ ออกแบบได้ สร้างได้ เอามาใช้ได้ แต่อยากขอให้ชำเลืองไปดูสภาพความเป็นจริงในพื้นที่กรุงเทพมหานครของเราดูว่ามันใช้งานได้จริงไหม คนที่เดินเท้าบนทางเท้าอยู่ทุกวันอย่างผม บอกได้โดยไม่ลังเลว่า มันใช้งานไม่ได้จริงและไม่สะดวก นับตั้งแต่ต้องเดินลงเมื่อสุดทางเท้าและเดินขึ้นใหม่เมื่อเจอขอบทางเท้าถัดไป หรือต้องลงไปเดินบนถนนเมื่อทางเท้าถูกผู้คนยืนชมสินค้าและซื้อของจากหาบเร่
แผงลอยแย่งพื้นที่ไปจนไม่มีทางจะให้เดิน ดังนั้นเรื่องทางเท้าทางจักรยานไม่ใช้งานหมูๆ ไม่ใช้สักแต่ให้ผู้ว่าฯสั่งแล้วก็แล้วกัน ว่าจะเอาทางเท้าทางจักรยานอีกกี่เส้น กี่กิโลเมตร แล้วไม่ไปดูว่ามันใช้งานได้ไหม แบบนี้ทำไปอีกเป็นชาติก็คงไร้ผลเช่นเดิม
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องหลักของวิธีคิดในประเด็นนี้ คือ ของบางอย่างใช้งานบางอย่างได้ แต่ใช้งานอีกบางอย่างไม่ได้ เช่น ทางเท้าที่ทำให้คนธรรมดาเดินได้แต่คนพิการอาจใช้ไม่ได้ก็ได้ เป็นต้นว่าขอบทางเท้าสูงไป ไม่มีทางลาด คนพิการใช้เก้าอี้ล้อเข็นขึ้นไม่ได้ หรือใช้งานทางเท้าฝั่งนี้ได้แต่ข้ามถนนไปใช้ทางเท้าอีกฝั่งไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นหลักคิดของการออกแบบและก่อสร้างในกรณีนี้คือต้องทำให้คนทุกคนใช้งานได้ อย่างที่กำลังฮิตเรียกกันอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นการออกแบบแบบ Universal Design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลนั่นเอง
ตรงนี้มีข้อคิดเป็นหลักอยู่ว่า ทางเท้าใดที่ดีพอสำหรับคนพิการก็จะดีพอ(หรือดีมาก)สำหรับคนไม่พิการ และทางเท้านั้นใช้เป็นทางจักรยานก็ได้ด้วยถ้าทางนั้นกว้างพอ ฉะนั้นหลักคิดโดยสรุป คือ ออกแบบและก่อสร้างทางเท้าให้คนพิการใช้ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะจบเบ็ดเสร็จได้ในตัวของมันเอง
คราวนี้ก็มาถึงข้อเสนอแนะของผม ซึ่งผมมีสี่ข้อที่อยากเสนอ
ข้อแรกคือ ทำทางเท้าให้มันเดินได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเดินขึ้นเดินลงเมื่อสุดขอบทางเท้าและเดินไปถึงขอบทางเท้าใหม่อีกอัน ตรงนี้ขอให้นึกภาพตรงทางแยกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสี่แยก สามแยก หรือแยกจากถนนใหญ่เข้าถนนซอยย่อย ซึ่งเราจะต้องเดินลงจากทางเท้าไปเดินบนถนนและก็เดินข้ามถนนไปจนถึงทางเท้าอีกฝั่งแล้วจึงก้าวขึ้น ซึ่งไม่สะดวกเลยสำหรับคนพิการ คนสูงอายุ คนที่มีปัญหาปวดเข่า หรือแม้แต่คนปกติธรรมดา พวกเราถึงเรียกร้องให้มีทางลาดตรงขอบทางเท้านั้น ซึ่งถ้าออกแบบได้ดี สร้างได้ดี คนพิการใช้ได้ คนไม่พิการใช้ได้ คนใช้จักรยานก็จะใช้ได้
แต่สิ่งที่ผมอยากจะปรารภเพิ่มเติมในส่วนนี้ก็คือ การออกแบบทำทางลาดที่ขอบทางเท้าบริเวณทางแยกให้เดินขึ้นลงได้สะดวกแบบนี้ พวกเรายอมรับได้เฉพาะตรงที่มีรถวิ่งผ่านแยกกันตลอดวัน แต่ ทางที่ดีแล้วมันไม่ควรมีแม้กระทั่งทางลาดโดยทางเท้าควรวิ่งต่อเนื่องไปยังอีกฝั่งของถนนโดยไม่ต้องมีขึ้นหรือลง ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะถนนนั้นเป็นเรื่องของสาธารณะและมีรถวิ่งผ่านแยกนี้ตลอดทั้งวันจึงต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน และการที่จะให้รถยนต์วิ่งขึ้นบนทางเท้าช่วงที่พาดผ่านถนนและวิ่งลงเมื่อหมดขอบทางเท้าไปวิ่งบนถนนต่อ มันไม่ได้อย่างที่พูดไว้แล้วอันนี้คนเดินเท้าก็ยอมรับและต้องเดินขึ้นเดินลงอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ทางเท้าที่ต้องเดินขึ้นเดินลงเมื่อผ่านทางรถเข้าบ้าน |
แต่ทว่า ถ้าไม่ใช่ทางแยกบนถนนสาธารณะแต่เป็นทางรถยนต์เข้าบ้านคนล่ะ รถพวกนี้เข้าออกจากบ้านวันละหน แต่ทำไมคนอีกเยอะแยะต้องเดินขึ้นเดินลงตามทางเท้าอยู่ตลอดทั้งวันเมื่อเดินผ่านหน้าบ้านเขาเหล่านี้ ทำไมเราไม่ทำทางเท้าให้เดินได้ต่อเนื่องเมื่อผ่านบ้านคนมีรถยนต์พวกนี้ แล้วทำทางลาดให้รถยนต์ไต่ขึ้นลงทางเท้าเมื่อจะเข้าบ้านเขาล่ะ ด้วยวิธีคิดแบบนี้และการออกแบบแบบนี้ทางเท้าก็จะชวนเดิน และคนก็จะเดินมากขึ้น คนพิการก็ใช้งานได้สะดวกขึ้น เมืองของเราก็จะน่าอยู่เพิ่มขึ้น
ทางเท้าที่สร้างต่อเนื่อง ซึ่งรถยนต์ต้องไต่ขึ้นลงทางลาดเพื่อจะเข้าบ้าน |
ข้อเสนอแนะข้อที่สองอยากให้ผู้ว่าฯทำทางเท้าให้มันเรียบ คือเดินแล้วไม่สะดุด ณ ปัจจุบันกทม.และเทศบาลต่างๆทั่วประเทศนิยมใช้อิฐตัวหนอนหรือแผ่นซีเมนต์บล๊อกมาปูเป็นทางเท้า ซึ่งเมื่อทรุดตัวหรือเมื่อรากต้นไม้มาดัน ตัวแผ่นก็จะราบไม่เสมอกัน เกิดการกระเดิดทั่วไปหมดเป็นจุดๆ ซึ่งคนสูงอายุคนพิการเมื่อเดินมาถึงก็จะสะดุดหกล้มได้ง่าย และคนแก่นี้ล้มแล้วกระดูกหักได้ง่ายมาก จึงควรต้องหามาตรการแก้ไขให้เรียบร้อย
สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหานี้มี 2 วิธี หนึ่งคือ การเทคอนกรีตรองพื้นไว้ข้างล่างและปูอิฐหรือแผ่นพื้นไว้ด้านบนแบบที่ทำไว้อยู่ที่ถนนพหลโยธินจากอนุสาวรีย์ชัยฯไปถึงสะพานควาย แบบนี้จะลดหรือขจัดปัญหาการกระเดิดของแผ่นไปได้ อีกวิธีคือเปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง โดยใช้วิธีปูทางเท้าด้วยคอนกรีตยางมะตอยหรือแอสฟัลติกคอนกรีต แบบที่ใช้ทำถนน แต่ไม่จำเป็นต้องแข็งแรงเท่า วิธีหลังนี้แม้จะแพงแต่ดีสำหรับรากต้นไม้กว่าวิธีแรก ส่วนในช่วงที่ยังไม่ได้แก้ไขหรือแก้ไขไม่ได้ด้วย 2 วิธีที่ว่านี้ ผู้ว่าฯก็ต้องใช้วิธีบำรุงรักษามาช่วยแก้ไขไปก่อน คือ ซื้ออิฐหรือแผ่นมาปูใหม่ให้เรียบ ซึ่งแบบนี้ทำได้เร็วและทำได้ทันที เพียงแต่ผู้ว่าฯจัดงบลงมาเท่านั้น
ข้อสาม…หากจะปรับแผนทำทางเท้าใหม่ให้ชวนเดิน ผู้ว่าฯต้องประสานกับองค์การโทรศัพท์ ทีโอที กสท. การประปาฯ การไฟฟ้าฯ มาจัดแถวให้สิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตู้โทรศัพท์ กล่องชุมสายโทรศัพท์โทรคมนาคม เสาไฟฟ้า หัวดับเพลิง ป้ายรถเมล์ และต้นไม้ของกทม.เองให้มาอยู่ในแนวเดียวกัน ไม่ใช่อยู่ซ้ายทีขวาทีแบบที่ทำอยู่กันเป็นปกติในปัจจุบัน ซึ่งทำให้คนเดินเท้าหรือขี่จักรยานต้องทำตัวเหมือนนักรักบี้นักฟุตบอลที่ต้องเดินยักไปยึกมา ซึ่งไม่สะดวกและไม่ชวนเดินเอาเสียเลย
ข้อสี่…พอมีทางลาดริมขอบทางเท้าแล้ว และมีการจัดทางเท้าให้ไม่กระเดิดแล้ว รวมทั้งมีการจัดสาธารณูปโภคให้อยู่ในแนวเดียวกันแล้ว คราวนี้ก็มาถึงปัญหารถยนต์และมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาใช้งานบนทางเท้า ซึ่งอันตรายต่อคนเดินเท้าอย่างมาก และนับวันพวกนี้จะกล้าหาญฝ่าฝืนกฎจราจรขึ้นมากทุกวัน ทางแก้จึงต้องมีราวเหล็กหรือท่อเหล็กกั้นไว้ตามทางลาดและทางแยกเหล่านั้น เพื่อกันไม่ให้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาใช้อย่างเด็ดขาด
ตัวอย่างราวเหล็กกั้นมอเตอร์ไซค์เข้าทางเท้า |
ส่วนเรื่องหาบเร่แผงลอยที่มาเกะกะการใช้ทางเท้าของทุกคนนั้น ผู้ว่าฯทุกคนทราบดีว่าเป็นเช่นไร แต่ก็เห็นแก้ไขไม่ได้สักคน ซึ่งผมจะละเอาไว้ให้เป็นภาระและภารกิจของผู้ว่าฯคนต่อไปก็แล้วกัน ว่าจะมีฝีมือแก้ปัญหานี้เพียงใด
ผู้ว่าฯครับ ถ้าท่านลองทำแบบที่ผมเสนอผมเชื่อว่าท่านจะได้คะแนนนิยมสูงมาก เพราะทุกคนในกทม.ต้องเดินบนทางเท้าไม่ว่าจะมากหรือน้อย และทุกคนเอือมระอากับทางเดินที่เดินไม่ได้นี้มานานแล้ว ท่านลองเอาวิธีแก้ไขที่เป็นรูปธรรมแบบนี้ไปทำเป็นสัญญาประชาคมและปฏิบัติจริง แทนการพูดหาเสียงแบบลอยๆไปวันๆ น่าจะดีกว่านะครับ
อ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
15 ก.พ.56