พนัสนิคม ปั่นด้วยใจ ปลอดภัยทุกเส้นทาง
เมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญจากชมรมจักรยานพนัสไบค์ ไปเป็นวิทยากรในการจัดงาน “ปั่นด้วยใจ ปลอดภัยทุกเส้นทาง” เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการใช้จักรยานและการสร้างชุมชนจักรยาน-เมืองจักรยาน แก่นักจักรยานและเยาวชนในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ณ ห้องประชุม โรงเรียนเทศบาล ๔ เทศบาลเมืองพนัสนิคม โดยการจัดงานครั้งนี้มีเด็กนักเรียนประมาณ ๑๐๐ คนจากห้าโรงเรียนในเขตเทศบาลและนักจักรยานชาวพนัสนิคมจำนวนหนึ่งเข้าร่วม
งานเริ่มด้วยการรายงานความเป็นมาโดยคุณประยุทธ์ กาญจนางกูลพันธ์ ซึ่งนอกจากเป็นประธานชมรมจักรยานพนัสไบค์แล้ว ยังเป็นเลขานุการของนายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคมอีกด้วย และการกล่าวเปิดงานโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพนัสนิคม ซึ่งได้กล่าวชื่นชมการจัดงานครั้งนี้ที่นำเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเมืองพนัสนิคมมาใช้ว่า นอกจากการใช้จักรยานจะเป็นการออกกำลังกายส่งเสริมให้มีสุขภาพดีแล้ว ยังเป็นอีกแนวทางในการลดคาร์บอนด้วย โดยตัวนายกฯเองเป็นประธานโครงการเมืองคาร์บอนต่ำของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยอยู่ด้วย จากนั้นวิทยากรและผู้เข้าร่วมทั้งหมดออกขี่จักรยานรณรงค์อย่างช้าๆ ไปรอบๆ ย่านกลางเมืองพนัสนิคม ผ่านตลาด ชุมชน สถานที่สำคัญต่างๆ แล้ววกกลับมาที่โรงเรียน
ขบวนรณรงค์ ปั่นด้วยใจ ปลอดภัยทุกเส้นทาง เชิญชวนให้ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคมหันมาใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวัน |
เสร็จจากการรณรงค์ก็เป็นช่วงการให้ความรู้จากชมรมฯ เริ่มต้นด้วยการบรรยายของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ฉายภาพร่วมกัน ผลักดันพนัสนิคม… สู่ชุมชนจักรยาน”
อ. ธงชัย ชวนเชิญชาวพนัสนิคม มาร่วมกันสร้างชุมชนจักรยาน |
อาจารย์ธงชัยบอกว่าเห็นด้วยกับ ดร.เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงค์ เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปที่ได้มาขี่จักรยานในกรุงเทพฯ และบอกว่ากรุงเทพฯ ยังเป็น “เมืองจักรยาน” ไม่ได้ ทั้งการสร้างเมืองจักรยานไม่ควรเลียนแบบยุโรป แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย เมืองที่เล็กลงมาหรือชุมชนอย่างดงกลาง(จ.พิจิตร)หรือพนัสนิคมเป็นชุมชนจักรยาน-เมืองจักรยานได้ และได้ฉายวิดิทัศน์ประสบการณ์การสร้างชุมชนจักรยานที่ ต.ดงกลาง อ.เมือง จ.พิจิตร ให้ผู้เข้าร่วมงานดู อาจารย์ธงชัยย้ำว่าเราควรมองจักรยานเป็นเครื่องมือในการทำให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น และคิดว่าจะใช้จักรยานทำให้เมืองน่าอยู่ได้อย่างไร
จากนั้น คุณอิทธิพล บารมีเกรียงไกร หรือวีโนโน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของชมรมฯ เข้ามารับช่วงต่อในการให้ความรู้กับเด็กนักเรียน โดยมีคุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ คอยเสริม “พี่วี” เปิดฉากด้วยการแนะนำน้องๆ ว่าจักรยานแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆอย่างไรบ้าง และตัดเข้าสู่ช่วงสำคัญเลย นั่นคือการแนะนำวิธีการขี่จักรยานให้ปลอดภัย โดยแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือการทำความรู้จักและปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรต่างๆ ซึ่งคุณกวินเสริมว่า ตาม พรบ.จราจรทางบกแล้ว จักรยานมีศักดิ์มีศรีเท่ากับรถยนต์ทั้งหลาย และก็ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรเดียวกัน เช่น ต้องไม่ฝ่าไฟแดง ต้องหยุดหลังเส้นขาวที่ทางแยก นอกจากนั้นควรขี่ชิดขอบทางด้านซ้าย (นอกจากในช่วงที่แซงขึ้นไป) ฯลฯ
ส่วนที่สองคือการใช้สัญญาณมือ เนื่องจากจักรยานไม่มีไฟสัญญาณเหมือนยานยนต์ต่างๆ เมื่อจะเปลี่ยนทิศทางหรือหยุด ผู้ขี่ก็ต้องใช้มือ(และแขน)ในการให้สัญญาณ ซึ่งพี่วีได้สอนด้วยการสาธิตให้ดู และให้น้องๆส่วนหนึ่งออกมาเป็นอาสาสมัครฝึกทำตาม และคุณกวินเสริมว่า เนื่องจากต้องใช้สัญญาณมือ ผู้ใช้จักรยานต้องขี่จักรยานมือเดียวได้ เพื่อให้สามารถใช้มืออีกข้างให้สัญญาณ จึงต้องฝึกให้คล่อง ไม่ให้เสียการควบคุมรถเวลาให้สัญญาณ ที่ต่างประเทศเขาพูดเลยว่า ถ้าขี่จักรยานมือเดียวและใช้สัญญาณมือไม่ได้ก็ไม่ควรขี่จักรยานออกมาบนท้องถนน
จากนั้น พี่วีได้สอนการปะยางกับน้องๆ แต่เนื่องจากเวลาจำกัด และอุปกรณ์ไม่พร้อม จึงไม่สามารถฝึกฝนได้อย่างจริงจัง ท้ายสุดคุณกวินได้แนะนำว่าการดูแลจักรยานให้อยู่ในสภาพดีพร้อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ขี่ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น เช่น เรียนรู้การใช้เบรกหน้า-เบรกหลัง และตรวจว่าเบรกใช้ได้ดีทุกครั้งก่อนขี่ออกไป, การตรวจยางว่ามีลมเพียงพออยู่เสมอโดยเฉพาะก่อนเดินทาง, และการมีอุปกรณ์ความปลอดภัยของจักรยานที่ใช้ได้ดี ซึ่งตามกฎหมายแล้ว นอกจากเบรก ก็ต้องมีกระดิ่ง(หรืออุปกรณ์บอกว่าจักรยานกำลังมาแล้วนะ เพราะจักรยานเป็นพาหนะที่เงียบ) และไฟหน้า(สีขาว)กับไฟท้าย(สีแดง)เมื่อขี่ในเวลากลางคืน
ปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามให้น้องๆออกมาตอบในเรื่องต่างๆที่ให้ความรู้ไป ซึ่งน้องๆก็ตอบกันได้ถูกต้อง รับรางวัลกันไปถ้วนหน้า เป็นอันเสร็จกิจกรรมช่วงเช้าที่ชมรมฯ รับผิดชอบ ในช่วงบ่ายของงานเป็นการพูดในหัวข้อ “นักปั่น…สู่นักแข่งมืออาชีพ” โดยคุณปราจีน รุ่งโรจน์ อดีตนักกีฬาและโค้ชจักรยานทีมชาติไทย ซึ่งปัจจุบันก็ยังรับสอนการขี่จักรยานทุกประเภทอยู่เป็นอาชีพ
ชมรมฯไม่ได้อยู่ร่วมรายการช่วงบ่าย แต่ได้เดินทางไปเยี่ยมเคารพคุณหมอกฤษฎา บานชื่น ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีคุณูปการต่อการขี่จักรยานในประเทศไทยอย่างมาก โดยเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการขยายวงการขี่จักรยานจากการเป็นกีฬามาสู่การขี่จักรยานเพื่อสุขภาพและนันทนาการ ด้วยการเขียนหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก และการส่งเสริมการใช้จักรยานใน จ.ชลบุรี จนเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีนักจักรยานมากที่สุดของไทย
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
27 มิ.ย. 56