ในระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา สหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อการส่งเสริมและการศึกษาด้านสุขภาพ (International Union for Health Promotion and Education – IUHPE) ได้มาจัดการประชุมโลกครั้งที่ 21 ขึ้นที่เมืองพัทยาของไทย โดยมี สสส. ซึ่งเป็นสมาชิก IUHPE เป็นเจ้าภาพ และมีผู้เข้าร่วมประชุมเกือบ 2,200 คน จากกว่า 80 ประเทศ
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ส่งผลงานเข้าแข่งขันกับคนจากทั่วโลกกว่า 2,000 ราย โดยชมรมฯ ส่งการนำเสนอด้วยปากเปล่า 1 เรื่อง และการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ 5 เรื่อง และได้รับการคัดเลือกทั้งหมด
ซึ่งผลงานดังกล่าวได้แก่ (1) Preferred choice of pedestrian road crossing in Bangkok (ทัศนคติของคน กทม. ในการเลือกใช้อุโมงค์ลอดถนน เมื่อเทียบกับการเดินข้ามสะพานลอย หรือเดินข้ามทางม้าลาย) ของ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล (2) Motivations, constraints and behaviors of bicyclists in Thonburi, Thailand (แรงกระตุ้น ขีดจำกัด และพฤติกรรมของคนใช้จักรยานในเขตธนบุรี ประเทศไทย) ของ อาจารย์ศิริก้อย ชุตาทวีสวัสดิ์ (3) Factors affecting decision on bicycle daily uses for bike users in Thailand (ปัจจัยที่ทำให้คนใช้จักรยานอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน) (4) Factors affecting decision on bicycle daily uses for non-bike users in Thailand (ปัจจัยที่ทำให้คนที่ยังไม่ได้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันหันมาใช้) ของคุณวิยดา ทรงกิตติภักดี และคณะ ซึ่งเนื้อหาของโปสเตอร์ทั้งสามชิ้นหลังนี้มาจากผลงานวิจัยที่ทำใน 9 จังหวัดในปี 2554ให้เป็นตัวแทนของประเทศไทย และ (5) Health-risk perception and attitude toward walking and bicycling among the urbanized population(ภาวะสุขภาพ การรับรู้ และทัศนคติต่อการเดินและการใช้จักรยานของประชาชนในเขตเมือง) ของ ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์
ส่วนการนำเสนอด้วยปากเปล่านั้นเป็นเรื่อง Promotion of Walking and Cycling in Daily Activities: A Best Investment for Health (การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน: การลงทุนที่ดีที่สุดประการหนึ่งเพื่อสุขภาพ) ซึ่งคุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯเป็นผู้นำเสนอในห้องที่มีหัวข้อ Health enhancing physical activity and the built environment (กิจกรรมทางกายที่เสริมสร้างสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่ทำขึ้นมาเพื่อการนี้) ในห้องมีผู้นำเสนอ 5 คน อีกสี่คนมาจากไต้หวัน สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย
คุณกวินได้นำเสนอกระบวนการที่ชมรมฯ เป็นผู้ขับเคลื่อนจนได้ออกมาเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 เรื่อง “ระบบและโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ซึ่งต่อมาได้ผ่านการรับรองของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกำลังรอนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติต่อไป โดยชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในฐานะที่เป็นกิจกรรมทางกายเพื่อป้องกันและลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น ไม่เพียงแต่มุ่งตรงไปยังสาเหตุหลักของปัญหาสุขภาพใหญ่ที่คุกคามชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก หากยังมีผลในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คมนาคมขนส่ง พลังงาน และสังคมวัฒนธรรมอื่นๆด้วย ซึ่งสามารถคิดออกมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่วัดได้ ดังนั้นการผลักดันเรื่องการเดินและการใช้จักรยานเข้าไปสู่กลไกการบริหารประเทศระดับชาติจึงไปการนำประเด็นสุขภาพเข้าไปอยู่ในนโยบายด้านอื่นๆ ของรัฐ (มติสมัชชาสุขภาพฯ เรียกร้องให้มีการดำเนินงานของกระทรวงต่างๆ 10 กระทรวง) ตรงกับแนวการทำงานสุขภาพขององค์การอนามัยโลกในขณะนี้คือ Health in All Policies (HiAP) และเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดประการหนึ่งเพื่อสุขภาพ
— นักวิชาการต่างประเทศให้ความสนใจการทำงานของชมรมฯ และชื่นชอบใน logo ibike iwalk —
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
(2 กันยายน 2556)