ประท้วง (ปิดถนน) – สวรรค์ของนักปั่นจักรยาน
สรินยา วัฒนสุขใจ
ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้เดินและปั่นจักรยาน รวมทั้งชักชวนคนให้มาทำแบบเดียวกันมากว่า 20 ปีแล้ว
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมประจำวันที่สำคัญสำหรับอาจารย์ทางวิศวกรรม ซึ่งเกษียณจากจุฬาฯผู้นี้ ทุกๆ เช้าอาจารย์จะวิ่งจ๊อกกิ้งแถวถนนสุขุมวิท และทุกบ่ายอาจารย์จะปั่นจักรยานแบบอยู่กับที่และอ่านหนังสือพิมพ์ไปพร้อมๆ กัน แต่โชคไม่ค่อยดีเดี๋ยวนี้อาจารย์มีภารกิจรัดตัว จึงไม่ได้ปั่นจักรยานมากเท่าสมัยก่อนแล้ว
ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา อาจารย์ธงชัยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุมวิชาการการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 2: การเดินและจักรยาน ปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง ในบริบทไทย สำหรับชุมชนจักรยานประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศ เพื่อที่จะมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ว่าจะปรับปรุงกลุ่มจักรยานของตนให้ดีขึ้นได้อย่างไร
โดยที่ย้ำว่าไม่ได้เอนเอียงไปในประเด็นทางการเมืองใดๆ อาจารย์ได้บอกกับ “ไลฟ์” ว่าอาจารย์เชื่อว่า‘การปิดกรุงเทพฯ’เมื่อเร็วๆนี้ดีต่อเมืองกรุงเทพ อย่างน้อยก็ดีต่อคนขี่จักรยานและคนเดินเท้า
การปิดถนนที่หลายสี่แยกในเขตกลางเมือง ได้ทำให้คนขับรถยนต์ส่วนตัวหลายคน หรือมากกว่าครึ่ง หยุดขับรถยนต์ ซึ่งทำให้คุณภาพอากาศในกทม.ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างอากาศที่เก็บและวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างวันที่ 7-14 มกราคม 2557 ได้ชี้ให้เห็นว่าอนุภาคขนาดเล็กมาก(เล็กกว่า 10 ไมครอน) ใน 4 พื้นที่ลดลงอย่างมากหลังจากที่มีการปิดทางแยกหลักไป 7 จุด
สี่พื้นที่ที่ว่าคือ สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม โรงเรียนนนทรีวิทยา และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ก่อนที่จะมีการปิดถนนในวันที่ 13 มกราคม ระดับอนุภาคในอากาศในเมืองมีค่าสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หลังจากการปิดเมืองตัวเลขนี้ลดลงจาก 100 เหลือ 43 ในพื้นเขตจตุจักร, 127 เหลือ 57 ที่เขตยานนาวา, 162 เหลือ 67 ที่เขตปทุมวัน, และ 56 เหลือ 18 ที่เขตลาดพร้าว
ก่อนที่กรุงเทพฯจะคืนสภาพมาสู่ความสับสนจอแจ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม การปิดเมืองนั้นก็ได้ทำให้อากาศสะอาดขึ้น และถนนโล่งจนเป็นสวรรค์ของผู้ใช้จักรยาน
สถิติคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นนั้นเป็นอย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
จากตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าฝุ่นที่เราหายใจเข้าไปได้ลดลงเมื่อมีการปิดเมือง ทำให้เรารู้ได้ชัดเจนว่า ถ้าเราสามารถลดจำนวนรถยนต์ลงได้ คุณภาพอากาศจะดีขึ้นและเมืองจะเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน ประชาชนจะพึ่งรถส่วนตัวน้อยลง และพึ่งสองขารวมถึงสองล้อมากขึ้น เมืองก็จะกลายเป็นเมืองน่าอยู่ขึ้นมาทันที
ทำไมอาจารย์จึงอยากให้ประเทศไทยเป็นมิตรต่อคนเดินเท้าและคนใช้จักรยาน
ผมเคยไปประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว และอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้จักรยานได้ง่ายและสะดวกแบบนั้นบ้าง พอกลับมาผมก็เริ่มชักชวนคนไทยให้หันมาใช้จักรยานเหมือนฝรั่งในประเทศตะวันตก ผมอยากให้ทุกคนเลิกใช้รถยนต์และหันมาใช้จักรยานในการเดินทาง ตอนนั้นผมได้แนะนำให้แต่งตัวให้รัดกุมและปลอดภัยสูงสุดด้วย เช่นให้แต่งกายด้วยชุดจักรยานและใส่หมวกกันน็อกแบบเต็มยศ
แต่หลังจากนั้นอีก 10 ปี ผลปรากฏว่าไปได้ไม่ถึงไหน จำนวนคนใช้จักรยานไม่เพิ่มมากนัก การปั่นจักรยานก็ดูเหมือนจะนิยมกันในหมู่หรือกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น
ผมจึงฉุกคิดว่าผมอาจจะเดินผิดทาง การเดินทางไกลๆในเมืองด้วยจักรยานซึ่งต้องแต่งตัวเต็มยศ อาจจะไม่ใช่คำตอบของประเทศเราก็ได้
แล้วเมื่อไรที่อาจารย์เห็นว่าเริ่มเดินถูกทางแล้ว
ผมกลับไปที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และอีกหลายประเทศในยุโรปอีกหลายครั้ง เพื่อไปประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องจักรยานนี่แหละ ผมได้สังเกตว่าคนในสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation:ECF ) พูดกันถึงการใช้จักรยาน‘ในละแวกบ้าน’แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงการขี่จักรยานข้ามเมืองกันมากเท่าไรนัก
ระยะทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชาวบ้านในการขี่จักรยานในเมืองคือ ไม่เกิน 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางในละแวกชุมชน เพื่อไปตลาด หรือไปทำธุระเล็กๆ น้อยๆ ในพื้นที่ชุมชนนั้นเอง
ผมจำได้ว่า ผมทึ่งมากกับจำนวนคนใช้จักรยานในเนเธอร์แลนด์เมื่อ 20 ปีก่อนโน้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะบ้านเมืองเขามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างดีจนเกิดเป็นวัฒนธรรมจักรยานในสังคม ซึ่งทำให้เมืองของเขาเป็นเมืองจักรยานเข้มข้นจนถึงในระดับ “แชมเปี้ยน”
แต่ก่อนนี้เขาก็มีรถยนต์ส่วนตัวเยอะ และได้พัฒนาในหลายสิบปีที่ผ่านมา มาเป็นชุมชนจักรยานในระดับ ‘ผู้เริ่มต้น’(starter) จนเป็นระดับ ‘ไต่ขึ้น’ (climber) จนมาเป็นระดับแชมเปี้ยนในที่สุด
เมื่อผมกลับมาเมืองไทย ผมก็อยากให้ประเทศไทยเป็นชุมชนจักรยานในระดับแชมเปี้ยนแบบเขาและแบบที่ได้เห็นมา แต่มาตอนนี้ผมเริ่มรู้แล้วว่า เราต้องทำแบบที่เขาเคยทำมาก่อน คือเริ่มจากการเป็น ‘ผู้เริ่มต้น’ ก่อน ซึ่งก็เป็นสภาวะที่เรากำลังเป็นอยู่ขณะนี้นั่นเอง
จักรยานเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสสังคมของประเทศและจำนวนคนใช้จักรยานก็เพิ่มมากขึ้น มาถึงจุดนี้ผมจึงไม่ได้เรียกร้องให้คนต้องสวมหมวกกันน็อกในทุกครั้งและทุกกรณีที่ใช้จักรยาน
อาจารย์กำลังบอกว่าตกลงหมวกกันน็อกไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วใช่ไหม ทั้งๆ ที่แต่ก่อนอาจารย์ก็เป็นคนกระตุ้นให้คนสวมใส่อยู่นี่
ผมว่ามันขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ เอาอย่างนี้ดีกว่าคุณลองนึกภาพคุณยายแก่ๆ ใส่เสื้อคอกระเช้าขี่จักรยานไปตลาด แล้วคุณจะบอกให้คุณยายใส่หมวกกันน็อกหรือ ถ้าผมกำลังพยายามบอกผู้คนธรรมดาทั่วไปให้หันมาใช้จักรยาน แต่ผมบอกด้วยว่าต้องสวมหมวกกันน็อกด้วยนะ เขาก็คงจะถามผมกลับทันทีว่า ถ้าขี่จักรยานมันอันตรายแล้วผมจะมาชวนเขาให้หันมาใช้จักรยานทำไมเสียตั้งแต่แรก
ผมจึงคิดว่าถ้าเราใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในละแวกบ้าน ในระยะทางใกล้ๆ เช่น ไปตลาด ไปซื้อก๋วยเตี๋ยว แบบนี้คนใส่หมวกกันน็อกก็อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก
แต่ถ้าคุณปั่นจักรยานข้ามเมือง เช่น จากสนามเป้าไปสนามหลวง หรือลงแข่งจักรยาน แบบนี้คุณก็ควรต้องสวมหมวกกันน็อก
และถ้าคุณจะขี่จักรยานตอนกลางคืน ผมก็แนะนำว่าคุณควรมีเสื้อหรืออุปกรณ์ที่สะท้อนแสงไฟได้ ซึ่งน่าจะสำคัญกว่าหมวกกันน็อกด้วยซ้ำ
หลังจากรณรงค์มา 20 กว่าปีแล้ว ตอนนี้ยังมีอะไรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอีก
ทัศนคติของนักการเมืองต้องเปลี่ยน มันไม่เหมือนกับประเทศทางตะวันตกที่นักการเมืองของเขาเข้าใจ แต่นักการเมืองบ้านเราไม่ค่อยลงมาเดินบนทางเท้าหรือใช้จักรยานบนถนน พวกนี้จึงมองประเด็นพวกนี้ไม่ออก
หมายเหตุ: อาจารย์ธงชัยฝากบอกว่าข้อความและข้อมูลที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อาจมีความคลาดเคลื่อนไปจากที่ได้มีการสัมภาษณ์ไปบ้างเล็กน้อย