สหภาพยุโรปก็เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีสถิติความปลอดภัยทางถนนค่อนข้างดี และโดยรวมแล้ว จำนวนเหตุอันตรายและผู้ประสบอันตรายที่น้อยอยู่แล้วก็ลดลงเรื่อยๆ แต่เขาก็ยังไม่พอใจ พยายามหาทางลดลงอีก ท่านที่ไปร่วมการประชุมความปลอดภัยทางถนนระดับชาติของไทย ครั้งที่ 11 เมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา อาจได้ฟังศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งบรรยายให้ฟังว่า รัฐบาลของเขาตั้งเป้าจะพยายามลดเหตุอันตรายทางถนนให้เป็นศูนย์!!! หรือในข่าวที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยนำมาเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้ว่า รัฐสภายุโรปได้ออกกฎหมายบังคับให้ออกแบบรถขนาดใหญ่ให้คนขับสามารถมองเห็นด้านหน้าและด้านข้างในส่วนที่ประชิดกับรถได้ดีขึ้น และป้องกันมิให้คนเดินเท้าหรือผู้ใช้จักรยานที่ถูกชนล้มเข้าไปด้านใต้รถและถูกล้อรถทับ และในลอนดอนกำลังมีการนำเรดาร์มาใช้เตือนคนขับรถประจำทางเมื่อมีคนเดินเท้าหรือผู้ใช้จักรยานอยู่ใกล้ๆ (http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/2072)
สำหรับสหภาพยุโรป สถิติความปลอดภัยทางถนนบ่งชี้ว่าการประสบเหตุอันตรายโดยรวมลดลงอีกร้อยละ 8 ในปีที่ผ่านมา (2556) แต่ก็เช่นเดียวกับปีก่อนๆ ความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นนี้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในส่วนผู้ใช้ยานยนต์ แต่จำนวนคนเดินเท้าที่ประสบเหตุลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก นายคัลลาส กรรมาธิการสหภาพยุโรปที่รับผิดชอบด้านคมนาคมขนส่ง เปิดเผยด้วยว่า จริงๆแล้ว จำนวนผู้ใช้จักรยานที่ประสบเหตุถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า การเสียชีวิตของผู้ใช้จักรยานที่เพิ่มมากขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากการที่ความปลอดภัยลดลงและมีความเสี่ยงบางประการที่มีติดมากับการมีและใช้ถนน ไม่อาจขจัดให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิง หรือมาจากการที่มีผู้ใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้นกันแน่ ซึ่งบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า คณะกรรมาธิการยุโรปหรือคณะรัฐมนตรีของสหภาพยุโรปยังไม่มีตัวเลขจำนวนและข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้จักรยาน ในแบบเดียวกับที่มีตัวเลขจำนวนและข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้ถนนอื่นๆ และจำเป็นต้องทำงานร่วมกับรัฐสมาชิกไปเก็บข้อมูลเหล่านี้มา จึงจะบอกได้แน่ชัดว่า การใช้จักรยานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่
ในส่วนของยานยนต์ต่างๆ นั้น ชัดเจนว่าเทคโนโลยีได้ทำให้ยานยนต์ปลอดภัยต่อผู้ใช้มากขึ้น นี่เองที่ทำให้สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (ECF) เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่สหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกต้องให้ความสำคัญในลำดับต้นกับเทคโนโลยีที่ให้ความปลอดภัยกับคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานด้วย หนึ่งในเทคโนโลยีนั้นคือ Intelligent Speed Assistance (ISA) ซึ่งจะเตือนผู้ขับยานยนต์ว่าเขาหรือเธอขับเร็วกว่าความเร็วที่จำกัดไว้แล้วสำหรับถนนตรงนั้น หรือหยุดไม่ให้ยานยนต์แล่นเร็วไปกว่าความเร็วที่จำกัดไว้ ECF เห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยลดการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บของผู้ใช้จักรยาน ขณะนี้เทคโนโลยีนี้เกือบจะพร้อมแล้ว สหภาพยุโรปเพียงแต่ประสานงานเทคโนโลยีส่วนที่เหลือและใช้ความมุ่งมั่นทางการเมืองมาทำให้การใช้เทคโนโลยีนี้เป็นภาคบังคับ โดยเริ่มใช้แทนที่เครื่องจำกัดความเร็วในรถบรรทุก และบังคับใช้กับยานยนต์ทุกชนิดในที่สุด
โดยรวมแล้ว แนวทางการทำงานของ ECF และภาครัฐในยุโรปคือการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้จักรยานมากขึ้น ไม่ใช่การขอหรือบังคับให้ผู้ใช้จักรยานป้องกันตนเองจะเห็นว่าเขาไม่พูดถึงการใส่หมวกนิรภัยเลย เพราะเมื่อทำให้การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วปลอดภัย ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องบังคับให้ผู้ใช้จักรยานใส่หมวกนิรภัย โดยปล่อยให้เป็นเรื่องการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคลไป ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่หลายคนเข้าใจว่ามีการบังคับให้ใส่หมวกนิรภัยนั้น ความจริงแล้วก็ไม่มีกฎหมายบังคับในเรื่องนี้แต่ประการใด
กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
TCC สมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป