Home / News and Events / News / ทริปสะอาดครั้งที่ 15 พาไปลุยจอมบึง ราชบุรี (ตอน1)

ทริปสะอาดครั้งที่ 15 พาไปลุยจอมบึง ราชบุรี (ตอน1)

28-29 มิถุนายน 2557

เราออกเดินทางจากสนามหลวงเช้าตรู่วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2557ตรงไปมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี อาจารย์แชล่ม บุญลุ่ม ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการใช้จักรยานที่จอมบึงและทำงานร่วมกับชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยในหลายกิจกรรม โดยเฉพาะการจัดค่ายจักรยานเยาวชน มาตลอดสามปีที่ผ่านมา พาคณะชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพหมู่บ้านจอมบึงมาต้อนรับ และพาพวกเราออกเดินทางทันที

เป้าหมายแรกคือถ้ำจอมพล อยู่หลังตัวอำเภอออกมานั่นเอง  ทราบจากวิทยากรว่า ถ้ำนี้เดิมชาวบ้านเรียกว่าถ้ำมุจลินทร์ตามความเชื่อว่ามีพญานาคอาศัยอยู่  เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จมาที่ถ้ำแห่งนี้เมื่อปี 2438 ก็ได้พระราชทานนามใหม่เป็น “ถ้ำจอมพล” จากหินย้อยใหญ่ในถ้ำที่มีรูปร่างคล้ายภู่บนบ่าของเสื้อเครื่องแบบจอมพล  เราเข้าไปชมหินงอกหินย้อยที่บางแห่งมาบรรจบกันเป็นแท่งเสามหึมา  ด้านในสุดของถ้ำที่ยาว 240 เมตรนี้ หลังคาส่วนหนึ่งพังทะลุลงมาเป็นช่องแสง มีพระพุทธรูปหลายองค์รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ให้ผู้ไปเยือนสักการะ มีพระสงฆ์มาประจำ เราจึงได้รับพรและการปะพรมน้ำมนต์ด้วย ถ้ำนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเคยเสด็จเช่นกันในปี 2499 และได้เสวยพระยาหารในถ้ำด้วยที่ห้องตรงกลางที่มีหินย้อยภู่จอมพล ซึ่งกว้างสุดถึง 30 เมตร สูง 20 เมตร  เราจึงเห็นพระปรมาภิไธยย่อของทั้งสองรัชกาลสลักอยู่ตรงปากทางเข้าถ้ำ

ถ้ำจอมพล

จากถ้ำจอมพล เราปั่นต่อชมวิถีชีวิตชาวบ้าน ไปแวะชมบ้านไทยโบราณของชาวจอมบึงที่ยังเหลืออยู่หลังเดียว ส่วนเดิมของบ้านที่สร้างโดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว(เพราะสมัยนั้นไม่มี)อายุราวหนึ่งร้อยปี พูดคุยกับคุณยายอุทัย วัย 73 ปี เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน  แล้วเดินทางต่อไปไร่ผักหวานป่าที่เขากลางตลาด ต้นเก่าแก่นั้นสูงชะลูดต้องปีนไปตัดยอด แต่เดี๋ยวชาวบ้านตัดต้นใหม่ให้สูงพอเดินเก็บได้สบาย  จากนั้นก็ปั่นผ่านทุ่งสวนไร่นามาถึงไร่สุขพ่วง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชน ทั้งยังเป็นที่ตั้งกลุ่มปลูกพืชผักปลอดสารพิษในตะกร้าและกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธรรมชาติ ดื่มน้ำสมุนไพรเย็นชื่นใจกับขนมกุยช่ายที่ปลูกเองทำเองที่นี่  พอหายเหนื่อย ครูสมหวัง สุขพ่วง วัยหกสิบปีผู้เป็นเจ้าของไร่ก็มาบรรยายให้เราฟังถึงการทำการเกษตรตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามด้วยการพาชมการปลูกผักปลูกข้าวในตะกร้าที่สานจากเส้นพลาสติกแปรรูป การเลี้ยงปลาดุกด้วยอาหารอินทรีย์ทำเองและฝึกให้ปลากินอาหารบนบก การทำปุ๋ยจากใบไผ่ และการเลี้ยงหมูป่าในหลุม  ได้เรียนรู้เข้าใจและได้ดูกันอย่างตื่นตาตื่นใจโดยเฉพาะการที่ปลาดุกมากมายในบ่อเล็กๆ ทยอยกันขึ้นมาตอดกินก้อนอาหารที่วางไว้ให้ริมฝั่งอย่างดูเหมือนจะเป็นระเบียบซึ่งหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว  ดูเสร็จก็มากินอาหารกลางวันแสนอร่อยเพื่อสุขภาพ  อิ่มหนำสำราญแล้วลาครูสมหวังกับครอบครัวออกเดินทางต่อ พวกเราหลายคนถือโอกาสขอต้นกุยช่ายมาปลูกกินเองด้วย และบางคนก็ซื้อตะกร้ามา

บ้านไทยโบราณอายุร่วมร้อยปี คุณยายอุทัย เจ้าของบ้านไทยโบราณ สวนผักหวานป่า

จากไร่สุขพ่วง เราปั่นไปบ้านตลาดควาย อันเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรม 8 ชาติพันธุ์ได้แก่ กะเหรี่ยง จีน ลาวตี้ ลาวเวียง ลาวครั่ง ไทยทรงดำ ไทยพื้นถิ่น ไทยพวน และมอญ  แต่ที่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านของชาวไทยทรงดำ  เราได้ฟังประวัติความเป็นมาว่า บรรพบุรุษเดิมของพี่น้องไทยกลุ่มนี้อยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม แต่เนื่องจากอพยพลงมาพร้อมกับชาวลาว บางครั้งจึงถูกเรียกว่า “ลาวโซ่ง” ที่เรียกว่าโซ่งก็เนื่องจากพวกเขานุ่งชุดสีดำในทุกโอกาส  คำว่าโซ่งแผลงมาจากส่วงดำหรือกางเกงสีดำที่พวกเขาใส่นั่นเอง  การกล่าวต้อนรับและบรรยายใช้ภาษาไทยทรงดำซึ่งเป็นภาษาที่คล้ายกับคำเมืองหรือภาษาถิ่นของคนไทยในภาคเหนือตอนบนและพวกเขายังพูดกันอยู่ในหมู่บ้านจนทุกวันนี้  จากนั้นก็เป็นการแสดงรำโทนซึ่งมีแต่ไทยทรงดำที่หมู่บ้านนี้เท่านั้น ไทยทรงดำทั่วไปรำแคน ซึ่งเขาก็รำให้เราดูเช่นกันแต่เปิดเทปเพลง ขณะที่รำโทนเป็นการร้องสดเล่นดนตรีสด ระหว่างแสดงพวกเราหลายคนเข้าไปร่วมรำด้วยอย่างสนุกสนาน  เราได้ความรู้ด้วยว่ารำโทนนี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488) รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเอาไปส่งเสริมและพัฒนากลายเป็นรำวงและรำวงมาตรฐานในเวลาต่อมา   เสร็จการแสดงเราได้ขึ้นไปชมบ้านไทยทรงดำที่เรียกว่าบ้านทรงกระดองเต่า หลังคาชันปูด้วยฟางข้าวหนา หน้าจั่วมี “ขอกุ๊ด” ซึ่งดูคล้ายกาแลมาก  เราได้รวบรวมเงินมอบให้พี่น้องไทยทรงดำเพื่อสนับสนุนการรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของพวกเขาด้วย

รำโทน ชาวไทยทรงดำที่บ้านตลาดควาย ลักษณะของบ้านไทยทรงดำ อาจารย์ธงชัยกล่าวขอบคุณกับชาวไทยทรงดำ

จากบ้านตลาดควาย อ.แชล่มกับคุณเหมียว(อ.ชมพูนุช)ผู้เป็นภรรยาพาเราปั่นชมธรรมชาติสวยงาม ผ่าทุ่งนาเขียวขจี มีต้นไม้ที่มีรังนกห้อยเต็ม และพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ซึ่งในหน้าน้ำตอนที่เราผ่านไปนี้มีน้ำเต็มละลานตระการตาไปด้วยบัวธรรมชาติ สมัยก่อนเมื่อไม่มีถนน ชาวบ้านต้องพายเรือข้าม เป็นที่มาของชื่อ “จอมบึง”  ของอำเภอแห่งนี้  นอกจากได้ชมความสวยงามรอบข้างแล้ว วันนี้ทั้งวัน อ.แชล่มยังจัดให้เราได้มีโอกาสขี่จักรยานในทุกสภาพเส้นทาง นอกจากถนนลาดยางที่ขี่สบายๆ แล้ว ก็มีทางลูกรัง ทางดินแห้งแข็ง ทางดินเฉอะแฉะ และทางทราย ซึ่งค่อนข้างโชคดีที่มีฝนตกมาก่อนหน้าทำให้ทรายแน่นขึ้นบ้าง ทั้งนี้ไม่ได้พาไปขี่เปล่าๆ อ.แชล่มยังได้สอนเทคนิคการขี่ในสภาพเส้นทางต่างๆ นี้ให้ด้วย ทำให้พวกเราหลายคนที่ไม่เคยขี่เส้นทางเหล่านี้มาก่อนได้ทั้งความรู้และฝึกฝนทักษะจากการขี่ในสถานที่จริงไปด้วยในตัว

      

บึงบัวธรรมชาติที่มาของชื่อจอมบึง

ในที่สุด เราก็มาไปถึงเขาทะลุ  ตรงนี้เราจอดจักรยานเปลี่ยนไปเดินลุยป่าไต่เขาขึ้นไปถ้ำทะลุ ซึ่งทั้งเขาทั้งถ้ำได้ชื่อมาจากการที่เพดานถ้ำพังทะลุลงมาเป็นช่องใหญ่มาก  ทางขึ้นลงถ้ำเป็นหินลอยเดินยากมาก แต่ทิวทัศน์เมื่อมองจากถ้ำออกไปก็งดงามคุ้มค่า  อ.แชล่มเล่าตำนานชาวบ้านว่าบริเวณนี้เคยเป็นทะเล มีเรือสำเภาแล่นมาเสากระโดงชนเกาะทะลุเป็นถ้ำอย่างที่เห็น  ในถ้ำมีนกเค้าแมวอาศัยประจำอยู่ พวกเราเสียงดัง นกจึงตกใจบินหนีไป แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นกระดูกเล็กๆ ของสัตว์ที่นกคาบมากินหล่นเกลื่อนกลาดอยู่ล  ถ้ำนี้เดิมมีค้างคาวอยู่มากมาย ตอนใกล้ค่ำจะเห็นบินออกเป็นสาย แต่หลังจากมีการระเบิดหินที่เขานี้อีกด้านหนึ่ง มันก็หนีไปเกือบหมด  จากถ้ำ เราขี่จักรยานเลาะเขาไม่ไกลไปชมภาพเขียนนกเพนกวินบนหินเชิงเขา เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาภูเขาลูกนี้ไว้

ปีนขึ้นถ้ำทะลุ ถ้ำทะลุจาภภายใน ถ้ำทะลุจากภายนอก

จากเขาทะลุ เป้าหมายสุดท้ายในวันนี้ของเราคือ การพิชิตเขาล้าน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเด่นของการขี่จักรยานในวันนี้  เราขี่วนรอบเขาที่เป็นป่าชุมชน แหล่งอาหารของชุมชนรอบข้าง มาที่ทางขึ้นซึ่งมีร่องรอยว่าเคยเป็นถนนระยะทางประมาณหนึ่งกิโลเมตรและก็ไม่ชันเลย แต่ปัจจุบันถูกปล่อยทิ้งจนรกเหลือเพียงช่องทางแคบๆ ซึ่งห้าร้อยเมตรแรกน่าจะขี่จักรยานเสือภูเขาขึ้นไปได้ แต่ไปครั้งนี้พบว่ามีหินลอยมากมาย นอกจาก อ.แชล่ม แล้วก็มีคนเอาจักรยานขึ้นไปไม่กี่คนซึ่งก็ต้องจูง-เข็นสลับไปด้วย และที่ไปถึงยอดมีแค่สามคัน ทางช่วงสุดท้าย ต้องเดิน(หรือแบกจักรยาน)ขึ้นที่ชัน แต่ในที่สุดพวกเราส่วนใหญ่ก็ไปพิชิตถึงยอดหนึ่งที่ขึ้นได้มีผ้าสีแดงส้มผืนใหญ่ผูกไว้มองเห็นจากข้างล่างแต่ไกลเนื่องจากบริเวณยอดนี้ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลยอันเป็นที่มาของชื่อภูเขา  ทิวทัศน์อันสวยงามที่เห็นได้รอบทิศในแดดอ่อนยามบ่ายใกล้อาทิตย์ตกประกอบกับลมที่พัดเย็นตลอดเวลา ทำให้ทุกคนประทับใจมีความสุขคุ้มอย่างยิ่งกับความยากลำบาก  เราถ่ายรูปในท่าต่างกันแทบจะเรียกได้ว่าไม่นับ

ทางเดินขึ้นเขาล้าน ทิวทัศน์จากยอดเขาล้าน ทิวทัศน์จากยอดเขาล้านมองไปทางจอมบึง

กว่าจะลงจากเขามาก็เริ่มใกล้ค่ำ การเดินทางช่วงสุดท้ายไปรีสอร์ทที่พักที่ตัวอำเภอจึงเป็นการขี่ยามค่ำ แม้หลายคนไม่มีไฟติดไปเพราะตามกำหนดการจะไปถึงก่อนค่ำ ทุกคนก็มาถึงที่พักโดยสวัสดิภาพ  และเนื่องจาก อ.แชล่มพาขี่ลุยออกนอกถนนลาดยางที่ อ.แชล่มชอบเรียกว่า “ทางลัด” ระยะทางวันนี้จากที่สำรวจไว้ประมาณ 40 กิโลเมตร จึงกลายเป็นกว่า 53 กิโลเมตร

(โปรดติดตามอ่านรายงานทริปนี้ของวันที่สอง 29 มิถุนายน 2557ได้ในตอนที่ 2)

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.