ผู้เข้าร่วมประชุมถ่ายภาพร่วมกันเมื่อเสร็จการประชุม |
เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๗ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีการประชุมเพื่อติดตามและผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยมีตัวแทนของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ภาคประชาสังคม รวมทั้งชมรมจักรยานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพนี้เข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน รวมทั้งนายกวิน ชุติมา กรรมการ/อนุกรรมการด้านงานเครือข่าย, นส.จินตนา เจือตี๋ รองผู้จัดการและผู้ประสานงานเครือข่าย และนายอิทธิพล บารมีเกรียงไกร ประชาสัมพันธ์ ของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพดังกล่าว
ดร.ปาลิดา เฉลิมแสน ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด | คุณวิมลรัตน์ เสนารัตน์ กองเลขานุการกิจ สมัชชาสุขภาพร้อยเอ็ด ผู้ประสานงานการประชุม |
ที่ประชุมที่มี ดร.ปาลิดา เฉลิมแสน ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในที่ประชุม ได้ทบทวนประกาศจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่องนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ลงนามโดยนายสมศักดิ์ ขำทวีพรม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ ซึ่งกล่าวว่า คณะกรรมการจัดงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ดได้จัดประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ไปเมื่อวันที่ ๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่ประชุม ๓ ระเบียบวาระ เพื่อให้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (๑) ขอให้สนับสนุนการจัดทำธรรมนูญเพื่อจัดการตนเอง (๒) ครอบครัวอบอุ่นด้วยคุณธรรม “รักเหนือรัก” ในระดับศีล ๕ และ (๓) “ร้อยเอ็ดเมืองจักรยาน” (Roi-Et is a bicycled city)โดยในเรื่อง “ร้อยเอ็ดเมืองจักรยาน” นั้นมีรายละเอียดดังนี้
๓.๑ ขอให้จังหวัดร้อยเอ็ด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์จังหวัดให้การใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางระยะใกล้ (ระยะทางไม่เกิน ๕ กิโลเมตร) ที่สำคัญในเขตเมือง เขตชนบท จัดสรรงบประมาณสนับสนุน และทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการนำนโยบายนี้ไปปฏิบัติ
๓.๒ ขอให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สำนักงาทางหลวงชนบทจังหวัด และสำนักงานบำรุงทางร้อยเอ็ด ส่งเสริม สนับสนุน และปรับปรุงผังเมือง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางโดยใช้จักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะ ตลอดจนจัดระเบียบ โครงสร้าง ป้ายสัญลักษณ์ เพื่อเอื้อต่อประชาชนในการเดินทางโดยใช้จักรยานได้อย่างสะดวก เพียงพอ และปลอดภัย
๓.๓ ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปรับปรุงเทศบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมอาคารให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีที่จอดจักรยานที่สะดวก เพียงพอ และปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมให้การใช้จักรยานเป็นระเบียบวาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ และรณรงค์สร้างความตื่นตัวด้านการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแก่สาธารณะ
๓.๔ ขอให้สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และหน่วยงานในสังกัด รณรงค์ให้ข้าราชการและประชาชนทั่วไปใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณเป็นหมวดเฉพาะมาสนับสนุนการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
๓.๕ ขอให้สำนักงานพลังงานจังหวัดร้อยเอ็ด มีนโยบายและมาตรการ รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะในการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
๓.๖ ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านฯ ชมรมผู้สูงอายุ และชมรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระแสการยอมรับให้ประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
บรรยากาศในห้องประชุม
ผู้เข้าร่วมประชุมได้บอกเล่าแลกเปลี่ยนกิจกรรมเกี่ยวกับจักรยานที่ได้ทำไปแล้วและสิ่งคิดว่าจะทำหรือเสนอว่าควรทำ เช่น คาราวานจักรยานร้อยเอ็ด, โครงการจักรยานเยี่ยมบ้านของโรงพยาบาลสุขภาพตำบลบ้านข้าวเม่า, งานรณรงค์และการมีจักรยานให้ยืมไปขี่ออกกำลังกายของชมรมจักรยานโรงพยาบาลประจำจังหวัด, ห้างใหญ่และสถานีรถไฟควรมีที่จอดจักรยานที่จอดได้ปลอดภัย, เด็กควรเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียน โดยมีครูและโรงเรียนดูแล, ควรมีจักรยานที่ทนทาน มีที่บรรทุกของและใช้ได้ปลอดภัยในราคาไม่แพง, ข้างในบริเวณศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่จะมีการตั้งขึ้นใหม่ควรให้ขี่จักรยานได้อย่างเดียว ห้ามรถยนต์เข้า, ควรมีการอบรมการใช้จักรยานให้ปลอดภัย, เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจัดรณรงค์การขี่จักรยานมาอย่างต่อเนื่องและจะทำที่จอดจักรยานที่สำนักงาน, ชมรมจักรยานที่เป็นช่างจะให้บริการซ่อม สอนการซ่อม และเอาเครื่องมือซ่อมง่ายๆ ไปมอบให้โรงเรียน, องค์การบริหารส่วนจังหวัดตั้งงบประมาณสนับสนุนชมรมจักรยานที่เขียนมาขอไว้ทุกปี, กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ ๖ จัดงบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาทให้กำลังพลยืมไปซื้อจักรยานแล้วผ่อนชำระได้ ส่งเสริมให้ขี่มาทำงานเพื่อประหยัดพลังงาน จัดขี่ในเขตทหารเป็นประจำและออกมาร่วมกิจกรรมที่ใช้จักรยานภายนอก ทุกเดือนจะมีวันหนึ่งที่ในพื้นที่ให้ใช้แต่จักรยานเท่านั้น, ควรมีการสำรวจการใช้จักรยาน เอาวิชาการเข้ามาช่วยให้มีการดำเนินงานต่อเนื่อง
ในที่สุดที่ประชุมก็ได้มีความเห็นร่วมกันอย่างกว้างๆ ว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนให้มีการดำเนินงานตามประกาศจังหวัดนี้ โดยมีกรรมการเป็นตัวแทนจากทุกกลุ่ม องค์กร และหน่วยงานองค์กรที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ และทางสำนักงานสาธารณสุข อาสาจะเป็นกองเลขานุการ และช่วยประสานงานให้
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
————————————————————————————————————————————————————————————–
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)ด้วย