ชมรมฯ หารือขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ, ศ.กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และนายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ ที่ผ่าน คณะของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย นำโดยศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธาน และผู้ติดตามประกอบด้วยนายจำรูญ ตั้งกิจไพศาล ที่ปรึกษา, นายกวิน ชุติมา กรรมการ, นส.อัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการ และนายพีระ เนตรวีระ เจ้าหน้าที่ประสานงาน ซึ่งทุกคนอยู่ในคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้เข้าพบนายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อหารือการดำเนินตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว ที่ห้องประชุม ๒ ชั้น ๓ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) โดยคณะของนายขจรยังมีเจ้าหน้าที่กลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) ของ กก.อีกสองคน
คณะของชมรมฯ – นส.อัจจิมา, นายกวิน, นายจำรูญ และ ศ.ดร.ธงชัย
เช่นเดียวกับการเข้าพบหน่วยงานราชการต่างๆ ประธานชมรมฯ ได้เริ่มด้วยการแนะนำชมรมฯ, การอธิบายบทบาทของ กก. ที่ปรากฏในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๕.๑ (“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (กทท.) สนับสนุนการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่พักมีจักรยานให้บริการนักท่องเที่ยว”) และในร่างยุทธศาสตร์ และการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างเมืองจักรยานและเมืองที่ใช้จักรยานได้ จากนั้นก็เป็นการหารือถึงการทำงานร่วมกัน
รองปลัด กก. ได้อธิบายถึงบทบาทหน่วยงานต่างๆ ของ กก. และชี้ว่า กทท. ทำด้านการตลาดการท่องเที่ยว จึงไม่สามารถมาส่งเสริมการใช้จักรยานได้ หน่วยงานที่สามารถเข้ามาทำได้โดยตรงคือ กรมการท่องเที่ยว ทำด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว, สำนักงานการท่องเที่ยว ทำด้านการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว และกรมพลศึกษา ทำด้านการใช้จักรยานเพื่อสุขภาพ ส่วนบทบาทหลักในเรื่องการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรน่าเป็นของกระทรวงคมนาคม แต่ถ้าเป็นเขตเมืองก็จะตกกับองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และแนะนำว่าต้องตัดการมอบบทบาทให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยออกจากมติและร่างยุทธศาสตร์ทั้งหมด
นายขจรยังเห็นตรงกับชมรมฯ ในการเน้นทำงานกับ “ผู้ใช้จักรยาน” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่สุดของประเทศที่ฐานของสามเหลี่ยมหรือปิระมิดคนขี่จักรยาน โดยมีการตั้งคณะทำงาน มีรองปลัดขจรเป็นประธาน มีผู้ทำงานจากทั้ง กก. และชมรมฯ และอาจชวนหน่วยงานราชการอื่นมาร่วม เช่น กรมพัฒนาชุมชน มาทำงานร่วมกัน สามารถปรับงบประมาณปี ๕๗-๕๘ มาใช้ได้เลย และตั้งเป็นงบประมาณใหม่ในปีงบประมาณต่อไป (๕๘-๕๙) ได้ ให้ประชาชนเข้ามาร่วม และไม่ทำในเมืองใหญ่ เริ่มทำกับชุมชนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องให้เกิดการใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิต เป็นวัฒนธรรม เอาชุมชนที่พร้อม ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แบบไฟไหม้ฟาง ทำกับทั้งผู้นำและชาวบ้านทั่วไป ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก-เยาวชน ถ้าทำจนเป็นแบบอย่างก็เอาชุมชนมาเรียนรู้ได้ กก.ช่วยได้หลายอย่าง เช่น การทำป้ายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้จักรยาน
ความคืบหน้าในการดำเนินงาน ทางชมรมฯ จะนำมารายงานให้ทราบต่อไป
รายงานโดย นายกวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย