ชมรมฯ ร่วมแสดงความเห็นต่อร่างคู่มือมาตรฐานการป้องกันอุบัติภัยทางถนน
บ่ายวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จัดการประชุมสัมมนามาตรฐานการจัดบริการสาธารณะด้านการป้องกันอุบัติภัยทางถนน ที่อาคารนวมินทราธิราชของสถาบันฯ ในกรุงเทพฯ ในการสัมมนาที่จัดร่วมกับส่วนมาตรฐานการบริการท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) ครั้งนี้ ดร.พลาพรรณ คำพรรณ์ และคณะ ได้เสนอผลการศึกษาและปรับปรุงมาตรฐานการจัดบริการสาธารณะด้านการป้องกันอุบัติภัยทางถนนต่อตัวแทนของ สถ. และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้จักรยาน รวมทั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งนายกวิน ชุติมา กรรมการ เป็นตัวแทนไปร่วมประชุม
การนำเสนอด้วยสไลด์เริ่มต้นด้วยภาพกรณีของนายฮวน ฟรานซิสโก นักจักรยานชาวชิลี ที่มาถูกรถกระบะชนเสียชีวิต และภรรยากับลูกได้รับบาดเจ็บ ขณะขี่จักรยานบนทางหลวงในเขตจังหวัดนครราชสีมาในระหว่างการเดินทางรอบโลก (ดังที่เป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับการรายงานและกล่าวถึงอย่างกว้างขวางทางสื่อต่างๆไปแล้ว) และกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมมาตรฐานการป้องกันอุบัติภัยทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ สถ.ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนปัจจุบัน ให้สมบูรณ์ครอบคลุมครบถ้วนมากขึ้น เพื่อให้ อปท.ทุกประเภทใช้เป็นคู่มือและแนวทางในการดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติภัยทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ และประชาชนกับภาคีเครือข่ายองค์กรต่างๆในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนป้องกันอุบัติภัยทางถนนร่วมกับ อปท.ได้อย่างถูกต้อง จากนั้นก็ได้นำเสนอร่างคู่มือมาตรฐานการป้องกันอุบัติภัยทางถนนที่มีความหนาถึง ๑๑๐ หน้า เนื้อหาของคู่มือประกอบด้วยการทบทวนขอบเขตมาตรฐาน คำนิยาม ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง, แนวคิด ทฤษฎี แนวนโยบายการดำเนินการป้องกันอุบัติภัยทางถนน, มาตรฐานการป้องกันอุบัติภัยทางถนน (ซึ่งมีหัวข้อมาตรฐานเส้นทางจักรยาน ๔ หน้า แสดงภาพตัดขวางของถนนที่มีทางจักรยานรูปแบบต่างๆ ๗ รูปแบบ และอุปกรณ์ช่องจอดจักรยานอีก ๓ แบบ), แนวทางการดำเนินงานของ อปท.เพื่อการป้องกันอุบัติภัยทางถนน และตัวชี้วัดขั้นพื้นฐานและตัวชี้วัดขั้นพัฒนา
ในช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น ตัวแทนชมรมฯ ได้นำเสนอเป็น ๓ ข้อใหญ่ๆ คือ
(๑) เสนอให้เลิกใช้คำว่า “อุบัติภัย” (หรืออุบัติเหตุ) ซึ่งมีนัยยะไปในทางที่บ่งชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสุดวิสัย คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ และไม่อาจป่องกันได้ ดังที่หลายเมือง (เช่น นครนิวยอร์ค) หลายรัฐ หลายประเทศ ได้เลิกใช้ไปแล้ว เพราะมีการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ที่พบว่า การชนเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้และป้องกันได้ และเปลี่ยนไปใช้คำว่า “การชน” หรือ Crashing แทนซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้แสดงความเห็นคนอื่นต่อมา ซึ่งชี้ด้วยว่า องค์การสหประชาชาติได้ใช้คำว่า “ความปลอดภัยทางถนน” (Road Safety) ดังนั้นคู่มือนี้อาจเปลี่ยนชื่อเป็น “คู่มือมาตรฐานการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน” แทน อย่างไรก็ตามมีผู้ติงว่า การแก้ไขอาจทำได้ลำบากเนื่องจากเป็นคำที่ใช้ในกฎหมายหลายฉบับ หากจะเลิกใช้ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งทำได้ยาก
(๒) ถึงแม้จะมีคู่มือที่ดี อปท. ก็มีอำนาจในการดำเนินงานจำกัด ไม่สามารถเอาคู่มือนี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานราชการอื่นที่รับผิดชอบส่วนต่างๆของ “ถนน” และหน่วยงานเหล่านี้ต่างก็มีขีดจำกัดเช่นกันแม้จะเห็นด้วยและพยายามให้ความร่วมมือกับ อปท. อย่างเต็มที่ก็ตาม คู่มือจึงควรแนะนำแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานราชการอื่นไว้ด้วย
(๓) ผู้ร่วมสัมมนาหลายท่านพูดถึงการใช้หมวกนิรภัย (หรือที่มักเรียกกันว่าหมวกกันน็อก) การใส่หมวกนิรภัยในการขับขี่จักรยานยนต์และจักรยานย่อมดีกว่าการไม่ใส่แน่นอน แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า หมวกนิรภัยมิใช่อุปกรณ์ป้องกันการชนหรืออุบัติภัย แต่เป็นอุปกรณ์ที่อาจช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะได้เท่านั้น แม้ขับขี่จักรยานยนต์และจักรยานจะใส่หมวกนิรภัยทุกคนก็จะไม่ลดการชนหรืออุบัติภัยลงเลย หากไม่มีมาตรการไปขจัดสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุ เช่น การใช้ความเร็วสูง การไม่เคารพกฎจราจร การดื่มของมึนเมาเกินขอบเขต ฯลฯ จึงควรหันความสนใจและการจัดสรรทรัพยากรที่ใช้ส่งเสริมการใส่หมวกนิรภัยไปใช้กับมาตรการอื่นที่สร้างเสริมความปลอดภัยหรือป้องกันอุบัติภัยที่สาเหตุต้นตออย่างแท้จริง จะมีประสิทธิภาพแระสิทธิผลมากกว่า
นอกจากนั้นยังมีความคิดเห็นอื่นที่น่าสนใจ เช่น มาตรการหรือการดำเนินงานที่เป็นหลักของ อปท. น่าจะเป็นการรณรงค์ การให้การศึกษา เพราะเห็นได้ชัดว่า สาเหตุที่สำคัญของการชนหรืออุบัติภัยคือ “คน” มิใช่ถนนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การใช้คู่มือนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ต้องมีการอบรม อปท. ต่างๆอย่างจริงจัง
ทางคณะผู้ศึกษาและทำร่างคู่มือจะได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปรับปรุงคู่มือนี้ต่อไป
รายงานโดย นายกวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย