โครงการศึกษาเพื่อจัดระบบการสัญจรเกาะรัตนโกสินทร์จัดสัมมนาในงานสถาปนิก’58
ตามที่เคยรายงานไปแล้วถึงการที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนให้กลุ่มเมืองเก่าและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินงาน “ศึกษาเพื่อโครงการจัดระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์” (ดูhttp://www.thaicyclingclub.org/article/detail/6835) นั้น ทางกลุ่มได้มานำเสนอโครงการดังกล่าวในงานสถาปนิก’58 อันเป็นงานวิชาการประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของบุคคลและกลุ่มองค์กรในแวดวงสถาปัตยกรรมและการผังเมืองในประเทศไทย โดยจัดเป็นการเสวนาขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.00 – 12.00 น. ที่ห้องจูปิเตอร์ 12-13 อาคารแชลเลนเจอร์ เมืองทองธานี จังหวัดปทุมธานี
(ซ้ายไปขวา) อ.ฉันทฤทธิ์, คุณกวิน, อ.ณัฐวุฒิ, อ.ฉัตรศิริ และคุณวิมล บนเวทีการเสวนา
ผู้ร่วมการเสวนาประกอบด้วยนายฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ (อ.จ็อบ) แกนนำกลุ่มเมืองเก่า, ผศ. ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ หัวหน้าภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ศ.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมฯ ให้มาทำหน้าที่แทน) โดยมีนายฉัตรศิริ ธรรมารมณ์ แกนนำกลุ่มเมืองเก่า และคุณวิมล อังสุนันทวิวัฒน์ กรรมการสมาคมฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
อ.จ็อบได้ฉายภาพและวิดิทัศน์ย้อนถึงความเป็นมาและการดำเนินการของโครงการศึกษานี้ ซึ่งครอบคลุมการใช้ประโยชน์พื้นที่และวิธีการสัญจรต่างๆ ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วนำภาพที่สร้างขึ้นจากผลการศึกษามาซ้อนทับกัน วิเคราะห์หาทางออกมาเป็นข้อเสนอ 7 แนวทางใหญ่ๆ ในการปรับปรุงระบบการสัญจรในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เช่น การปรับสายและเส้นทางรถประจำทางใหม่ การปรับถนนให้เป็นการเดินรถทางเดียว และการขยายเส้นทางจักรยานให้มาเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้ามหานคร(MRT)สายสีน้ำเงินที่กำลังจะสร้างเสร็จ เป็นต้น
จากนั้นคุณกวินได้เล่าถึงความเป็นมาของชมรมฯ และแนวทางการดำเนินงานในปัจจุบันที่นำมาสู่การสนับสนุนให้กลุ่มเมืองเก่านำวิชาการผังเมืองมาทำการศึกษาครั้งนี้ เพื่อปรับปรุงให้ทางจักรยานในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ที่รัฐบาลและ กทม.ได้สร้างไว้เมื่อปลายปี 2557 เป็นส่วนหนึ่งของระบบสัญจรโดยรวมและตอบสนองให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เนื่องจากชมรมฯ เห็นชัดว่า การใช้จักรยาน นอกจากแยกไม่ออกจากการเดินแล้ว ยังต้องพิจารณาเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะ ให้เป็นระบบการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน
ส่วนอาจารย์ณัฐวุฒิได้พูดถึงความจำเป็นในการสร้าง “วัฒนธรรมจักรยาน” ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างมากไปกว่าการสร้างทางจักรยานเพียงอย่างเดียว
อนึ่งการสัมมนาครั้งนี้ นายภราเดช พยัคฆวิเชียร นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ได้ให้เกียรติมากล่าวเปิดและอยู่ร่วมการสัมมนาโดยตลอดด้วย
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันในห้องเดียวกันได้มีการเสวนาวิชาการเรื่อง “เจ้าพระยาคลองเมือง” โดยแบ่งออกเป็นสองช่วง ในช่วงแรกนั้น หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาบนเวทีคือ นาวาตรีเจริญพร เจริญธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ได้ตอบคำถามของนายกวินเรื่องการนำจักรยานขึ้นเรือด่วนเจ้าพระยา เนื่องจากในการจัดระบบสัญจรฯ ได้รวมไปถึงการสัญจรทางน้ำด้วยทั้งเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟาก แต่ในปัจจุบันทางบริษัทห้ามนำจักรยานขึ้นเรือด่วน นต.เจริญพรได้ให้ข้อมูลเป็นข่าวดีแก่ผู้ใช้จักรยานว่า เมื่อบริษัทนำเรือด่วนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเรือคาตามาราน(เรือสองลำตัว)ขนาดใหญ่มาใช้ คาดว่าจะในปี 2561 พร้อมกับที่การปรับปรุงท่าเรือด่วนหลัก 19 ท่าให้ทันสมัยเช่นเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าดำเนินการเสร็จ เรือแต่ละลำจะมีที่จอดจักรยานให้สามารถนำจักรยานขึ้นมาเดินทางไปพร้อมกับผู้โดยสารได้ 12 คันด้วย
ผู้ร่วมการเสวนา “เจ้าพระยาคลองเมือง” ช่วงแรก และช่วงที่สอง
ส่วนในช่วงที่สอง ตัวแทนของ บริษัท ดี ไอ ดีไซนส์ จำกัด ได้เสนอโครงการฟื้นฟูระบบคลองเพื่อชุมชนเมืองที่บริษัทออกแบบขึ้นมาจนไปได้รับรางวัลออกแบบระดับโลก โฮลซิมอวอร์ด โครงการนี้มีจุดประสงค์หลักเป็นการฟื้นฟูและพัฒนาระบบคลองแบบบูรณาการกับระบบอื่นๆ ของเมือง โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน โดยจะมีสถานีเปลี่ยนถ่ายระหว่างระบบกว่า 500 สถานี ซึ่งได้ออกแบบให้เอื้ออำนวยกับการเดินและการใช้จักรยานมาเชื่อมต่อ แต่ละแห่งจะมีที่จอดจักรยานด้วย นอกจากนั้น นายสุธี สุภาพร ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัทเดินเรือไทย จำกัดได้ฉายภาพเรือแบบใหม่ที่จะนำมาวิ่งในคลองให้เห็นว่าได้ออกแบบให้นำจักรยานและรถเข็นคนพิการขึ้นได้ด้วย
ทางด้านนายสราวุธ เอกสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายออกแบบ บริษัท รถไฟฟ้ามหานคร จำกัด (MRT)ได้มาพูดถึงการออกแบบสถานีรถไฟฟ้าให้บริการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทุกระบบ รวมทั้งการใช้จักรยาน โดยเฉพาะสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว และสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค)
นอกจากนั้นในการประกวดภาพถ่ายของสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ประจำปี 2558 ในหัวข้อ “เมืองมีชีวิต คนมีชีวา”ที่มีการประกาศผลและมอบรางวัลในการเสวนาช่วงบ่าย ภาพที่ได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศทั้งสองรางวัลมีการใช้จักรยานเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพ แสดงให้เห็นว่า การใช้จักรยานได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์ประกอบของ “เมืองที่มีชีวิต คนมีชีวา” ไปแล้วในสายตาของนักผังเมือง
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย