ชมรมฯ ร่วมเสวนาหาทางแก้ปัญหาคนขับรถเมาขับชนผู้ใช้จักรยานเสียชีวิต
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี กรุงเทพฯ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) มูลนิธิเมาไม่ขับ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการเสวนา “เมา+ขับ=ฆาตกร: บทเรียนกรณีเมาแล้วขับชนจักรยานสามศพ” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่มีคนเมาขับรถชนนักจักรยานเสียชีวิตสามคนที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ ๔ พ.ค. รวมทั้งภาพรวมการสูญเสียจากการชนบนท้องถนนที่มีคนเมาเกี่ยวข้องในไทย และหารือกันถึงสิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันหรือลดการสูญเสียเช่นนี้อีก โดยมีผู้เข้าร่วมหลักๆ จากเครือข่ายนักปั่นจักรยาน จ.เชียงใหม่ รวมทั้งญาติของนักจักรยานที่เสียชีวิต และผู้แทนกลุ่มผู้ใช้จักรยานอื่นๆ รวมทั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนายกวิน ชุติมา กรรมการ, นส.อัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการ และ นส.สรัสวดี โรจนกุศล ผู้ประสานงานโครงการ เข้าร่วม
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการนิ่งสงบไว้อาลัย ๑ นาทีให้กับนักจักรยานที่เสียชีวิตทั้งสามคน จากนั้นญาติของผู้เสียชีวิตได้เล่าถึงความรู้สึกและผลกระทบจากการสูญเสียครั้งนี้ นักจักรยานที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งคนที่ได้รับบาดเจ็บ ได้เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ยืนยันหนักแน่นว่าพวกเขาได้ขี่อย่างระมัดระวังเป็นแถวเดียวบนไหล่ทาง ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น มีการฉายคลิปวิดีโอที่ถ่ายไว้ทันทีหลังเกิดเหตุ ทั้งญาติและนักจักรยานยืนยันถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด ไม่อยากให้ตายฟรี แต่อยากให้สังคมตื่นตัว ระมัดระวังและมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นให้ผู้ใช้จักรยานกับคนขับรถใช้ถนนร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นต้องแก้ที่ต้นเหตุให้ตรงจุด ต้องไม่ให้คนที่ไม่มีสติขับรถ ในขณะเดียวกันคนขี่จักรยานก็ต้องดูแลตนเองให้มากขึ้นและไม่ทำผิดกฎหมาย หากทำผิดก็ต้องถูกลงโทษเช่นกัน ส่วนรัฐบาลก็ต้องออกแบบถนนให้มีความปลอดภัยสำหรับทุกคนที่ใช้ถนนด้วย
จากนั้นเป็นการอภิปรายในหัวข้อ “ถึงเวลามาตรการ “ยาแรง” แล้วหรือยัง?” ผู้อภิปรายหลักคือ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ., นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และนายสุจิน ซื่อสุวรรณ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ โดยมี นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้อภิปรายเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่ามานานแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงจัง ก็จะเกิดขึ้นมีความสูญเสียไปอีกเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเนื่องจากคนขับไม่กลัว ทั้งที่รู้ว่าเมาแล้วขับผิดกฎหมายและอาจก่ออุบัติเหตุ เพราะโทษแค่รอลงอาญา
นพ.ธนะพงศ์อภิปรายเป็นคนแรกว่า จักรยานเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ความเร็วต่ำ พอจักรยานเพิ่มมากขึ้น สังคมต้องมาดูเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น แต่ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้ใช้ถนนไม่มีวินัย หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้คนใส่ใจกับปัญหาและหาทางแก้ไขมากขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ให้ตัวเลขว่า แต่ละปีมีคดีรถชนจักรยานไม่ต่ำกว่า ๓๘๐ คดี ไม่นับชนเล็กชนน้อย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ ๒ คน ทางด้านคดีเมาแล้วขับมี ๗-๘ พันคดี ใบมรณบัตรให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้มีคนตายที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถวันละ ๘ คน ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลราวร้อยละ ๓๐ มีแอลกอฮอล์เกี่ยวข้อง เมาแล้วขับเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงร้อยละ ๓๙.๓๑ ทำให้มีคนตายถึงร้อยละ ๒๔ ในรอบปีที่ผ่านมา คนดื่มแล้วขับมีถึงร้อยละ ๓๗ ซ้ำร้อยละ ๒๑ ยังคิดว่าดื่มแล้วขับได้ถ้ามีสติ นี่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องเวรกรรม ถ้ายังไม่มีการจัดการที่แท้จริงหรือใช้ “ยาแรง” กว่านี้ ปัญหาจะสะสมต่อไปอีกนาน
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ ต้องล้างทัศนคติที่ว่า “การดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ” ออกไป หยุดการดื่มสังสรรค์ในแบบตระเวนไปหลายๆ ร้าน ถ้าดื่มแล้วต้องยอมให้คนที่ไปด้วยไม่ได้ดื่มช่วยขับรถ เมื่อเกิดคดีขึ้นต้องมีการบันทึกข้อมูล “ความผิดซ้ำ” เพราะเป็นข้อมูลที่สำคัญมากในการ “เพิ่มโทษตามลำดับขั้นความผิด” ด้านการตัดสินในชั้นศาลส่วนใหญ่ที่จบคดีคนเมาว่าเป็นเรื่อง “ประมาท” ต้องเปลี่ยนเป็นเรื่องของ “เจตนา” กระทำผิด เห็นได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลี สิงคโปร์ ตัดสินคนเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุในลักษณะนี้ทั้งสิ้น รัฐบาลต้องสนับสนุนเครื่องตรวจแอลกอฮอล์และค่าใช้จ่ายในการเทียบเครื่องกับ สตช. ให้เพียงพอ อย่างน้อย ๒ เครื่องต่อสถานีตำรวจ ไม่ใช่มีเพียงแห่งละเครื่องอย่างทุกวันนี้ และจัดให้มีกำลังพลเพียงพอในการตรวจด้วย
ส่วน นพ.แท้จริงเปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่ทำงานเรียกร้องไม่ให้คนเมาออกมาขับรถบนท้องถนนมายี่สิบกว่าปี พบว่าจะหวังให้รัฐบาลทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ รัฐบาลไม่เคยทำ จึงกล่าวเชิญชวนผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศให้ช่วยกันล่ารายชื่อมา น่าจะได้เป็นล้าน แล้วนัดวันขี่จักรยานจาก ๗๗ จังหวัดมายื่นจดหมายให้นายกรัฐมนตรีกับประธานศาลฎีกา เรียกร้องนายกฯ ๒ ข้อคือ (๑) เมาแล้วขับ ให้ตำรวจจับขังและปรับทันที ๒๐,๐๐๐ บาท ดังคำขวัญ “เมา+ขับ = จับ+ขัง” และ (๒) เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องมีการตรวจแอลกอฮอล์ทุกราย และเรียกร้องประธานศาลฎีกาให้ศาลสั่งลงโทษทันที ไม่รอลงอาญา ทั้งหมดนี้ทำได้ทันทีและจะได้อานิสงค์กับคนไทยทุกคน เมา+ขับ =จับ+ขัง นี่คือมาตรการเดียวที่เราจะต้องทำในตอนนี้ สิ่งเดียวที่จะทำให้คนขับรถกลัวได้ คือการติดคุกเท่านั้น คุณหมอฝากไว้ว่า ถึงแม้ผู้ใช้จักรยานจะได้ช่องทางจักรยานที่ดีที่สุดมา ก็ยังตายได้หากยังมีคนเมาแล้วขับ
ทางด้านผู้พิพากษาสุจินชี้ว่า เราต้องไม่ให้ผู้เสียชีวิตตายฟรี แต่ออกมารณรงค์เท่านั้นจะไม่มีอะไรดีขึ้น ต้องผลักดันให้แก้กฎหมาย จะหวังให้ผู้พิพากษาเปลี่ยนเองไม่ได้ แม้อาจจะเปลี่ยนได้ก็ไม่ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนกฎหมายแล้วผู้พิพากษาจะทำตาม การเปลี่ยนแปลงจะยั่งยืน แม้อัยการจะฟ้องในสองสามความผิด ศาลก็มักจะรวมเป็นความผิดเดียว คือ “ขับรถโดยประมาททำให้มีคนเสียชีวิต” ให้เหตุผลว่าเป็น “กรรมเดียว” แม้จะผิดหลายกระทง ก็ให้เอากระทงที่มีโทษสูงสุดกระทงเดียว ท่านผู้พิพากษากล่าวว่าจะไม่ขอทำนายว่าศาลเชียงใหม่จะตัดสินออกมาอย่างไร ที่ผ่านมามักลงโทษจำคุก ๔ ปี สารภาพลดกึ่งหนึ่งเหลือสองปี หากผู้กระทำผิดยอมจ่ายเงินช่วยเหลือ ศาลก็มักจะรอลงอาญาให้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ญาติของผู้เสียชีวิตรีบขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ซึ่งจะทำให้สามารถเอาพยานมาเพิ่มและอุทธรณ์ได้ และขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความในการสู้คดีในศาล และให้ทุกส่วนช่วยกันผลักดันให้แก้กฎหมาย มุ่งไปที่ พรบ.การจราจรทางบก เพียงฉบับเดียวในสองประเด็น ให้เป็นข้อบัญญัติชัดเจน ไม่ให้ศาลใช้ดุลยพินิจ คือ (๑) ให้เป็นการทำผิด “หลายกรรม” ไม่เอามารวมเป็นกรรมเดียว (๒) ให้เป็นการทำผิดโดย “เจตนา” ไม่ใช่โดย “ประมาท” เมื่อเป็นเจตนา ก็จะรอลงอาญาไม่ได้ ลงโทษทั้งปรับและขัง ไม่เลือกทางใด การแก้ไขนี้เป็นไปได้เนื่องจากสำนักงานศาลฎีกาเพ่งจัดรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับไปเมื่อ ๘ เมษายน ๒๕๕๘ แสดงว่าศาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
จากนั้นประธานที่ประชุมก็ได้เชิญตัวแทนกลุ่มต่างๆ ให้ร่วมแสดงความเห็น ซึ่งนายกวิน ชุติมา ตัวแทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยบอกว่า เคยเตือนไปแล้วว่าหากรัฐบาลส่งเสริมการใช้จักรยาน แต่ไม่สร้างระบบและโครงสร้างมารองรับเพียงพอ ก็เมื่อมีคนขี่จักรยานมากขึ้นก็จะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากขึ้น จากนั้นได้เล่าถึงงานผลักดันนโยบายผ่านการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ ให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยของคนเดินเท้าและผู้ขี่จักรยานมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการให้ความรู้และการแก้กฎหมาย
สุดท้าย นพ.บัณฑิตได้สรุปว่าคงจะมีการจัดหารือกันอีกหลายรอบ และสิ่งที่จะต้องทำมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว แบ่งเป็น ๔ ด้านใหญ่ๆคือ (๑) ดำเนินการด้านคดีความ ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง, ติดตามการดำเนินคดีทุกกรณีที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และช่วยเหลือผู้เสียหาย (๒) จัดกิจกรรมรณรงค์ให้เป็นข่าวต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ให้ถูกข่าวอื่นกลบเงียบไป (๓) ผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย และ (๔) ให้ข้อมูลความรู้กับสาธารณะชน เช่น จัดเสวนา ทั้งสี่ด้านนี้ต้องมีการประสานงานกับสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิดให้มีการรายงานข่าว
อนึ่งจากเหตุการณ์ที่มีคนขี่จักรยานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเกิดขึ้นหลายครั้งในเวลาใกล้ๆกัน ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เรื่องขอความปลอดภัยให้แก่ผู้เดินเท้าและใช้จักรยานบนทางหลวง ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สำเนาถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายธีระพงศ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ขอความกรุณาให้นายกฯ สั่งการเพื่อการปรับแก้กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดดังนี้ (๑) ขอให้พิจารณาปรับแก้กฎหมายให้การทดสอบแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ยานยนต์ต้องทำ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ (๒) ขอให้พิจารณาปรับแก้กฎหมาย ห้ามผู้ที่ขาดสติ ไม่ว่าจะเป็นการเมาสุรา เสพยาเสพติด หรืออยู่ในภาวะทางอารมณ์ไม่ปกติ ขับขี่ยานยนต์ และ (๔) ขอให้พิจารณาดำเนินการให้ผู้รับผิดชอบและมีหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดกับผู้ขับขี่ยานพาหนะโดยไม่เคารพกฎหมาย
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย