Home / News and Events / News / ชมรมฯ ร่วมการประชุมการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน

ชมรมฯ ร่วมการประชุมการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน

ชมรมฯ ร่วมการประชุมการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ ขึ้นเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่ห้องประชุม ๑ อาคาร ๓ ปภ. โดยมีไมตรี อินทุสุต รองปลัดระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน  มีผู้เข้าร่วมกว่า ๗๐ คนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน, มูลนิธิเมาไม่ขับ, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสมาคมวิชาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย เป็นต้น  ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยมี ศ.กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธาน, นายกวิน ชุติมา กรรมการ กับ นายประจักษ์ สะมะยะ ผู้ประสานงาน เป็นตัวแทน

ที่ประชุมได้รับทราบการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๔ ก.พ. กับ ๒ มิ.ย. ๒๕๕๘ ในสี่ด้านได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง, การสร้างจิตสำนึก วัฒนธรรม ความปลอดภัย การมีส่วนร่วม, การขับเคลื่อนงานให้เป็นเอกภาพ และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและกลไกติดตามประเมินผล, การขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๕๘  และการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ได้แก่การทำแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับแผนแม่บทและแผนทศวรรษความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๘-๕๙ การสนับสนุนงบประมาณ และการติดตามประเมินผล  โดยมีความเห็นและข้อเสนอบางประการที่น่าสนใจ เช่น ควรมีคู่มือการดำเนินงานที่ใช้ได้ง่ายให้บุคลากรและหน่วยงานในพื้นที่, กระทรวงสาธารณสุขควรออกข้อบังคับให้มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่เข้ามาโรงพยาบาลทุกคน, การยุบรวมคณะอนุกรรมการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจาก ๖ ชุดในปัจจุบันให้เหลือ ๒ ชุด เพื่อลดงานธุรการ แต่ให้มีการประชุมสม่ำเสมอ

สำหรับเรื่องเพื่อพิจารณา ในระเบียบวาระที่ ๔.๒ การขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรด้วยจักรยาน  ที่ประชุมได้รับทราบการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า ศปถ.ได้มีข้อสั่งการขอความร่วมมือให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงจากคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เช่น บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่ยานพาหนะ, การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัย, การตรวจสอบและปรับปรุงสถาพผิวจราจรและบริเวณข้างทาง ฯลฯ  ส่วนแนวทางที่จะขับเคลื่อนต่อไปก็มีการขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลักและให้การดำเนินงานอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รณรงค์สร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายและเอื้อเฟื้อแบ่งปันการใช้รถใช้ถนนให้เป็นวิถีชีวิตของประชาชน

คุณกวิน, ศ.ดร.ธงชัย และคุณสุรสิทธิ์ ศิลปะงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ ในที่ประชุม

ในเรื่องนี้ ศ.ธงชัย ได้กล่าวว่า ชมรมฯ มีงานวิจัยชี้ว่าคนทั่วไปเข้าใจประโยชน์หรือข้อดีของการใช้จักรยาน แต่หลายคนก็ยังมีทัศนคติไม่ดีต่อการใช้จักรยาน หรือเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมการใช้จักรยาน เช่น กรณีการใช้หมวกนิรภัย(หมวกกันน็อก) ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข  โดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเสนอตัวเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการของ ศปถ. เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการประสานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรด้วยจักรยาน 

ส่วนคุณกวินได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินงานของชมรมฯ ในการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรด้วยรถจักรยาน ตั้งแต่การดำเนินงานให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ ผ่านมติ ๕.๑ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๕๕ซึ่งมีเนื้อหาให้หน่วยงานราชการดำเนินงานหลายด้านที่จะนำไปสู่ความปลอดภัยในการสัญจรด้วยการเดินและการใช้จักรยาน   มตินี้ผ่านการรับรองของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและมอบให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติเมื่อวันที่ ๑๖ พ.ย. ๒๕๕๖ และขณะนี้ชมรมฯ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนให้นำมตินี้ไปปฏิบัติ ซึ่งชมรมฯ ได้เข้าพบหารือการปฏิบัติตามมติกับผู้บริหารหน่วยงานราชการมาแล้ว ๖ กระทรวง และมีดำเนินการร่วมกับภาคีในภาคประชาสังคมด้วย   มาตรการที่ชมรมฯดำเนินงานมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

มาตรการระยะสั้นคือการร่วมกับชมรมและเครือข่ายจักรยานจากทั่วประเทศ ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิเมาไม่ขับ และ สสส. ขอให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เฉียบขาด จริงจัง, ขอให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดในทันที ไม่รอลงอาญา และพิจารณาให้การขับรถแล้วทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเป็นการกระทำ โดยเฉพาะขับในขณะที่มึนเมาหรือขาดสติใดๆและขับรถอันตราย เป็นการกระทำโดยเจตนา มิใช่ความประมาท และการรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตื่นตัวความเข้าใจแก่สาธารณชนในประเด็นความปลอดภัยทางถนน  ในอีกด้านหนึ่ง ชมรมฯ ก็ได้เรียกร้องให้ผู้ใช้จักรยานปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและใช้ถนนด้วยความระมัดระวังด้วย  ในทางวิชาการ ชมรมฯ สนับสนุนการศึกษาวิจัยและได้จัดการประชุมวิชาการเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยานประจำปีมาแล้วสามปี โดยในปี ๒๕๕๘ นี้เป็นการประชุมในเรื่องความปลอดภัยทางถนนโดยเฉพาะต่อคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน ซึ่งสามารถนำผลการวิจัยไปเสนอในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ครั้งที่ ๑๒ ได้

ในระยะกลาง ชมรมฯ ได้ขอความร่วมมือจากสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และจะมีการลงนามในบันทึกความตกลงในการทำงานร่วมกันในการคุ้มครองสิทธิของคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน โดยเฉพาะการให้ความรู้และความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ใช้จักรยานเมื่อเกิดเหตุร้าย  และการขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องใช้มาตรการสร้างความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เช่น การจำกัดความเร็วที่ ๓๐ และ ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง, การจัดให้มีทางที่ปลอดภัยสำหรับจักรยาน รวมทั้งการนำจักรยานออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ส่งเสริมการใช้จักรยานบนถนนสายรอง และทำแผนที่โครงข่ายเส้นทางที่แนะนำให้ขี่จักรยาน, การปรับปรุงระบบการสัญจรโดยรวมรวมทั้งการออกแบบถนนเป็นต้น 

นอกจากนั้นกรณีที่กลุ่มบลูมเบิร์กฟิลโลโซฟี กำลังจะให้ความช่วยเหลือไทยในฐานะเป็นประเทศที่มีอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ในการทำโครงการประเมินความเสี่ยงสากล (International Risk Assessment Program – IRAP) ซึ่งเป็นการใช้ซอฟแวร์และกระบวนการออกแบบระบบการจราจรขนส่งที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในอังกฤษพัฒนาขึ้น โดยอาศัยหลักการทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัย และวิศวกรรมการจราจรขนส่งมาประยุกต์ร่วมกันสร้างเป็นเครื่องมือเพื่อปรับปรุงระบบการออกแบบถนนและการออกแบบการจราจรขนส่งให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นชมรมฯ ยินดีจะเข้าร่วมโครงการนี้เต็มที่ในด้านการเดินและการใช้จักรยาน

ในระยะยาว ชมรมฯ ได้ขอความร่วมมือกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในการจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติให้มีการแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการยุติธรรม ให้มีผลในการป้องปรามผู้กระทำผิดและการปกป้องคุ้มครองผู้ใช้ถนนมากขึ้น โดยเฉพาะคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน, การทำงานกับกรมการขนส่งทางบกให้มีการปรับปรุงการสอนและการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ให้ผู้ขับขี่รถยนต์มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้รถให้ปลอดภัย โดยเฉพาะกับคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน  และการทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการให้มีการจัดการเรียนการสอนให้เกิดความรู้และทักษะในการใช้จักรยานอย่างปลอดภัยแก่เด็กทุกคนในระบบโรงเรียน

ท้ายสุด ประธานที่ประชุมได้สรุปในเรื่องการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรด้วยรถจักรยานว่า ให้มีการสร้างกระแสการใช้จักรยานต่อไป, ใช้มาตรการต่างๆ ตามที่ชมรมฯ เสนอ, ใช้กระแสการจัดกิจกรรม Bike for Mom ขับเคลื่อนด้านความปลอดภัย และเสริมสร้างบทบาทของชุมชนให้เข้มแข็ง

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.