ชมรมฯ ร่วมสัมมนากรุงเทพฯ เมืองเดินดี?
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UDDC)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “กรุงเทพฯ เมืองเดินดี” โครงการศึกษาศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้าและโครงการศึกษาดัชนีศักยภาพการเดินเท้า ขึ้นที่โรงแรมโนโวเทลกรุงเทพ การสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานระยะที่ ๒ ของ “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างในการพัฒนา “เมืองเดินดี” คือเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองใช้การเดินและระบบขนส่งมวลชนเป็นวิธีการหลักในการเดินทาง ระยะที่ ๒ ของโครงการนี้เป็นการกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับใช้เป็นพื้นที่นำร่องและดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางในการออกแบบ มีการพัฒนาตัวชี้วัดศักยภาพการเดินเท้า (Walkability) พิจารณาสภาพแวดล้อมและองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นมิตรกับการเดิน ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย การสัมมนาในวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตัวชี้วัดการเดินดีนี้
เนื่องจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ดำเนินโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา (๒๕๕๔ – ๒๕๕๗) และขณะนี้ได้เริ่มโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในปี ๒๕๕๘ โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดีจึงสอดคล้องไปกับการดำเนินงานของชมรมฯ ชมรมฯ จึงได้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ด้วย โดยมีนายกวิน ชุติมา เป็นตัวแทน
ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเปิดการสัมมนา
นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวเปิดการสัมมนาว่า กทม.มีหน้าที่ดูแลให้ประชาชนเดินทางด้วยเท้าได้สะดวก ที่ผ่านมา กทม.มี “ปฏิบัติการขอคืนทางเท้า” (จากพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย) ให้ประชาชนเดินได้สะดวก ซึ่งพบว่าทำได้ยากแม้แต่ในยุค คสช. แม้จะได้คืนมา แต่บัดนี้สถานการณ์ก็เริ่มกลับคืนสู่สภาพเดิมอีก เพราะประชาชนไม่มีวินัย กทม.มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอจะดูแลให้ทั่วถึงได้ตลอดเวลา ความร่วมมือของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ การทำทางจักรยานก็เช่นเดียวกัน ทางจักรยานที่ถนนพระสุเมรุไม่ประสบความสำเร็จเพราะผู้ประกอบการไม่ร่วมมือ
ส่วน ผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้กล่าวขณะที่นำเสนอโครงการมีใจความส่วนหนึ่งว่า เมืองเดินได้-เมืองเดินดีก็คือเมืองน่าอยู่ เมืองที่มี “สุขภาพดี” และผู้อาศัยมีสุขภาพดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ขยายประเด็นการทำงานจากการมุ่งสร้างสุขภาพของปัจเจกชนไปสู่สุขภาพเมืองด้วย นำมาสู่โครงการนี้ และแม้จะไม่กล่าวถึงการใช้จักรยาน ศูนย์ฯมีความเชื่อว่า เมืองที่เดินได้และเดินดีจะเป็นเมืองที่ใช้จักรยานได้และดีด้วย ได้มีการยกตัวอย่างย่านสยาม-ปทุมวัน มาพูดคุย จากการเป็น “ย่านเดินได้” ของกรุงเทพฯ ที่ได้คะแนนสูงสุด
การหารือในกลุ่มประชาสังคม
จากนั้นเป็นการแบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็น ๖ กลุ่มย่อยของภาคีต่างๆ ในการพัฒนาเมือง และคุณกวินได้เข้าร่วมในกลุ่มที่ ๖ ซึ่งเป็นกลุ่มของภาคประชาสังคม แต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้พูดคุยแลกเปลี่ยนหารือในประเด็นคำถาม ๓ คำถามเดียวกัน ได้แก่ (๑) สิ่งแวดล้อมของเมืองอะไรบ้างที่สนับสนุนการเดินเท้า เพราะอะไร, (๒) จากประสบการณ์และมุมมองของท่าน/องค์กรท่าน ปัจจัย/สาเหตุที่ลดทอนศักยภาพการเดินเท้าของประชาชนทั่วไปมีอะไรบ้าง และ (๓) จากประสบการณ์และมุมมองของท่าน/องค์กรท่าน การบริหารจัดการพื้นที่เดินเท้าควรเป็นอย่างไร ท่านมีข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างไรบ้าง
การอภิปรายในแต่ละกลุ่มเป็นไปอย่างกว้างขวางน่าสนใจ ซึ่งทางศูนย์ฯแจ้งว่า จะทำข้อสรุปออกมาส่งให้ผู้เข้าร่วมทุกคน เมื่อชมรมฯได้รับแล้วจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป ในการสัมมนาครั้งนี้ คุณกวินได้ย้ำเน้นว่าการจะเป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ได้นั้น ประชาชนคนเดินเท้าต้องได้รับความสำคัญสูงสุด และการเดินต้องได้รับการพิจารณาก่อนการเดินทางวิธีอื่นทั้งหมด ทุกเส้นทางต้องมีทางเดินเท้า และ “ประชาชน” นี้หมายถึงทุกคน รวมทั้งเด็ก ผู้สูงอายุคนพิการ และคนที่มีข้อจำกัดในการเดินทุกรูปแบบด้วย โดยตั้งข้อสังเกตว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ไม่มีตัวแทนผู้สูงอายุและคนพิการเข้าร่วมเลย ซึ่งทางทีมงานชี้แจงว่า ได้เชิญไปแล้ว แต่ไม่มีตัวแทนมาร่วมสัมมนา
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย