Home / News and Events / News / เมาแล้วปั่น ควรแก้กฎหมายหรือไม่ อย่างไร?

เมาแล้วปั่น ควรแก้กฎหมายหรือไม่ อย่างไร?

เมาแล้วปั่น ควรแก้กฎหมายหรือไม่ อย่างไร?

เหตุการณ์ที่มีคนเมาขี่จักรยานถูกตำรวจจับที่จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 10กันยายน 2558อัยการส่งฟ้อง แต่ศาลวิเชียรบุรีตัดสินว่าไม่ได้กระทำผิดตามกฎหมาย ได้กลายเป็นข่าวฮือฮาในสื่อมวลชนทุกช่องทาง ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อสังคม  สาธารณะชนให้ความสนใจออกความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ทำให้ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดการประชุมโต๊ะกลมระดมความเห็นในหัวข้อ เมาแล้วปั่น – ควรแก้กฎหมายหรือไม่ อย่างไร? ขึ้นที่โรงแรมมิโด ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20ตุลาคม 2558เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกรณีนี้เป็นกฎกติกาในสังคมต่อไป

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 29คน ประกอบด้วย นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.), นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, พ.ต.ต.อนุชา ผู้มณีจินดา สารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร, นางกฤษณา ภาณุเวช หัวหน้าส่วนส่งเสริมความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก,  นายนพพร จรุงเกียรติ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร, นายอเนก บุญมา และ นส.กนกกาญจน์ วางขุนทด นักวิชาการปฏิรูปกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, นายกัณฐ์โชติ พุฒิพิมพ์พิสิฏฐ์ นิติกร สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, นส.ปิยธิดา พิชชโยธิน นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายเอกชัย แสนศรี ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน, นักวิชาการกลุ่มเมืองเก่า และผู้ใช้จักรยานจากชุมชนและชมรมจักรยานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด   ในส่วนชมรมฯ มีศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (ประธาน), ดร.สุขแสง คูกนก (กรรมการ), ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา (กรรมการ), นายกวิน ชุติมา (กรรมการ), นส. อัจจิมา มีพริ้ง (ผู้จัดการ) และทีมงานเจ้าหน้าที่

หลังจากประธานชมรมฯ ได้กล่าวเปิดประชุมแล้ว คุณหมอธนะพงษ์ จินวงษ์ ได้ฉายภาพเสนอสถานการณ์ความปลอดภัยจักรยาน กรณีดื่มแล้วปั่น ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นทางการเมื่อวานนี้(19 ต.ค.)ว่า ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในไทย 24,237 คน คิดเป็น 36ต่อประชากรหนึ่งแสนคน สูงสุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากลิเบีย   ศวปถ.ได้ศึกษาข้อมูลจากโรงพยาบาล 33 แห่งทั่วประเทศพบว่า เมื่อสิบปีก่อนมีผู้ใช้จักรยานบาดเจ็บเข้ามารักษา 18,000 คน และพบว่าร้อยละ 18 มีแอลกอฮอล์เกี่ยวข้อง ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 รองจากรถจักรยานยนต์  ในสี่ปีหลังนี้ มีผู้ใช้จักรยานเสียชีวิต 100 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 25 คน  ข้อมูลนี้ไม่ต่างกับเมื่อสิบปีก่อนคือร้อยละ 18มีแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องด้วย  แสดงว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ใช้จักรยาน

จากนั้น ดร.สุขแสง คูกนกได้ฉายภาพสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522  และการใช้-การตีความยกเอาความเห็นต่างๆ ที่มีการแสดงออกทางสื่อ ซึ่งแม้แต่อัยการสองคนก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน   ตอนท้าย ดร.สุขแสงกล่าวว่า เราไม่ควรมาวนเวียนกับข้อกฎหมาย แต่พิจารณาในบริบทจริง  ดังนั้นหากเราเห็นว่าไม่ควรให้คนเมามาใช้ถนนไม่ว่าจะขับขี่ยานพาหนะใดก็ตาม ก็ควรทำกฎหมายให้ชัดเจน และเมื่อเป็นข้อห้ามตามกฎหมายแล้วก็ต้องมีผลบังคับใช้ทั่วกันในทุกพื้นที่ทุกกรณี

เสร็จแล้ว คุณปิยธิดา พิชชโยธิน นักวิชาการด้านกฎหมาย ได้นำเสนอเสริมต่อในหัวข้อ เมาแล้วปั่น กฎหมายต่างประเทศว่าอย่างไรพบว่า อังกฤษจัดให้จักรยานเป็นพวกเดียวกับรถม้า ไม่ใช่รถ จึงไม่เอากฎหมายที่ใช้กับรถยนต์มาใช้กับจักรยาน แต่บัญญัติกฎหมายเรื่องเมาแล้วขับโดยเฉพาะ ถ้ามีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนดก็ผิดกฎหมาย  แต่คนขี่จักรยานมีโทษเบากว่าคนขับรถ,   เนเธอร์แลนด์ใช้กฎหมายเมาแล้วปั่นกับจักรยานด้วย  แต่คดีมีน้อย มีโทษปรับร้อยกว่ายูโรและเพิ่มโทษเมื่อกระทำผิดซ้ำซ้อน  แต่ถ้าทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต การลงโทษจะเป็นแบบเดียวกับคนขับรถยนต์,   เยอรมนีห้ามเมาแล้วปั่นชัดเจนและโทษรุนแรงเท่ากับเมาแล้วขับ,  ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายต่างกันไปตามรัฐ ทั้งการพิจารณาว่าเป็นความผิดหรือไม่และบทลงโทษ พอสรุปได้เป็นห้ากลุ่ม,  กฎหมายในออสเตรเลียก็แตกต่างไปตามรัฐเช่นกัน เมาแล้วปั่นผิด แต่ศาลพิจารณาลงโทษไปตามข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่,  นิวซีแลนด์กำหนดให้ไม่ว่าขับและปั่น เมาแล้วผิดกฎหมาย และโทษจะรุนแรงขึ้นไปตามขั้นตอน,  ท้ายสุด ในญี่ปุ่น เมาแล้วปั่นผิดกฎหมายและโทษเท่ากับเมาแล้วขับ แต่ไม่มีหักคะแนน และลงโทษคนที่นั่งไปด้วย  โดยสรุปคือ ทั่วโลก เมาแล้วปั่นผิด ยกเว้นบางรัฐในสหรัฐฯ  ที่เขามีกฎหมายในเรื่องนี้ชัดเจนเนื่องจากเขามองว่ามีคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้น จึงต้องควบคุมให้เกิดความปลอดภัย     

จากนั้นก็เปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมี ดร.พนิต ภู่จินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่าเรื่องนี้มีหลายมิติและต้องพิจารณาบนหลักการ และมีข้อพิจารณาที่ต่อเนื่องไปหลายประการ เช่น หากตีความว่าจักรยานเป็นรถ ผู้ขี่จักรยานต้องมีใบขับขี่หรือไม่,  “เมา” คืออะไร ควรปฏิบัติต่อคนเมาอย่างไร ฯลฯ   การตีความ “จักรยาน” ในบริบทไทยอย่างไร จึงควรมองให้ลึกมากกว่า “ถูก” หรือ “ผิด”

 

ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง พอสรุปประเด็นหลักได้ดังนี้:

· ในคดีที่เป็นข่าว  เข้าใจว่าตำรวจและอัยการใช้หลักทั่วไปที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ของ พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ว่า “รถ” รวมยานพาหนะทุกชนิด ยกเว้นรถไฟและรถราง ดังนั้นเมาแล้วปั่นก็ผิด  ในขณะที่ศาลเอาบทบัญญัติเฉพาะในมาตรา 84 มาใช้ซึ่งเป็นเรื่องกฎจราจรที่เกี่ยวกับจักรยาน แต่ไม่รวมเมาแล้วปั่น

·  ต้องพิจารณาว่าสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุมาจากคนขี่จักรยานที่เมาหรือคนขับรถมาชน  ควรให้เวลาคนขี่จักรยาน  รณรงค์เมาไม่ปั่นก่อนจึงจะมาใช้มาตรการทางกฎหมาย  ไม่อยากให้มีกฎหมายขณะนี้ เมาแล้วปั่นไปก่อเหตุหรือไม่เป็นประเด็นมากกว่า ขี่จักรยานไม่อยากให้ใครมารังแก  ควรรณรงค์ให้ผู้ใช้จักรยานรู้กฎหมายก่อน

· การห้ามเมาแล้วปั่นอาจไปลิดรอนสิทธิของคนชนบทที่ดื่มสุรา  ซึ่งมีความเห็นแย้งว่า ประเด็นหารือกันไม่ใช่ห้ามดื่มแอลกอฮอล์แล้วขี่จักรยาน แต่ห้ามเมื่อเมาและเมาแค่ไหนจึงผิด

·     ทางแก้ปัญหาเมาแล้วปั่นคือ (1) แก้ พรบ.จราจรทางบก ให้เป็นความผิดชัดเจน เจ้าหน้าที่จับกุมได้ หรือ (2) ตำรวจอาจใช้บทบัญญัติที่ห้ามการขับโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว  หรือ (3) ใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2555ที่ห้ามดื่มบน “ทาง” โดยใช้นิยาม “ทาง” ตาม พรบ.จราจรทางบก และห้ามดื่มบนรถ ไม่ว่าจะเมาหรือไม่เมา ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

·     แม้ว่าอาจจะใช้เวลาหลายปีก็ควรแก้กฎหมายให้เมาแล้วปั่นผิดกฎหมายอย่างชัดเจน  อะไรที่ไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะลำบาก เพราะแม้แต่เรื่องที่ชัดเจนก็ยังมีการละเมิด   ดังนั้นควรทำให้ชัดเจนมากที่สุด ลดการใช้ดุลยพินิจลงให้เหลือน้อยที่สุด

·     ต้องดูบริบทการใช้จักรยานในปัจจุบัน ถ้าผู้ใช้จักรยานต้องการใช้ถนนร่วมกับรถยนต์อย่างปลอดภัยก็ต้องใช้กฎหมายเดียวกัน  ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับถูกลงโทษ  และตำรวจคงไม่ตามไปจับชาวบ้านที่เมาขี่จักรยานในเรือกสวนไร่นาอยู่แล้ว  ถ้าจะใช้จักรยานอยู่ร่วมกับสังคมก็ต้องเคารพกฎสังคม สังคมจึงจะยอมรับ ถ้าเราไม่ทำผิดก็ไม่ต้องเกรงอะไร   การมีกฎหมายชัดเจนเป็นทางหนึ่งในการทำให้เกิดการยอมรับ  จึงอยากให้พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับจักรยานให้มากขึ้น  ประเด็นนี้อาจเป็นการเริ่มต้น  การมีกฎหมายจริงจังกับการใช้จักรยาน จะทำให้ผู้ใช้จักรยานมีภาพลักษณ์ที่ดี

· เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็นว่า เมื่อนำรถจักรยานมาใช้ในทางก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม  เมาแล้วต้องไม่ขับ  ควรใช้กฎหมายเมาแล้วขับได้  ถ้ายังมีข้อโต้แย้งในตัวกฎหมายก็ควรทำให้ชัดเจน  แต่การบังคับใช้ควรดูบริบทว่าใช้จักรยานที่ใด คือดูลักษณะทางกายภาพเป็นการเฉพาะ  การบังคับใช้ไม่ใช่การจำกัดสิทธิ เพราะการใช้สิทธิต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น ไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่ แม้ว่าจักรยานอาจไม่ก่อเหตุร้ายแรง ก็อาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้   กรณีการเมาใช้ดุลยพินิจไม่ได้ หากปริมาณแอลกอฮอล์เกินก็ผิดแน่นอน  การบังคับใช้กฎหมายเป๊ะๆไม่ใช่ทางแก้ปัญหา 

· คำพิพากษาศาลชั้นต้นผูกพันเฉพาะคดีนั้นๆ หากยังไม่มีการแก้กฎหมายให้ชัดเจน ศาลอาจตัดสินต่างไปในคดีอื่นได้  การตีความจะให้สิ้นสุดต้องเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งจะถือเป็นบรรทัดฐาน แต่บรรทัดฐานนี้ก็ไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย ยังเปลี่ยนได้  ขณะนี้อัยการได้อุทธรณ์คดีที่เป็นประเด็นนี้แล้ว  ในระหว่างที่ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่นี้ ตำรวจใช้มาตรการอื่นได้ เช่น กักตัวไว้จนหายเมา

ท้ายสุด อาจารย์ธงชัยได้สรุปประเด็นหลักๆ จากการอภิปรายและตั้งข้อสังเกตให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

· ดื่มกับเมาไม่เหมือนกัน ดื่มไม่เมาไม่เป็นไร เมาแต่อยู่กับที่ก็ไม่เป็นปัญหา  ประเด็นของเราคือ เมาไม่ปั่น เมาไม่ขับ

· เรื่องกฎหมายมีความเห็นต่างกัน บ้างว่าให้แก้กฎหมายให้เมาแล้วปั่นผิดกฎหมายอย่างชัดเจนไปเลย บ้างว่ายังไม่ควรบังคับใช้กฎหมาย เพราะจะมีผลกับการส่งเสริมการใช้จักรยาน  ประเด็นพิจารณาเรื่องกฎหมายมีสองประเด็น คือ (๑) ยังไม่มีข้อสรุปชัดว่า ใช้กฎหมายบังคับห้ามเมาแล้วปั่นได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกา แต่ตำรวจจะไม่กล้าจับ และหันไปใช้กฎหมายหรือมาตรการอื่นแทน  ถ้าศาลตีความว่าใช้ไม่ได้  ทางออกมีสองทางคือ ใช้มาตรการอื่น เช่น กักตัวไว้จนหายเมา หรือแก้กฎหมาย   ในแง่กฎหมายยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องที่ควรพิจารณาอีกหลายประการ เช่น ควรบังคับใช้กฎหมายเรื่องความเร็วของรถยนต์อย่างจริงจัง จะลดอุบัติเหตุได้มาก,  การห้ามขับขี่ควรรวมถึงเมื่อใช้สารเสพติดอื่นด้วย,  หากว่ามีกฎหมายห้ามเมาแล้วปั่นชัดเจนแล้ว การบังคับใช้อาจไม่เข้มแบบญี่ปุ่น แต่ใช้เป็นมาตรการป้องปรามแบบยุโรป

· เราควรรณรงค์ “เมาไม่ปั่น” ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จะร่วมมือกับ ศวปถ. และมูลนิธิเมาไม่ขับ

การประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้มีสื่อมวลชนให้ความสนใจไปทำข่าวและสัมภาษณ์ประธานชมรมฯ ทั้งโทรทัศน์ (ช่อง 3, 5, 7 , 9) และหนังสือพิมพ์(มติชน)

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.