ชมรม ร่วมการแถลงข่าวงานสัมมนาความปลอดภัยทางถนน
เช้าวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้จัดการแถลงข่าวงานสัมมนาระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ ๑๒ “ครึ่งทางทศวรรษกับการจัดการที่เข้มแข็ง” ขึ้นที่กรมฯ โดยมีนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก มาเป็นประธานของการแถลงข่าวนี้ด้วยตนเอง ร่วมกับนายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ส่งนายกวิน ชุติมา เป็นผู้แทนเข้าร่วมงาน
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวเปิดการแถลงข่าวว่า ความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องของทุกคน ทุกหน่วยงาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเชิงนโยบายตั้งแต่ระดับโลกลงมาถึงระดับท้องถิ่น และองค์การสหประชาชาติกำหนดในปฏิญญามอสโคว์ให้ พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๖๓ เป็น “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” โดยมีเป้าหมายลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีไทยที่ออกมาในปี ๒๕๕๓ เนื่องจากรัฐบาลใช้สถิติของตำรวจว่าในปีนั้นมีตัวเลขผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ ๒๐ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้จึงเป็น ๑๐ ต่อประชากรแสนคน การดำเนินงานเรื่องความปลอดภัยทางถนนใช้เสาหลัก ๕ ประการคือ (๑) ถนนและการสัญจรอย่างปลอดภัย (๒) ยานพาหนะที่ปลอดภัย (๓) ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย (๔) การบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน และ(๕) การตอบสนองหลังเกิดอุบัติเหตุ รัฐบาลมีคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ แม้ว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บเสียชีวิตยังสูงอยู่ในช่วงเทศกาลเนื่องจากมีการใช้ถนนพร้อมกันเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐-๒๐ เท่า กรมฯ ก็ยังยืนยันจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย และให้ความสำคัญทุกวันไม่เฉพาะช่วงเทศกาล ในส่วนของกรมฯเอง การออกใบขับขี่ต้องเข้มงวดมากขึ้น ต้องให้แน่ใจว่าผู้ได้รับใบขับขี่ไปมีความรู้และทักษะที่จะใช้รถใช้ถนนได้ปลอดภัย
ส่วนรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า มาตรการสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางถนนคือ (๑) การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจัดการในแต่ละพื้นที่ และ(๒) การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ความรู้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและวินัยการจราจร
ผู้ร่วมแถลงข่าว: ดร.สุเมธ (ที่สองจากซ้าย), รองอธิบดี ปภ. (ที่ห้าจากซ้าย), อธิบดี ขบ. (ที่สี่จากขวา), นพ.ธนะพงษ์ (ที่สามจากขวา) และ คุณชลัช (ที่สอง
จากขวา)
ทางด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้กล่าวถึงโครงการวิจัยการติดตามและประเมินผลจากการปฏิบัติตามแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนของสถาบันฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ การวิจัยได้ศึกษา “เสาหลัก” ทั้งห้าด้าน ซึ่งรายละเอียดสามารถไปดูได้ที่การสัมมนาระดับชาติฯ ในการแถลงข่าวนี้ได้พูดเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งพบว่ามีปัญหาที่เป้าหมาย เนื่องจากมีตัวเลขการสูญเสียชีวิตต่างกันหลายตัวเลข (ตำรวจ ๘,๐๐๐ กว่า, กระทรวงสาธารณสุข ๑๔,๐๐๐ กว่า และองค์การอนามัยโลก ๒๓,๐๐๐ กว่า) นอกจากนั้นตัวเลขในแต่ละจังหวัดก็แตกต่างกันมากจากปัจจัยที่ต่างกัน ไม่อาจเอาสถิติรวมมาใช้ได้ และยังมีปัญหาการคิดค่าเฉลี่ยด้วย ซึ่งทางสถาบันฯ เสนอให้ปรับปรุงเป้าหมายด้วยการพัฒนาความถูกต้องของข้อมูลระดับชาติและการนำข้อมูลระดับชาติไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ และให้ปรับปรุงการดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่อเนื่องและตั้งคณะกรรมการมาติดตามประเมินผลการใช้มาตรการ
จากนั้น นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ให้ภาพรวมของงานสัมมนาครั้งที่ ๑๒ นี้ ซึ่งเรื่อง “การจัดการเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยาน บทเรียนและข้อเสนอเชิงนโยบาย” เป็นหนึ่งในเวทีหลักสี่เวทีของการสัมมนา โดยมีผู้แทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศ กรมทางหลวงชนบท และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นวิทยากร และได้เรียกผู้แทนชมรมฯ ให้ยืนขึ้นแสดงตัวให้ผู้เข้าร่วมการแถลงข่าวได้เห็นตัวด้วย คุณหมอธนะพงศ์ได้ชี้แจงในเรื่องตัวเลขสถิติซึ่งเป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมและสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวเนื่องจากตัวเลขขององค์การอนามัยโลกทำให้ไทยขึ้นไปอยู่อันดับสองของโลกในด้านการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ว่าเนื่องจากเป้าหมายที่แท้จริงของทศวรรษความปลอดภัยทางถนนคือการลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง เมื่อขณะนี้พบว่าตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกสูงกว่าของตำรวจมาก และจะมีการปรับปรุงสถิติให้ตรงกัน เป้าหมายก็สามารถเปลี่ยนได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี หลายประเทศก็มีการเปลี่ยนจึงน่าจะไม่ใช่ลดลงเหลือ ๑๐ ในประชากรหนึ่งแสนคนแล้ว
ผู้ร่วมแถลงข่าวคนสุดท้ายคือ นายชลัช วงศ์สงวน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี สกิลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ ที่จัดการเรียนการสอนเน้นสร้างทักษะการขับรถอย่างปลอดภัยให้พนักงานของบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งจำนวนมากเป็นคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า โรงเรียนมีเครื่องจำลองการขับขี่ (Simulator) ให้ฝึกการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ บนถนน ซึ่งเครื่องนี้สามารถตั้งให้ผู้เข้าฝึกเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนแบบต่างๆได้ รวมทั้งคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน และมีเครื่องทดสอบการขับขี่ด้วย เป็นตัวอย่างของการที่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนในการสร้างความปลอดภัยทางถนนได้
การใช้ความเร็วและเมาแล้วขับ สองสาเหตุหลักของอุบัติเหตุที่รถชนผู้ใช้จักรยานเสียชีวิต เป็นสองใน ๑๒ ตัวชี้วัดสำคัญของความปลอดภัยทางถนน
อนึ่งเครื่องหมาย (Logo) ของการสัมมนาครั้งนี้เป็นรูปคนขี่จักรยานยนต์กับคนจูงจักรยานบนถนนข้างไฟสัญญาณจราจร นับเป็นครั้งแรกที่รูปคนใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในเครื่องหมายของการสัมมนาระดับชาตินี้ แสดงให้เห็นว่าการใช้จักรยานได้รับการตระหนักยอมรับว่าเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในเรื่องความปลอดภัยทางถนนแล้ว
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย