Home / News and Events / News / ผู้ที่เมาแล้วขับรถควรถูกจับและกักขังทันที

ผู้ที่เมาแล้วขับรถควรถูกจับและกักขังทันที

ผู้ที่เมาแล้วขับรถควรถูกจับและกักขังทันที

นพ.แท้จริง, นพ.ธนะพงศ์ และผู้พิพากษาจิตรกร ในการแถลงข่าว

บ่ายวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ  มูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวผลการศึกษา “มาตรการเมาขับจับขัง ใครได้ใครเสีย” โดยมีนายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. และนายจิตรกร พัฒนาศิริ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้

การศึกษาของ ศวปถ. ได้ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสัมภาษณ์ตุลาการที่มีประสบการณ์ใช้มาตรการกักขังทันที ประกอบกับศึกษาข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บและเสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้าและหลังการใช้มาตรการลงโทษกักขัง พบว่า ในไทย ทุกวันมีผู้เสียชีวิตจากการเดินทางทางถนนราว 40 คน หนึ่งในสี่หรือ 8-10 คนเกิดจากการเมาแล้วขับ ซึ่งครึ่งหนึ่งหรือ 4-5 คนเป็นเหยื่อของคนเมาแล้วขับรถ การลงโทษคนเมาแล้วที่จับได้ที่ผ่านมามี 4 แนวทางคือ ปรับ, ปรับและจำคุก มีการลดโทษและการจำคุกให้รอลงอาญา, ปรับและจำคุก มีการลดโทษและการจำคุกให้รอลงอาญา แต่เพิ่มมาตรการคุมประพฤติเข้าไป, และกักขังทันที

มาตรการสี่แนวทางกับผู้ที่ถูกจับได้ว่าขับรถในขณะที่มีระดับแอลกอฮอล์เกินกว่ากฎหมายกำหนด

การศึกษาชี้ว่า การกักขังเป็นที่เป็นการโทษที่เบากว่าโทษจำคุก จึงเป็นทางเลือกของการลงโทษที่เป็นธรรมมากกว่าการปรับ และการใช้วิธีกักขังซึ่งเหมือนกับการจำคุกในระยะสั้น ไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน (คนจนยากลำบากกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าในการจ่ายค่าปรับ)  นอกจากนั้นในมุมมองทางสังคมวิทยากฎหมายแล้ว การกักขังเป็นการลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดที่กำหนดไว้สำหรับลงโทษเพื่อ “ปรับทัศนคติหรือปรับปรุงอุปนิสัย” หรือเพื่อให้เห็นความสำคัญของผู้อื่น ไม่กระทำสิ่งใดตามอำเภอใจ อันเกิดจากการฝ่าฝืน สร้างอันตรายหรือก่อกวนความสงบสุขของสังคม เป็นการกระทำผิดในระดับที่ไม่ร้ายแรงหรือมีผลกระทบต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่น  การกักขังเป็นโทษที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษกับผู้กระทำความผิดที่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ยืดหยุ่น ศาลสามารถนำมาปรับใช้ในการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และเหมาะที่จะนำมาใช้ลงโทษผู้กระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง แต่ต้องการสร้างสำนึกให้เกิดขึ้นอันเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมที่มากยิ่งขึ้นของบุคคล นอกจากนั้นบุคคลที่ถูกกักขังจะไม่มีการบันทึกในประวัติการกระทำความผิดหรือประวัติอาชญากรรม ต่างจากการจำคุกซึ่งจะมีการบันทึก และมีผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานต่อไปของบุคคลนั้น

การศึกษาพบว่า การใช้มาตรการ “เมาขับจับ(กัก)ขัง” ของตุลาการบางท่านที่ผ่านมา เกิดผลชัดเจนคือทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของผู้เมาขับลดลงทันทีและลดลงตลอดช่วงเวลาที่มีการใช้มาตรการนั้นอยู่  เหตุที่มาตรการนี้แม้จะได้ผลมีหลักฐานชัดเจนแต่ก็ยังไม่มีการนำปฏิบัติให้แพร่หลายหรือเป็นนโยบายทั่วไปของฝ่ายตุลาการทั้งระบบก็เนื่องมาจากไทยยังไม่มีทัศนคติในทางลบอย่างรุนแรงต่อการเมาแล้วขับดังที่มีในหลายประเทศ, มีแรงต้านของผู้พิพากษาหลายท่าน, มีความไม่ต่อเนื่องในการดำเนินงาน และผู้บังคับใช้กฎหมายส่วนหนึ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้กระทำผิด 

ศวปถ. มูลนิธิเมาไม่ขับ สสส. และเครือข่ายรณรงค์เมาขับจับขัง รวมทั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จึงเสนอให้นำการกักขังมาใช้เป็นมาตรการลงโทษผู้ที่เมา(มีแอลกอฮอล์เกินระดับที่กำหนด)แล้วขับรถ เป็นนโยบาย-มาตรฐานที่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังทั่วประเทศ และจะทำเป็นข้อเสนอยื่นต่อนายกรัฐมนตรีให้นำมาทดลองปฏิบัติทั่วประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง หากได้ผลก็ขอให้ปฏิบัติต่อไปเป็นการถาวร แต่หากไม่ได้ผลก็สามารถเลิกได้

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.