Home / News and Events / News / สช.ยกให้การส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานเป็นมติที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก

สช.ยกให้การส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานเป็นมติที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก

สช.ยกให้การส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานเป็นมติที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก

สานพลังปฏิรูประบบสุขภาพจดหมายข่าวรายเดือนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ปีที่ 7 ฉบับที่ 65ที่แจกเป็นเอกสารประกอบให้ทุกคนที่เข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558  เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา มีเรื่องที่เกี่ยวกับมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 มติ 5.1 “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ถึงสองเรื่องดังนี้

เรื่องแรกในหมวดสมัชชาขาขึ้นขาลงคือเรื่อง สามอ่าว เมืองจักรยานเขียนโดยจารึก ไชยรักษ์ ได้เนื้อที่ถึงหนึ่งหน้าเต็ม (จดหมายข่าวมี 12 หน้า) เล่าถึงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผ่าน “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” (Provincial Health Assembly) ที่มีการนำมติ 5.1 ไปพัฒนาเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เช่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี และล่าสุดที่เมืองสามอ่าว หรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้นำมติ 5.1 ไปเป็นหนึ่งในห้าประเด็นหลักของสมัชชาสุขภาพจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2558 (ซึ่งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้นำมารายงานไว้แล้วที่ http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/7011)

ชมรมฯ เห็นตรงกับผู้เขียนบทความชิ้นนี้ที่กล่าวไว้ในตอนท้ายอย่างสำคัญว่าการบ้านสำคัญของสมัชชาสุขภาพจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หลังจากนี้คือ การขับเคลื่อนมติไปสู่การปฏิบัติผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ที่ประชุมหน่วยงานราชการประจำเดือนของจังหวัด การประชุมร่วมกับหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับมติ เพื่อวางแผนขับเคลื่อนและหาแหล่งงบประมาณสนับสนุนในการทำกิจกรรมขับเคลื่อนต่อไปสู่นโยบายสาธารณะต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ หรือตำบล และการติดตามประเมินผลนโยบายอย่างต่อเนื่องและจากการประสานกับเลขานุการกิจของสมัชชาสุขภาพประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ทราบว่า ในเดือนมกราคม 2559 นี้จะมีการแต่งอนุกรรมการหรือคณะทำงาน 5 คณะมาขับเคลื่อนประเด็นหลักของแต่ละประเด็นให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริงต่อไป

หน้ากลางของจดหมายข่าวในหมวด มาเล่ามีบทความเขียนโดย หนุ่มขาเคลื่อน เรื่อง ชี้วัดความสำเร็จการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพพยายามตอบคำถามว่า “ทำไมมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน” ว่าต้องดูในสองมิติ

มิติแรกคือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปสู่ความสำเร็จ   เรื่องนี้คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาพบว่ามีปัจจัยสำคัญ 3 ประการได้แก่ (1) ลักษณะของมติคือที่มาของมติและความถูกต้องชัดเจนของเนื้อหา  (2) หน่วยงานที่เป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติมีความเข้าใจ ยอมรับในมติสมัชชาสุขภาพฯ และมีศักยภาพที่จะทำให้บรรลุผลตามมติหรือไม่ และ (3) สภาพแวดล้อมทางนโยบาย คือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็น   คณะผู้ศึกษาชี้ว่า การมีนโยบายสนับสนุนการขี่จักรยานส่งผลให้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 มติการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มีความก้าวหน้าอย่างมาก

ส่วนมิติที่สองคือ การรับรู้ของคนในสังคมต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ  บทความไม่ได้ยกมติใดขึ้นมากล่าวเป็นการเฉพาะ แต่ชี้ว่าที่ผ่านมา “การรับรู้ของสมาชิกสมัชชาสุขภาพและสังคมโดยรวมยังมีน้อย อาจเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การสื่อสารผลการขับเคลื่อนมติมีน้อยและอยู่ในวงจำกัด”….   “นอกจากนี้ลักษณะของการขับเคลื่อนนโยบายที่ไปเป็นภารกิจของหน่วยงานการสื่อสาร ผลการดำเนินงานจะเป็นผลของหน่วยงานนั้นๆ หากไม่มีการสรุปรวบรวมเป็นภาพรวมของมติและสื่อสารออกสู่สาธารณะ ก็อาจทำให้ไม่เห็นถึงความก้าวหน้าของมติได้”

บทความนี้มีภาพประกอบเป็นภาพศาสตราจารย์กิติคุณ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย  กับคุณจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศ โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ขณะเข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(ในขณะนั้น)ด้วย

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.