Home / News and Events / News / การใช้จักรยานกับการเก็บค่า(ทำให้)รถติด

การใช้จักรยานกับการเก็บค่า(ทำให้)รถติด

การใช้จักรยานกับการเก็บค่า(ทำให้)รถติด

ใครๆก็บอกได้ว่า การจราจรที่ติดขัดตามถนนในเมืองต่างๆ ที่เราเรียกย่อๆว่า รถติดนั้นก่อผลเสียหลายด้าน  แต่เท่าที่ทราบยังไม่มีการศึกษาในไทยว่า ผลเสียที่ว่านี้มีมูลค่ามากน้อยเพียงใด  ในทวีปยุโรป การศึกษาพบว่า โดยรวมแล้วในแต่ละปี สภาพรถติดก่อความเสียหายให้เมืองต่างๆ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 100,000,000,000 (หนึ่งแสนล้าน) ยูโร หรือกว่าร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจนต้องหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง  วิธีการหนึ่งที่หลายเมืองนำมาใช้คือ การพยายามลดจำนวนรถยนต์ที่เข้ามาในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น ด้วยการเก็บเงินพิเศษกับรถยนต์ที่เข้ามาพื้นที่นั้น เรียกว่า “ค่า(ทำให้)รถติด” (congestion charges)

สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF)ได้ศึกษาการนำมาตรการนี้มาใช้ในเมืองใหญ่ 4 เมืองคือ ลอนดอนในอังกฤษ, มิลานในอิตาลี และกอเทนเบอร์กกับสต็อคโฮล์มในสวีเดน ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และล่าสุดก็ได้ทำเป็นรายงานออกมาในชื่อ “ค่า(ทำให้)รถติดกับการใช้จักรยาน” (Congestion charges and cycling) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการนำรายได้จากการเก็บค่า(ทำให้)รถติดมาลงทุนส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการใช้จักรยาน

รายงานชี้ว่า แม้เมืองทั้งสี่ดังกล่าวจะใช้แนวทางที่แตกต่างกันในการเก็บค่า(ทำให้)รถติด แต่ผลที่ได้ออกมาก็เป็นบวกคล้ายคลึงกัน นั่นคือ รัฐมีรายได้เพิ่ม การจราจรติดขัดน้อยลง คุณภาพอากาศดีขึ้น และส่งผลดีให้การเดินทางมีความยั่งยืนมากขึ้น  รายงานเน้นด้วยว่า สำคัญมากที่จะต้องวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นนำมาตรการนี้มาใช้ ให้นำรายได้สุทธิจากการเก็บค่า(ทำให้)รถติดมาปรับปรุงการเดินทาง ลงทุนสร้างระบบการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เพื่อให้ความพยายามลดการจราจรด้วยรถยนต์มีประสิทธิผลในระยะยาว ซึ่งการใช้จักรยานควรมีบทบาทที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการนี้   รายงานยกตัวอย่างนครมิลานที่ใช้ค่า(ทำให้)รถติดที่เก็บได้ทั้งหมดไปส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืน โดยใช้เงิน 3 ล้านยูโรลงทุนในระบบจักรยานสาธารณะของเมืองที่มีชื่อว่า “BikeMi” ทำให้การใช้จักรยานสาธารณะในพื้นที่ที่มีการเก็บค่า(ทำให้)รถติดเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 227 ในเวลาเพียงสามปี   ในขณะที่การใช้จักรยานในพื้นที่ส่วนในของนครลอนดอนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66 นับแต่เริ่มมีการเก็บค่า(ทำให้)รถติดเป็นต้นมา และชาวลอนดอนยังใช้จักรยานได้ปลอดภัยมากขึ้นด้วย เหตุการณ์ที่รถยนต์ชนจักรยานลดลงถึงร้อยละ 40 ในย่านใจกลางนครลอนดอน

ประสบการณ์ของลอนดอนและมิลานแสดงให้เห็นว่า การนำรายได้สุทธิจากการเก็บค่า(ทำให้)รถติดไปลงทุนในมาตรการส่งเสริมการใช้จักรยานให้ผลลัพธ์ที่ประทับใจ เป็นตัวอย่างให้เมืองอื่นที่คิดจะนำมาตรการส่งเสริมการใช้จักรยานต่างๆ มาปฏิบัตินำไปพิจารณาใช้บ้าง รวมทั้งสหภาพยุโรปที่กำลังพัฒนาแนวทางสำหรับการจำกัดการเข้าถึงเมืองของรถยนต์ด้วย

ECF สรุปว่า การเก็บค่า(ทำให้)รถติดกับการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นมาตรการที่เสริมซึ่งกันและกันในการส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืน  การนำรายได้จากการเก็บค่า(ทำให้)รถติดมาลงทุนส่งเสริมการใช้จักรยานช่วยสร้างทางเลือกที่ดึงดูดใจให้ชาวเมืองหันมาใช้แทนการเดินทางขนส่งด้วยยานยนต์  

คำถามสำหรับผู้บริหารประเทศไทย โดยเฉพาะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เมืองที่การจราจรติดขัดอย่างแสนสาหัสเป็นปัญหาใหญ่สร้างความเสียหายมากมายแก่ชีวิตประชาชน เมือง และประเทศชาติ มาต่อเนื่องยาวนานคือ ท่านจะไม่พิจารณานำมาตรการเก็บค่า(ทำให้)รถติดกับมาตรการส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจัง (ไม่ใช่อย่างสะเปะสะปะ ครึ่งๆกลางๆ) มาใช้บ้างหรือ

ท่านที่สนใจรายงานฉบับนี้เต็มๆ สามารถอ่านได้ที่ http://ecf.com/profiles/commons/modules/contrib/civicrm/extern/url.php?u=1311&qid=147164

ที่มา: ใบแถลงข่าวของ ECF “Cycling and congestion charges: a winning team for cities, 4 May 2016

——————————————————————————————————————————————————————————————-

เรียบเรียงโดย  กวิน ชุติมา  กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(Thailand Cycling Club – TCC)

TCC เป็นสมาชิกวิสามัญของ ECF มาตั้งแต่ปี 2013 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชีย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA) ในปี 2014 โดยศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและประธาน TCC ได้เป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการชุดก่อตั้งของ WCA ด้วย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.