ชมรมฯ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเทศบาลนำร่องเมืองคาร์บอนต่ำ-เมืองจักรยาน-เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ ในภาค ตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้เข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการภาคตะวันออกที่รีสอร์ทในนครนายก (ซ้าย) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะออกไปเที่ยวชมเมืองยโสธร (ขวา)
ตามที่ได้รายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องถึงความคืบหน้าในการดำเนินงาน โครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ(UNISDR)องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(อบก.) และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ และ ๒๕-๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ทางโครงการฯ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานเทศบาลนำร่องในการพัฒนาสู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ สำหรับเทศบาลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเทศบาลนำร่องในภาคตะวันออก ๒ เทศบาลคือ เทศบาลตำบลพนมสารคามและเทศบาลเมืองพนัสนิคม และเทศบาลนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๕ เทศบาลคือ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองยโสธร เทศบาลเมืองศรีสะเกษ เทศบาลเมืองหนองสำโรง(อุดรธานี) และเทศบาลตำบลโคกกรวด (นครราชสีมา) ตามลำดับ
การเปิดประชุมภาคตะวันออก โดยผู้แทนสันนิบาตเทศบาลฯ (ซ้าย) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร (ขวา)
ผู้เข้าร่วมการประชุมคือทีมงานของเทศบาลที่จะเข้าร่วมในการดำเนินงานโครงการนี้ ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้ผนวกทุกฝ่ายทุกกองของเทศบาลมาทำงานด้วยกัน นับเป็นแนวทางใหม่จากเดิมที่ฝ่ายหรือกองหนึ่งกองใดจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานโครงการหนึ่งใดเพียงฝ่ายหรือกองเดียว แต่ละเทศบาลจึงนำบุคลากรมาร่วมการประชุมกว่าสิบคน เมืองที่นายกเทศมนตรีและ/หรือรองนายกฯ ให้ความสำคัญมาร่วมด้วยตนเองได้แก่ ทม.พนัสนิคม, ทต.พนมสารคาม, ทม.ยโสธร และทต.โคกกรวด
ในการประชุม ขั้นแรกแต่ละทีมเทศบาลได้ประเมินสถานภาพของตนเองในปัจจุบันและและกำหนดระดับความสำเร็จที่ทีมงานคาดหวังจะทำให้เกิดขึ้นในโครงการนี้จากการพัฒนาตามแนวปฏิบัติสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำฯ ๑๑ แนวทางที่เห็นชอบร่วมกัน จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรภาคีโครงการได้มาให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมถึงแนวทางในการสร้างเมืองคาร์บอน เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ ทีมงานเทศบาลได้นำข้อมูลความรู้นี้ร่วมกับผลการประเมินสถานภาพตนเองและความสำเร็จที่คาดหวังไปกำหนดนโยบาย เป้าหมาย มาตรการ และวางแผนการดำเนินงาน นำมาเสนอเป็นร่างเบื้องต้นในที่ประชุมให้เทศบาลอื่นได้รับรู้ เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และเปิดช่องให้ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรภาคีโครงการได้ให้ความเห็นและคำแนะนำให้แต่ละทีมงานเทศบาลนำกลับไปปรับปรุงมาเสนอเป็นร่างสุดท้ายต่อไป โดยแต่ละเทศบาลจะมีเวลาในการปรับปรุงและลงรายละเอียดประมาณหนึ่งเดือน ผู้เชี่ยวชาญจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยในการประชุมทั้งสองครั้งนี้คือนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ และทีมงานสำนักงานชมรมฯ ยังได้ไปร่วมในการให้ความเห็นในการประชุมของเทศบาลภาคตะวันออกด้วย
ผู้แทนชมรมฯ ที่การประชุมภาคตะวันออก – นายกวิน กรรมการ, นส.สรัสวดี ผู้ประสานงาน และ นส.อัจจิมา ผู้จัดการ (ซ้าย) และการประชุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – นายกวิน
ประเด็นที่ผู้แทนชมรมฯ ได้เสนอ-แนะนำในการประชุมทั้งสองคือ การสำรวจ-ศึกษาให้ได้ข้อมูลพื้นฐานของการใช้จักรยานในพื้นที่เพื่อนำมาใช้ให้สามารถวางแผน ตั้งเป้าหมาย กำหนดมาตรการ-กิจกรรม ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในทุกขั้นตอนของโครงการ โดยได้ย้ำเน้นสิ่งที่ประธานชมรมฯ ศาสตราจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กล่าวอยู่เสมอ นั่นคือ “ทางจักรยานไม่ใช่คำตอบสุดท้ายและคำตอบเดียวในการส่งเสริมการใช้จักรยาน” มีมาตรการอื่นมากมายที่ควรนำมาพิจารณาใช้ให้สอดคล้องกับสภาพในท้องถิ่น เช่น การจำกัดความเร็ว หากจะมีการทำ “ทางจักรยาน” ขึ้นมาก็ต้องให้แน่ใจว่าใช้ได้จริง โดยเฉพาะในการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้จักรยานมากขึ้นกว่าเดิม และโดยทั่วไปแล้ว การมีที่จอดจักรยานที่ใช้ได้สะดวกและสามารถล็อกจักรยาน ป้องกันการถูกขโมยได้ระดับหนึ่ง มีความสำคัญและบทบาทในการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากกว่าการมีทางจักรยาน ท้ายสุด เนื่องจากเทศบาลแต่ละแห่งมีโรงเรียนในการดูแลของตนเอง จึงควรพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้จักรยานขึ้นมาจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเหล่านั้น โดยทั้งสิบห้าเทศบาลที่เข้าร่วมโครงการอาจจะทำร่วมกันเรียนรู้จากกันและกันได้
ชมรมฯ จะนำความคืบหน้า พัฒนาการ และความสำเร็จของโครงการนี้มานำเสนอเป็นระยะๆ ต่อไป
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย