Home / News and Events / News / Velo-city 2017 เนเธอร์แลนด์ เปิดรับบทคัดย่อแล้ว

Velo-city 2017 เนเธอร์แลนด์ เปิดรับบทคัดย่อแล้ว

Velo-city 2017 เนเธอร์แลนด์ เปิดรับบทคัดย่อแล้ว

  

การประชุมจักรยานโลก Velo-city Global 2016 ที่นครไทเป ไต้หวัน เพิ่งจบลงไปพร้อมกับความสำเร็จอย่างงดงามได้เพียงสามเดือน  สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF)ซึ่งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกมาตั้งแต่ปี 2013 ก็ได้ประกาศแล้วว่า การจัดประชุมครั้งต่อไป Velo-city 2017 ที่เมืองอาร์เน็ม (Arnhem) และไนเมเก็น (Nijmegen) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดรับบทคัดย่อเพื่อคัดเลือกนำไปเสนอในการประชุมที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-16 มิถุนายน 2017 แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2016 และเปิดรับไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2016  จึงขอเชิญชวนให้ผู้สนใจส่งเสริมการใช้จักรยานจากทั่วโลกไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ ผลการศึกษา โครงการ หรือรายงานต่างๆ ที่อาจทำให้เนื้อหาของการประชุมอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อย่างที่เรารู้กันว่า ขณะนี้เนเธอร์แลนด์เป็น “ประเทศจักรยาน” อันดับหนึ่งของโลก (คงมีก็แต่เดนมาร์กเท่านั้นที่จะกล้าโต้แย้งเรื่องนี้) พลเมืองของประเทศนี้ที่เราเรียกว่า ชาวดัทช์ ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในอัตราสูงมาก ในบางเมืองกว่าครึ่งหนึ่งของการเดินทางทั้งหมดในแต่ละวันทำด้วยจักรยาน ทั้งที่เมื่อราวสี่สิบปีก่อน เนเธอร์แลนด์ก็เหมือนกับประเทศอื่นที่การเดินทางทำด้วยรถยนต์เป็นหลัก มีอัตราการใช้จักรยานต่ำมากและมีการเสียชีวิตที่เกี่ยวกับการใช้จักรยานเป็นจำนวนมาก และความสูญเสียเช่นนี้เองบวกกับการประท้วงของประชาชนทำให้ผู้บริหารประเทศตัดสินใจเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่หันมาวางแผนการพัฒนาเมืองโดยเอาจักรยานเป็นตัวตั้ง ทั้งในทางนโยบายและการลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  ดังนั้นชาวดัทช์จะพูดว่าประสบการณ์ของพวกเขาในอดีตก็คล้ายๆกับคนไทยและคนประเทศอื่นที่กำลังจะส่งเสริมหรือพัฒนาการใช้จักรยานนั่นแหละ 

ในการได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Velo-city เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2017 นี้ (ครั้งแรกที่เมืองโกรนิงเก็นในปี 1986 ครั้งที่สองที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปี 2000) พวกเขาอยากจะมองกลับไปในอดีต พิจารณาความเป็นไปในปัจจุบัน และคิดไปข้างหน้าว่าการใช้จักรยานจะพาเราไปไหน พวกเขาจึงใช้คำขวัญของการประชุมว่า “อิสรภาพแห่งการใช้จักรยาน” (Freedom of Cycling) และมองหาเรื่องราวที่แสดงให้เห็นว่าอนาคตของการใช้จักรยานจะไปทางไหนและนำอิสรภาพมาให้ชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง  การใช้จักรยานจะทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนดีขึ้น และมีอิสรภาพในการเคลื่อนไหว ได้อย่างไร 

ECF และเมืองเจ้าภาพร่วมอาร์เน็มกับไมเนเก็นอยากจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับผู้คนจากประเทศต่างๆ (รวมทั้งไทยเรา) ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีการใช้จักรยานอยู่ในขั้นไหน – ขั้นเริ่มต้น ขั้นพัฒนา หรือขั้นแชมเปี้ยน (บอกได้เลยว่า ไทยเราอยู่ที่ขั้นเริ่มต้นครับ) และพัฒนาการของการส่งเสริมการใช้จักรยานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้นย่อมแตกต่างอย่างมากมายกับในเนเธอร์แลนด์ มีการค้นคว้าหาแนวทางใหม่ๆ มากระตุ้นให้คนเดินทางอย่างมีความสุขทั้งได้สุขภาพดีด้วย คนดัทช์บอกเองว่าพวกเขาชักเห่อเหิมลำพองใจในความสำเร็จของตนเองจากการที่พวกเขาใช้จักรยานกันมากมาหลายทศวรรษ พวกเขาอยากจะคิดไปให้ไกลกว่านี้ ท้าทายตนเองให้ใช้จักรยานกันมากยิ่งขึ้นกว่านี้ไปอีก และทำให้เมืองต่างๆ ทั่วโลก ไม่เพียงแต่อาร์เน็มและไนเมเก็น แต่รวมถึงซิดนีย์ ปารีส มอมบาซา หรือคาราคาส และขอเสริมว่า กรุงเทพฯและเมืองไหนๆในไทย มีการใช้จักรยานมากขึ้นเช่นกัน ก็เลยอยากได้เรื่องราวจากทั่วโลกที่เป็นตัวแทนของสถานการณ์ต่างๆ ในหัวข้อหรือแนวคิด “อิสรภาพแห่งการใช้จักรยาน” โดยมีหัวข้อย่อย 5 หัวข้อ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure), คน (People), เศรษฐศาสตร์จักรยาน (Bikenomics), การวางแผนเมือง (Urban planning) และวิธีการปกครองของรัฐ (Governance)  ท่านที่สนใจจะไปเสนอเรื่องราวของท่านในการประชุม Velo-city 2017 ต้องส่งบทคัดย่อให้เขาพิจารณาเลือกก่อน บทคัดย่อจะต้องมีเนื้อหาอยู่ในหัวข้อย่อยเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น  นอกจากหัวข้อย่อยแล้ว ผู้จัดยังจะแบ่งบทคัดย่อออกเป็น 3 แบบที่ตอบคำถามว่า ทำไมเราจึงส่งเสริมการใช้จักรยาน  เราส่งเสริมการใช้จักรยานอะไร และเราส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างไร

รายละเอียดเกี่ยวกับการประชุม Velo-city  2017 รวมทั้งที่เกี่ยวกับการเขียนและส่งบทคัดย่อไปให้ผู้จัดคัดเลือกไปนำเสนอที่การประชุม สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.velo-city2017.com/ และชมวิดิทัศน์ชักชวนคนไปร่วมการประชุมได้ที่ http://www.velo-city2017.com/media/1068/promo-with-credits_standard-quality.mp4

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

8 มิถุนายน 2559

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

Leave a Reply

Your email address will not be published.