ชมรมฯ ร่วมแสดงความเห็นการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่กรุงเทพมหานคร
สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมในการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาประเมินความเหมาะสมในการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครและหมู่เกาะทะเลใต้ ทางสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ จึงได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขึ้นในวันที่ ๑๒, ๑๓ และ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๙ ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ และได้เชิญชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์
ชมรมฯ ได้ส่งนายกวิน ชุติมา กรรมการ เป็นผู้แทนไปร่วมประชุมในวันที่ ๑๓ กันยายน ในที่ประชุม วิทยากรได้ทบทวนความเป็นมา ข้อดีและข้อเสียของการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยว จากนั้นได้เปิดให้ผู้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนมาจากเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ได้แสดงความคิดเห็น ความกังวลใจ และข้อเสนอแนะ ผู้แทนชมรมฯ ได้เล่าอย่างย่อๆ ถึงการทำงานของชมรมฯ ในการส่งเสริมการใช้จักรยาน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งชมรมฯ ได้ทำงานกับชุมชน กลุ่มผู้ใช้จักรยาน และสำนักการท่องเที่ยวและกีฬาของ กทม.ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานด้วย และกล่าวว่า การใช้จักรยานในด้านต่างๆ รวมทั้งเพื่อการท่องเที่ยวกำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก หลายประเทศลงทุนและดำเนินการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง มีการศึกษาในยุโรปพบว่าการลงทุนด้านนี้ให้ผลตอบแทนสูงถึง ๖ เท่า และผลที่ได้กระจายอย่างกว้างขวางไปถึงคนหลายส่วนในท้องถิ่นมากกว่าการท่องเที่ยวด้วยยานพาหนะอื่น ประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ มีศักยภาพ-มีจุดขายในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานสูง มีบริษัทจัดท่องเที่ยวด้วยจักรยานมากว่ายี่สิบปีแล้ว การแบ่งพื้นที่(เขต)ในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มเครือข่ายการท่องเที่ยว ๕ เครือข่าย ๕ ด้าน (เชิงนิเวศ ทางศิลปะวิทยาการ ทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ และเพื่อนันทนาการ) ตามที่โครงการเสนอ น่าจะไม่สอดคล้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยาน เนื่องจากในความจริง แต่ละเขตมีจุดเด่นของการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวมากกว่าหนึ่งด้าน และนักท่องเที่ยวด้วยจักรยานอาจสนใจได้ไปดูไปเรียนรู้จุดเด่นมากกว่าหนึ่งด้านในการเดินทางครั้งเดียว การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานต้องมีการพัฒนาปัจจัยหลายด้านไปพร้อมกัน ไม่เพียงแค่ประกาศว่ามีจุดเด่นการท่องเที่ยวที่นั่นที่นี่ ต้องมีการให้ข้อมูล-ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจเข้าถึงได้หลายทางที่สะดวก มีระบบและโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น การแนะนำเส้นทาง ป้าย-เครื่องหมาย จักรยานให้เช่าใช้ได้ดี ที่จอดจักรยานได้ปลอดภัย ร้านอาหารเครื่องดื่มและที่พัก ฯลฯ และที่สำคัญต้องให้ชุมชน-ผู้มีส่วนได้เสียในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ มิฉะนั้นจะล้มเหลว เกิดการต่อต้าน อย่างเช่นในกรณีเส้นทางจักรยานเกาะรัตนโกสินทร์