ในช่วงวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา สมาคมนานาชาติเพื่อกิจกรรมทางกายและสุขภาพ (International Society for Physical Activity and Health – ISPAH) ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพครั้งที่ 6 ในหัวข้อ Active Living for All: Active People, Active Place, Active Policy หรือ “การสร้างเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกาย: กิจกรรมในกลุ่มบุคลากร กิจกรรมในที่อยู่อาศัย และนโยบายเกี่ยวกับกิจกรรมการเคลื่อนไหว” ขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
นี่เป็นครั้งแรกที่การประชุมนานาชาตินี้(จัดทุกสองปี)มาจัดในทวีปเอเชียและได้มาจัดในไทยด้วย โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ ISPAH เป็นเจ้าภาพ และ กทม.กับกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพร่วม มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 800 คนจาก 72 ประเทศสมาชิก และมีการเสนอบทคัดย่องานวิจัยมากกว่า 700 เรื่อง ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยคุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอเรื่อง Promoting Walking and Cycling in Daily Life as Physical Activity in All Policies (การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้เป็นกิจกรรมทางกายในทุกนโยบาย) ในรูปแบบโปสเตอร์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน
คุณกวินกับโปสเตอร์ของชมรมฯ ที่บริเวณนำเสนอด้วยโปสเตอร์ในงาน ISPAH 2016
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่มีทั้งการอภิปรายการนำเสนอทั้งในห้องใหญ่สำหรับทุกคนและในห้องย่อยหลายห้องพร้อมกันให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเลือกเข้าได้ตามความสนใจ ในความเห็นของผู้เขียน มีข้อสังเกต / แง่คิด / ข้อสรุป / ความเห็น / ประสบการณ์ ที่น่าสนใจหลายประการที่นักวิชาการและผู้ปฏิบัติการภาคสนามได้นำเสนอไว้ในการประชุมครั้งนี้ เช่น
- การมีส่วนร่วมของประชาชนสำคัญมาก และประชาชนสามารถมีส่วนในการสร้างงานที่เป็นวิชาการได้ ในฐานะ Citizen Scientists (นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นพลเมืองธรรมดาๆ) ข้อสรุปนี้ได้รับการนำเสนอและยอมรับมากขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ในเรื่องกิจกรรมทางกาย แต่ในประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย
- ต้องเอานักการเมืองมาร่วมทำงานด้วย แต่นักการเมืองคนนั้นต้องพร้อมจะพูดจะทำในสิ่งที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ แม้ว่าจะทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมก็ตาม
- การออกแบบ-วางผังเมืองควรเป็นไปในแนวทางเมืองให้เป็น Compact City คือ เมืองที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันของประชากรในพื้นที่ไม่ใหญ่มากให้สามารถเดินทางไปประกอบกิจเหล่านั้นได้ด้วยการเดินหรือใช้จักรยาน(หรือขนส่งสาธารณะ) ซึ่งเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานมาส่งเสริมกิจกรรมทางกาย
- กิจกรรมทางกายไม่ใช่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ ในการใช้ชีวิตอย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงต้องนำองค์ความรู้หลายสาขาเข้ามา ซึ่งหมายความว่า การวิจัย การนำความรู้ไปปฏิบัติ และนโยบายที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย ต้องเป็นสหวิชาการ และมีคนจากหลายสาขา หลายภาคส่วน หลายวิชาชีพ มาทำงานส่งเสริมสนับสนุน
การประชุมครั้งนี้ยังได้ออก “คำประกาศกรุงเทพว่าด้วยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพทั้งโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน” (The Bangkok Declaration on Physical Activity for Global Health and Sustainable Development) ชี้ว่า การขาดกิจกรรมทางกายเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักหนึ่งในสี่ที่นำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คำประกาศเรียกร้องให้ทั่วโลกให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ แก่การมีนโยบายกิจกรรมทางกายและการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2030 ได้ถึง 6 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยมีการระบุถึงการเดินและการใช้จักรยานไว้อย่างชัดเจนในเป้าหมายที่ 3, 11 และ 13
- เป้าหมายที่ 3: ประกันการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมการกินดีอยู่ดี โดยระบุไว้ชัดเจนให้มี “การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนกิจกรรมทางกายผ่านการให้คนทุกคนเข้าถึง สามารถเดิน ใช้จักรยาน และใช้ขนส่งสาธารณะ ได้อย่างปลอดภัยและเท่าเทียม สามารถลดอุบัติเหตุจากการจราจรบนท้องถนนได้ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน (เป้าหมาย 6) และการใช้รถยนต์น้อยลงสามารถช่วยปรับปรุงให้คุณภาพอากาศดีขึ้นด้วย (เป้าหมาย 3.9)…”
- เป้าหมายที่ 11: เมืองและชุมชนที่มีทุกอย่าง ปลอดภัย ยืดหยุ่นปรับตัวได้ และยั่งยืน โดยระบุไว้ชัดเจนว่า “…การพัฒนา การดำเนินการ และการบังคับใช้นโยบายการวางผังเมืองและการคมนาคมขนส่งที่กำหนดให้การออกแบบเมืองและภูมิภาคทำให้(ประชาชน)เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับการเดินและการขี่จักรยาน เช่นเดียวกับพื้นที่เปิดกว้างที่เป็นของสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านการพักผ่อนหย่อนใจ ได้อย่างเสมอภาคกัน สามารถช่วยให้มีระบบการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนได้ (เป้าหมาย 2)”
- เป้าหมายที่ 13: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุไว้ชัดเจนว่า “…นโยบายการใช้ที่ดินและการคมนาคมขนส่ง เมื่อนำมาใช้ร่วมกับการดำเนินการในด้านงบประมาณ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา ที่สนับสนุนให้ทุกคนเดิน ใช้จักรยาน และใช้ขนส่งสาธารณะ สามารถช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์และช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เป้าหมาย 1) …”คำประกาศขอให้รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สนับสนุนด้านการเงิน และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งมวล ดำเนินการ 6 ประการในประเด็นกิจกรรมทางกาย อันได้แก่
- แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจอีกครั้งและเพิ่มการลงทุนในการมีปฏิบัติการตามนโยบายไปเพิ่มกิจกรรมทางกาย
- ตั้งฐานสำหรับการนำภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมในการดำเนินงานและการประสานงาน ซึ่งรวมถึงการมีแผนปฏิบัติการระดับชาติ ที่มีกลไกและทรัพยากร-งบประมาณมารองรับอย่างชัดเจน
- พัฒนาศักยภาพ-ความสามารถของผู้ดำเนินการ
- เพิ่มความช่วยเหลือทางเทคนิคและแบ่งปันประสบการณ์
- สร้างเสริมการติดตามสอดส่องให้เข้มแข็ง
- สนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและการประเมินผล
คำประกาศปิดท้ายด้วยการเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกและรัฐสมาชิกแสดงการนำและเพิ่มทรัพยากรให้กับการสนับสนุนทางเทคนิคในการสร้างความเป็นภาคีทำงานด้วยกันระหว่างรัฐบาลต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่น หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ และผู้ทำงานด้านสุขภาพทั่วโลก กับนักวิชาการ องค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชน ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาสังคม มาร่วมมือกันผลักดันและดำเนินการสิ่งทั้งหมดที่กล่าวถึงในคำประกาศนี้ (รายละเอียดคำต่อคำของคำประกาศค้นหามาอ่านได้ที่เว็บไซต์ ISPAH2016)
ในส่วนของประเทศไทย หลังการประชุมครั้งนี้จะมีการร่างแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายระดับชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559-2563 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยทุกกลุ่มวัย ผ่านมิติต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบคมนาคม ระบบผังเมือง สถานประกอบการ ชุมชน การกีฬามวลชน การสื่อสารรณรงค์ ระบบฐานข้อมูลและการวิจัย และนำไปสู่การผลักดันกิจกรรมทางกายเป็นวาระระดับชาติของประเทศไทยต่อไป
การประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย / สถาบันการเดินและการจักรยานไทย จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ทั้งในไทยและในระดับสากล โดยเฉพาะการนำยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายระดับชาติของไทยไปปฏิบัติ ร่วมกับ สสส. กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลโดยรวม และภาคส่วนต่างๆ เราจะติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้และนำผลการดำเนินงานของชมรม/สถาบันฯ มาเสนอเป็นระยะต่อไป
กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และ เหรัญญิกสถาบันการเดินและการจักรยานไทย