ทีมงาน (ซ้าย) และร้านของ TCC/TWCI (ขวา) ที่งาน a Day Bike Fest
a day BIKE FEST เป็นงานเทศกาลจักรยานที่จัดขึ้นเป็นประจำที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสันมาตั้งแต่ปี 2555 และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมมาโดยตลอด โดยไม่เพียงแต่ไปออกร้านให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเท่านั้น หากยังเข้าร่วมการเสวนาทางวิชาการมาทุกปีเช่นกัน ในปีนี้ชมรมฯ ได้เข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อ “ทางจักรยานริมน้ำที่คนรักจักรยานอยากเห็น” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 15.00-16.00น.
การเสวนาครั้งนี้ได้ยกเอาโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครที่รัฐบาลพยายามผลักดันเต็มที่ให้เกิดขึ้นและมีข่าวว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงกลางปี 2560 นี้แล้ว ทั้งที่มีเสียงคัดค้านมากมาย มาเป็นโจทย์ ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นจากประสบการณ์ของคนใช้จักรยานและองค์ความรู้จากถอดบทเรียนกรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ว่า ทางจักรยานที่เป็นส่วนหนึ่งของทางเลียบแม่น้ำนี้จะเป็นทางจักรยานริมน้ำที่คนรักจักรยานอยากเห็นหรือไม่ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) และประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย (TWCI), นายยศพล บุญสม สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเพื่อนแม่น้ำ, นส.นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล นักปั่นจากกลุ่ม Bangkok bicycle campaign และนายณัฐวุฒิ แสงตรง นักปั่นจักรยาน เจ้าของเพจ “ปั่นทางแปลก” โดยมีนายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร a day เป็นผู้ดำเนินรายการ
การเสวนา “ทางจักรยานริมน้ำที่คนรักจักรยานอยากเห็น”
อาจารย์ธงชัยให้ความเห็นว่า ทางจักรยานที่คนรัก-ชอบ-ใช้-อยากเห็น-ต้องการ จะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเป็นใคร จึงต่างไปตามกลุ่มคน ไม่มีคำตอบเดียว เช่น “นักจักรยาน” จะชอบทางที่ขี่ได้ไกลๆ ไม่มีอุปสรรค ทำความเร็วได้มาก ส่วนผู้ใช้จักรยานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของชมรมฯ/สถาบันฯ เป็นชาวบ้านที่ใช้จักรยานในการทำกิจต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อยากได้ทางจักรยานที่เชื่อมโยงบ้าน-ชุมชนของเขากับจุดที่เขาจะไปทำกิจประจำวัน เช่น ตลาด-ร้านค้าที่เขาไปซื้อของกินของใช้ ดังนั้นนักจักรยานต้องเข้าใจว่า สิ่งที่รักที่เป็นความสุขของตนอาจไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านชาวชุมชนรักมีความสุขและอยากเห็นอยากได้ด้วย จึงได้ให้ความเห็นไปตั้งแต่มีข่าวออกมาครั้งแรกแล้วว่า “ไม่ใช่” (อ.ธงชัยได้ให้สัมภาษณ์และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ในเรื่องนี้ และชมรมฯได้นำมาลงเว็บและพิมพ์แผ่นพับเผยแพร่ด้วย) แต่คงไปไม่ถึงหูถึงตาของผู้มีอำนาจตัดสินใจข้างบน ผู้ปฏิบัติที่รับนโยบายมาก็ต้องทำไป การที่โครงการนี้ออกมาในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกิดจากการขาดความเข้าใจถึงบริบทที่ต่างกันของพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้พื้นที่(บนบก)ริมแม่น้ำกับพื้นที่ในแม่น้ำ จะไปเอาอย่างกรุงโซล นครไทเป หรือญี่ปุ่นไม่ได้ เขาทำทางเลียบแม่น้ำได้เพราะใช้พื้นที่สาธารณะบนฝั่งที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ชุมชนไม่ได้อยู่ติดน้ำ มีวิถีชีวิตกับการใช้แม่น้ำ แบบที่เป็นอยู่ในกรุงเทพฯ และแม่น้ำส่วนใหญ่ในไทย เขาจึงเอาพื้นที่ริมน้ำนั้นมาใช้ สร้างให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ในการใช้ประโยชน์ ขณะที่ทางเลียบแม่น้ำตามโครงการนี้จะทำลายวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำที่เป็นวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เมื่อทำขึ้น อัตลักษณ์ของ “ความเป็นกรุงเทพฯ” จะหายไป ซึ่งแก้ไขไม่ได้ (อาจารย์ธงชัยกล่าวว่า การศึกษาทางวิชาการพบว่าผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการจะไม่มากนักและสามารถแก้ไข-จัดการได้) อาจารย์ธงชัยทำนายว่าชาวบ้านจะมาใช้ทางที่ก่อสร้างขึ้นน้อย และมีคนกล่าวว่า ทางจักรยานที่ไม่มีคนใช้ย่อมไม่ใช่ทางจักรยาน ต่อคำถามว่าเมื่อไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ จะทำอะไรได้บ้าง อาจารย์ธงชัยให้ความเห็นว่าคงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากผู้บริหารผู้มีอำนาจตัดสินใจเบื้องสูงจะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เข้าใจบริบททางสังคม-วัฒนธรรมของกรุงเทพฯ
โดยรวม ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกคนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ โดยอาจารย์ธงชัยย้ำว่า แนวคิดของโครงการนี้ผิดมาตั้งแต่แรก หากมองในภาพรวม ทั้งมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจ ก็ควรไม่มีโครงการนี้ เพราะจะได้ไม่คุ้มทุนทั้งสามด้าน
ประธาน TCC/TWCI ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS (ซ้าย) และ VoiceTV (ขวา)
หลังการเสวนา ประธานชมรมฯ/สถาบันฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์ ThaiPBS (ซึ่งได้ออกอากาศไปในช่วงข่าวดึกของคืนวันที่ 2 ก.พ.), โทรทัศน์ VoiceTV (จะออกอากาศในข่าวช่วง 17.00 น. ยังไม่ทราบวัน) และหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อีกด้วย
รายงานโดย กวิน ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และกรรมการ-เหรัญญิกมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย