Home / Knowledge / ยุคการใช้จักรยานในประเทศไทย

ยุคการใช้จักรยานในประเทศไทย

การใช้จักรยานในประเทศไทย เคยอยู่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ใช้จักรยาน แบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ดังนี้

1. ยุคเริ่มต้นการใช้จักรยาน พ.ศ. 2428-2500 (1885-1957)

  • พ.ศ. 2428 (1885) ประเทศในยุโรปผลิตจักรยานเป็นอุตสาหกรรมส่งออกขายทั่วโลกได้
    • มีชาวต่างชาติเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ทำให้การคมนาคมเริ่มปรับเปลี่ยน มีการสร้างถนนรอบๆ พระบรมมหาราชวัง และมีการนำจักรยานมาใช้ในการออกกำลังกายและใช้เดินทางระยะใกล้ๆ
  • พ.ศ. 2442 (1899) จักรยานเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย มีการประชุมรถจักรยานเป็นครั้งแรกที่วังบูรพาภิรมย์เนื่องในโอกาสที่ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเสด็จกลับจากยุโรป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2442
    • มีการฝึกหัดขี่จักรยานในวัง และการประกวดแฟนซีขี่จักรยาน เกิดสโมสรผู้ขี่จักรยาน เป็นยุคต้นของการค้าจักรยาน แต่เนื่องจากมีราคาสูง จึงยังแพร่หลายเพียงในหมู่เจ้านายชั้นสูง ทูต ตัวแทนการค้า วิศวกร และแพทย์
  • พ.ศ. 2446 (1903) มีการสั่งจักรยานมาจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จำนวน 200 คัน
  • พ.ศ. 2453-2468 (1910-1925) เริ่มมีการใช้จักรยานกันอย่างแพร่หลาย และในช่วงสงครามอินโดจีน กองทัพบกของไทยได้นำจักรยานมาใช้เป็นยานพาหนะด้วยส่วนหนึ่ง
  • พ.ศ. 2474 (1931) ได้มีระเบียบให้ผู้ใช้รถจักรยานต้องจดทะเบียนจักรยานเป็นพาหนะประเภทล้อ เลื่อน โดยกำหนดให้ไปจดทะเบียนที่กรมทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งมีผู้นำจักรยานไปจดทะเบียน 6,318 คัน
  • พ.ศ. 2484 (1941) ทหารญี่ปุ่นที่เดินทัพผ่านประเทศไทย บางหน่วยได้ใช้จักรยานเป็นพาหนะ
  • พ.ศ. 2496 (1953) มีผู้นำจักรยานไปจดทะเบียนเป็นจำนวนมากถึง 11,867 คัน

2. ยุคถดถอยของการใช้จักรยาน พ.ศ. 2500-2534 (1957-1991)

  • 1 มกราคม 2500 รัฐบาลออกกฎหมายให้งดเว้นการนำจักรยาน 2 ล้อ ไปจดทะเบียน (แต่จักรยาน 3 ล้อขึ้นไป ยังต้องนำไปจดทะเบียน)
  • 1 มกราคม 2503 รัฐบาลให้ยกเลิกการจดทะเบียน และการใช้จักรยาน 3 ล้อขึ้นไป ในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เพราะรัฐบาลกำลังจะเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรกในปี 2504 เหตุเพราะ เห็นดีเห็นงามกับทฤษฎีกระแสหลัก ละเลยระบบราง หลงลมปากประเทศผู้ผลิตยานยนต์ระบบถนน รัฐบาลจึงอ้างว่าการจราจรคับคั่งมาก (และในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ฯ ได้ให้ยกเลิกกิจการรถไฟสายปากน้ำอีกด้วย ซึ่งขณะนั้นเป็นรถรางไฟฟ้าแล้ว โดยให้ขนย้ายขบวนรถออกจากรางภายใน ๔๘ ชม. ต่อมาได้มีการรื้อทางรถไฟสร้างเป็นถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่า)
  • กลุ่มประเทศอาหรับระงับการส่งออกน้ำมัน ปี 2517 (1974) ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 252 (เทียบกับปี 2516) อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงถึงร้อยละ 24.3 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงจากร้อยละ 10.0 เหลือเพียงร้อยละ 4.5
  • เหตการณ์ปฏิวัติอิหร่าน ปี 2522 (1979) และสงครามอิรัก-อิหร่าน ปี 2523 (1980) ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 150 อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงร้อยละ 9.9 ในปี 2522 และร้อยละ 19.7 ในปี 2523 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำลงมาที่ร้อยละ 5.2 ในปี 2522 และร้อยละ 4.6 ในปี 2523 จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 9.9 ในปี 2521
  • สงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2533 (1990) แม้ผลต่อเงินเฟ้อทั้งปีอาจไม่มากนัก แต่ก็ฉุดให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 8.6 ในปี 2534 (1991) จากที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมาตลอดหลายปี

3. ยุคฟื้นฟูการใช้จักรยาน พ.ศ. 2534-ปัจจุบัน (1991 to present)

  • การเริ่มต้นเรียกร้องทางจักรยานในประเทศไทยนั้น มีความสัมพันธ์กับวิกฤตการณ์น้ำมันโลก อันเนื่องมาจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2533 (1990) ที่อิรักเริ่มรุกรานคูเวต เมื่อ 2 สิงหาคม 2533 ต่อมากองกำลังผสมได้ไล่กองทัพอิรักออกจากคูเวต โดยเริ่มทิ้งระเบิดเมื่อ 17 มกราคม 2534 ตามมาด้วยการเริ่มโจมตีภาคพื้นดินเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534
  • 16 มีนาคม 2534 เกิดการรวมตัวของกลุ่มเรียกร้องให้การใช้จักรยานเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหา จราจร มลพิษ และพลังงาน ประมาณ 40 คน โดยปั่นรณรงค์ไปตามท้องถนนในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก เพื่อให้สังคมไทยหันกลับมาสนใจการใช้จักรยานกันใหม่อีกครั้ง ต่อมาได้มีประชาชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นชุมชนชาวจักรยานในสังคมไทย ในชื่อชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และมีการขยับขยายเป็นสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทยเมื่อ 2 กันยายน 2552
  • 5 พฤศจิกายน 2546 พรบ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2546 มีผลให้ยกเลิก พรบ.ล้อเลื่อน พุทธศักราช 2478 ส่งผลให้ยกเลิก “ใบอนุญาตขับขี่ล้อเลื่อนและรถจักรยานทุกชนิด” กล่าวคือ ไม่ต้องสอบขอรับใบอนุญาตขับขี่จักรยาน และขณะขับขี่ไม่ต้องพกใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวอีกต่อไป
  • ส่วน พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ยังคงมีการบังคับใช้ต่อไป ดังนั้น พรบ.จราจรทางบกฯ ลักษณะ 10 เรื่อง “รถจักรยาน” จึงมีบทบาทสำคัญ แต่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมสภาพการใช้จักรยานที่มีนวัตกรรม ใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น โครงสร้างผิวทางจักรยาน อุปกรณ์ยับยั้งยานยนต์ อุปกรณ์ปรับเชิงลาดขอบถนน สะพานลอยจักรยาน รวมทั้งอุโมงค์ลอดถนน โครงสร้างที่จอดจักรยาน รวมทั้งลิฟท์-แขนกลนำจักรยานเข้า-ออกอาคารจอดจักรยาน อุปกรณ์แร็คจักรยานบนระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนตัวถังจักรยานรวมทั้งชุดขับเคลื่อน
  • มกราคม 2547 (2004) ราคาน้ำมันโลกสูงต่อเนื่อง รัฐบาลทักษิณตรึงราคาขายปลีก โดยชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ถึง กรกฎาคม 2548 (2005) รวมเป็นหนี้กว่า 90,000 ล้านบาท  รัฐบาลสุรยุทธ์ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯ และล้างหนี้ได้หมดในต้นปี 2551 (2008) ทำให้ราคาขายปลีกแพงใกล้เคียงตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่เร่งให้มีผู้ใช้จักรยานเดินทางในเมืองเพิ่มมากขึ้น

… … ปัจจุบัน นอกจากชนบทภาคกลางและภาคเหนือตอนบนแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ยังใช้จักรยานเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และแข่งขันมากกว่าการใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย การขาดวินัยการจราจร และมลภาวะ

เอกสารอ้างอิง:
ไชยยศ รัตนพงษ์ และณัฏฐ์ นีลวัชระ. (2546). รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการใช้จักรยานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ในนามของ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ยื่นต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.
ประพัทธ์พงษ์ อุปลา. (2551). รายงาน การวิจัยเรื่องแนวทางการใช้จักรยานเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะบริเวณย่าน พักอาศัยภายในกรุงเทพมหานครเพื่อสนับสนุนนโยบายการประหยัดพลังงาน. เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. 2-5.
วงกต วงศ์อภัย. (2547, 16 กรกฎาคม). โลกและวิกฤตการณ์น้ำมันในอดีต. มติชนสุดสัปดาห์. 1248(24), 30-31.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2555, 5 มีนาคม). ย้อนประวัติศาสตร์วิกฤตการณ์น้ำมันโลก. 3254(18). [ออนไลน์]. สืบค้นได้จาก: http://hoonyai.com/index.php?topic=10796.0 วันที่สืบค้น 2555, 26 มีนาคม.

Ref url: http://www.facebook.com/note.php?note_id=364593700252626

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

Leave a Reply

Your email address will not be published.