Home / Knowledge / ๐๒. การจดทะเบียนและการทำใบขับขี่จักรยาน การบรรทุกและการรับจ้างของล้อเลื่อน

๐๒. การจดทะเบียนและการทำใบขับขี่จักรยาน การบรรทุกและการรับจ้างของล้อเลื่อน

หัวข้อที่ ๒    การจดทะเบียนและการทำใบขับขี่จักรยาน การบรรทุกและการรับจ้างของล้อเลื่อน

ได้ข้อสรุปว่า :
–    การมีรถจักรยาน ๒ ล้อไม่ต้องนำไปจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ เป็นต้นมา แต่รถจักรยานส่วนบุคคลตั้งแต่ ๓ ล้อขึ้นไป ยังต้องนำไปจดทะเบียนก่อนที่จะนำออกไปขับขี่บนทางหลวง สำหรับรถจักรยานรับจ้างซึ่งมีแต่รถจักรยาน ๓ ล้อขึ้นไปนั้น ต้องนำไปจดทะเบียนก่อนเสมอ
–    ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๐๓ เป็นต้นมา รัฐบาลให้งดการจดทะเบียนทั้งใบอนุญาตให้มี และใบอนุญาตให้เป็นผู้ขับขี่ รถจักรยานตั้งแต่ ๓ ล้อขึ้นไป ทั้งที่ใช้สำหรับนั่งส่วนบุคคลและสำหรับรับจ้าง ในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เพราะการจราจรคับคั่งมาก
–    ตั้งแต่ ๑๗ มกราคม ๒๕๐๔ เป็นต้นมา หากเจ้าของหรือผู้ขับขี่รถจักรยานตั้งแต่ ๓ ล้อขึ้นไปทั้งที่ใช้สำหรับนั่งส่วนบุคคลและสำหรับรับจ้าง มีความประสงค์จะนำรถออกนอกเขตจังหวัด หรืออำเภอที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต ไปใช้ในเขตจังหวัดใกล้เคียงที่มีถนนติดต่อถึงกันได้ ยกเว้นในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เป็นการประจำหรือชั่วคราว ยังต้องยื่นคำร้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัด หรืออำเภอที่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต
–    การขับขี่จักรยานบนทางหลวง แม้เป็นเพียงการฝึกหัด ก็ต้องขอรับใบอนุญาตชั่วคราวเสียก่อน
–    ผู้ขับขี่รถจักรยานทุกประเภท ต้องขอออกใบอนุญาตขับขี่ก่อนนำรถจักรยานออกไปขับขี่บนทางหลวง
–    เฉพาะเกวียนเท่านั้น ที่สามารถนำมาขับขี่บนทางหลวงได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่
–    ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยาน ๒ ล้อ มีแต่ประเภทตลอดชีพเท่านั้น
–    การขอให้ออกใบอนุญาตขับขี่รถจักรยาน ๒ ล้อ เพื่อการขับขี่ได้ทั่วประเทศนั้น ผู้ขอให้ออกใบอนุญาตขับขี่ ต้องมีอายุ ๑๓ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ในจังหวัดใด พิจารณาเห็นสมควรจะให้อายุต่ำกว่าที่กำหนดนี้ ตามสภาพแห่งท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ก็ให้มีอำนาจกำหนดอายุต่ำกว่านี้ได้ เฉพาะการขับขี่ล้อเลื่อนภายในท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ๆ
–    ผู้ขอออกใบอนุญาตขับขี่ล้อเลื่อนส่วนบุคคล ต้องมีร่างกายสมประกอบและสามารถขับขี่ล้อเลื่อนได้ รู้ข้อบังคับการจราจร และรู้การขับขี่ล้อเลื่อนชนิดนั้น
–    ผู้ขอออกใบอนุญาตขับขี่ล้อเลื่อนรับจ้าง ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย รู้ถนนหนทางแห่งเขตซึ่งได้รับใบอนุญาตพอสมควร ปราศจากโรคติดต่อ และต้องไม่เคยรับโทษจำคุกในความผิดที่กฎหมายกำหนด
–    ขณะขับขี่จักรยาน ต้องพกใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวเสมอ
–    รถจักรยานตั้งแต่ ๓ ล้อขึ้นไป สำหรับบรรทุกคนโดยสาร ต้องเป็นรถชนิดพ่วงหลัง หรือพ่วงข้าง รถชนิดพ่วงข้าง ต้องมีที่นั่งสำหรับคนโดยสารนั่งไว้ทางด้านซ้ายของตัวรถ
–    รถจักรยานตั้งแต่ ๓ ล้อขึ้นไป สำหรับบรรทุกของ ต้องเป็นรถชนิดพ่วงหลังหรือพ่วงข้าง หรือมีตัวถังอยู่ข้างหน้า ถ้าเป็นรถชนิดพ่วงข้าง ต้องมีที่สำหรับบรรทุกของไว้ทางด้านซ้ายของตัวรถ
–    ล้อเลื่อนลากเข็นด้วยกำลังคน ๑ คน ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน ๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักต้องไม่เกินกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม
–    ล้อเลื่อนลากเข็นด้วยกำลังคนเกินกว่า ๑ คน ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน ๑.๓๐ เซนติเมตร น้ำหนักต้องไม่เกินกว่า ๒๒๐ กิโลกรัม

หมายเหตุ :
นาย อดิเรก แตงทอง นิติกร กองนิติการ กรมการขนส่งทางบก ได้เสนอข้อมูลเข้าสู่การสัมนาเชิงปฏิบัติการว่า คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้เสนอให้มีการยกเลิก พรบ.รถลาก รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ พรบ.รถจ้าง รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ และพรบ.ล้อเลื่อน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้มีผลบังคับใช้ อันเป็นการยกเลิก พรบ.ล้อเลื่อน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ส่งผลให้ “ใบอนุญาตขับขี่ล้อเลื่อนและรถจักรยานทุกชนิด” ต้องยกเลิกไปทั้ง ๒ กรณี คือ
๑. ไม่ต้องสอบขอรับใบอนุญาตขับขี่จากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่มีโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาทอีกต่อไป
๒. ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวขณะขับขี่ และไม่มีโทษปรับเป็นเงินไม่เกินสิบสองบาทอีกต่อไป
ส่วน พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังไม่ได้ยกเลิก จึงยังคงมีการบังคับใช้บทบัญญัติเช่นเดิมต่อไป ดังนั้น พรบ.จราจรทางบกฯ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่อง “รถจักรยาน” ไว้โดยเฉพาะใน ลักษณะ ๑๐ จึงน่าจะมีบทบาทสำคัญ และอาจจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมรายละเอียดบางประการ ที่เคยมีอยู่ในกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปทั้ง ๓ ฉบับ

ไชยยศ รัตนพงษ์ และณัฏฐ์ นีลวัชระ

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

Leave a Reply

Your email address will not be published.