Home / Knowledge / ๐๓. ลักษณะรถ กฎจราจร และมารยาทในการใช้จักรยาน

๐๓. ลักษณะรถ กฎจราจร และมารยาทในการใช้จักรยาน

หัวข้อที่ ๓    ลักษณะรถ กฎจราจร และมารยาทในการใช้จักรยาน

ได้ข้อสรุปว่า:
สถานะ: รถจักรยาน ๒ ล้อที่เข้าข่ายว่าเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น เช่น แสงอาทิตย์ ฯลฯ ถือว่ามีสถานะเป็นรถจักรยานยนต์ตามพรบ.จราจรทางบกฯ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎจราจรเช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ และถ้ามีขนาดวงล้อเกิน ๑๐ นิ้ว กับมีกำลังเท่ากับเครื่องยนต์ปริมาตรกระบอกสูบ ๕๐ ซีซี. ก็ถือว่ามีสถานะเป็นรถจักรยานยนต์ตามพรบ.รถยนต์ฯ ด้วย ซึ่งจะต้องนำไปจดทะเบียนตามพรบ.รถยนตร์ฯ ทั้งยังจะถูกจัดเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตามพรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ อีกด้วย สำหรับรถจักรยาน Motor Pedal (MOPED) กับรถจักรยาน PAS (Power Assist System) ซึ่งเป็นจักรยานที่ต้องถีบก่อนมอเตอร์จึงจะทำงานนั้น ถ้ามีขนาดวงล้อและกำลังเครื่องยนต์ถึงข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก ก็อาจจะเข้าข่ายดังกล่าวได้เช่นกัน

โคมไฟ: รถจักรยาน ๒ ล้อ ให้มีโคมไฟแสงขาว ๑ ดวงติดไว้หน้ารถ และโคมไฟแสงแดงหรือวัสดุสะท้อนแสงสีแดง ๑ ดวงติดไว้ท้ายรถ ในเวลาที่แสงพอที่จะมองเห็นสิ่งกีดขวางในทางได้ ภายในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ให้บังคับโคมไฟหน้ารถให้ส่องเห็นพื้นทางไม่น้อยกว่า ๑๕ เมตร และอยู่ต่ำกว่าสายตาของผู้ซึ่งขับรถสวนมา

การบรรทุก: รถจักรยาน ๒ ล้อบรรทุกคนไม่ได้ บรรทุกได้แต่สิ่งของเพียง ๓๐ กิโลกรัม

การรับจ้าง: ถ้าจะรับจ้างส่งเอกสารและขนส่งสินค้าชิ้นเล็กๆ ด้วยรถจักรยาน ๒ ล้อก็สามารถทำได้เลย เพราะพรบ.จราจรทางบกฯ กำหนดให้รถจักรยาน ๒ ล้อ บรรทุกของได้ถึง ๓๐ กิโลกรัม ส่วนการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารนั้น นอกจากพรบ.ล้อเลื่อนฯ จะไม่เคยให้จดทะเบียนรถจักรยาน ๒ ล้อเป็นรถรับจ้างแล้ว ยังได้ยกเลิกการจดทะเบียนรถจักรยาน ๒ ล้อไปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๐

การให้สัญญาณด้วยมือและแขน: ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(๑)    ลดความเร็ว ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ และโบกมือขึ้นลงหลายครั้ง
(๒)    หยุดรถ ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ ยกแขนขวาท่อนล่างตั้งฉากกับแขนท่อนบนและตั้งฝ่ามือขึ้น
(๓)    จะให้รถคันอื่นแซง ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ และโบกมือไปข้างหน้าหลายครั้ง
(๔)    จะเลี้ยวขวาหรือเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวา ให้ยื่นแขนขวาไปนอกรถเสมอไหล่
(๕)    จะเลี้ยวซ้ายหรือเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางซ้าย ให้ยื่นแขนขวาออกไปนอกรถเสมอไหล่ และงอข้อมือชูขึ้นโบกไปทางซ้ายหลายครั้ง

ข้อ ห้ามขี่ ๘ ลักษณะ: ประเทศไทยห้ามมิให้ผู้ขับขี่ ขับรถทุกชนิด รวมทั้งรถจักรยาน ๒ ล้อ ดังนี้

(๑)    ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
(๒)    ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
(๓)    ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(๔)    โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
(๕)    ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย
(๖)    คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ
(๗)    บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ
(๘)    โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น

ข้อห้ามจอด ๑๕ แห่ง:

(๑) บนทางเท้า (๒) บนสะพานหรือในอุโมงค์ (๓) ในทางร่วมทางแยก หรือในระยะสิบเมตรจากทางร่วมทางแยก (๔) ในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม (๕) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ (๖) ในระยะสามเมตรจากท่อน้ำดับเพลิง (๗) ในระยะสิบเมตรจากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร (๘) ในระยะสิบห้าเมตรจากทางรถไฟผ่าน (๙) ซ้อนกันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว (๑๐) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ หรือในระยะห้าเมตรจากปากทางเดินรถ (๑๑) ระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทาง หรือในระยะสิบเมตรนับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง (๑๒) ในที่คับขัน (๑๓) ในระยะสิบห้าเมตรก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีกสามเมตร (๑๔) ในระยะสามเมตรจากตู้ไปรษณีย์ (๑๕) ในลักษณะกีดขวางการจราจร

ข้อกำหนดความเร็ว:

กฎหมายเกี่ยว กับความเร็วของรถ มีกำหนดอยู่ใน พรบ.จราจรฯ ฉบับเดียว โดยกำหนดอัตราความเร็วไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๒) และแก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ทั้ง ๒ ฉบับกำหนดความเร็วไว้เฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไม่ได้รวมถึงรถจักรยาน ๒ ล้อ ฉะนั้น ถ้าพูดเฉพาะประเด็นเรื่องความเร็วอย่างเดียวแล้ว ไม่ว่าจะในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรือนอกเขตดังกล่าว อัตราความเร็ว ๙๐ กม./ชม. ก็ไม่ใช่เพดานความเร็วสำหรับรถจักรยาน ๒ ล้อ แต่ก็ใช่ว่ากฎหมายจราจรจะปล่อยให้รถจักรยาน ๒ ล้อใช้ความเร็วได้ในทุกกรณี เพราะพรบ.จราจรฯ มาตรา ๘๓ (๑) ยังกำหนดกติกาไว้อีกชั้นหนึ่งว่า การขับขี่รถจักรยานนั้น ต้องไม่ประมาทและไม่น่าหวาดเสียว จนอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน จึงจะถือว่าไม่เป็นความผิดตามกฎหมายจราจร
การลากจูง: ห้ามใช้รถจักรยาน ๒ ล้อลากรถจักรยาน ๒ ล้อด้วยกัน หรือจูงรถอื่นไปในทางเกิน ๑ คัน
การปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ: ถ้าขับขี่รถ(ทุกชนิดรวมทั้งจักรยาน)ในทางแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที กับต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล และที่อยู่ของตนและหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย ในกรณีที่ผู้ขับขี่หลบหนีไป หรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่เกิดเหตุ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้กระทำความผิด และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจยึดรถคันที่ผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตน ว่าเป็นผู้ขับขี่ จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือได้ตัวผู้ขับขี่ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดเหตุ ให้ถือว่ารถนั้นเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดและให้ตกเป็นของรัฐ

การขับขี่ในทางจราจร:

กรณี มีเลนรถประจำทางอยู่ด้านซ้ายสุดของถนน ต้องขับขี่รถจักรยาน ๒ ล้อในเลนที่อยู่ทางขวาของเลนรถประจำทาง แต่ให้ขี่ด้านซ้ายของเลน ซึ่งจะชิดกับเลนรถประจำทาง
อุปกรณ์ ๔ อย่างที่ต้องมี : อุปกรณ์หลักที่ต้องติดตั้งกับตัวรถจักรยาน ๒ ล้อ คือ
(๑)    กระดิ่ง
(๒)    เบรก
(๓)    ไฟหน้าแสงขาวที่ส่องเห็นพื้นทางได้ในระยะ ๑๕ เมตร
(๔)    ไฟท้ายแสงแดงหรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดง

สิ่งไม่ควรทำ ๗ ประการ:

ใน ทางเดินรถ หรือทางที่จัดทำไว้สำหรับรถจักรยาน ห้ามขับรถจักรยาน ดังนี้
(๑)    ขับโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอัน อาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
(๒)    ขับโดยไม่จับคันบังคับรถ
(๓)    ขับขนานกันเกินสองคัน เว้นแต่ขับในทางที่จัดไว้สำหรับรถจักรยาน
(๔)    ขับโดยนั่งบนที่อื่นอันมิใช่อานที่จัดไว้เป็นที่นั่งตามปกติ
(๕)    ขับโดยบรรทุกบุคคลอื่น เว้นแต่รถจักรยานสามล้อสำหรับบรรทุกคน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด
(๖)    บรรทุก หรือถือสิ่งของ หีบห่อ หรือของใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจับคันบังคับรถ หรืออันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน
(๗)    เกาะหรือพ่วงรถอื่นที่กำลังแล่นอยู่

หมวกกันน็อค:

บังคับ แต่มอเตอร์ไซค์ ไม่รวมถึงจักรยาน

ข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร:

สัญญาณจราจร แบ่งเป็น ๓ ชนิด ได้แก่
(๑)    สัญญาณไฟจราจร
(๒)    สัญญาณด้วยมือและแขนของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๓)    สัญญาณ นกหวีด

เครื่อง หมายจราจร แบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่
(๑)    ชนิดแผ่นป้าย มี ๒ ประเภท คือ

         (ก) ประเภทบังคับ

         (ข) ประเภทเตือน

(๒)    ชนิดบนผิวทางและขอบทาง

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

Leave a Reply

Your email address will not be published.