การทรงตัวที่ดีเป็นทักษะสำคัญของการขี่จักรยาน
การทรงตัวที่ดีเป็นทักษะที่สำคัญมากในการขี่จักรยาน บางคนก็ทำได้ง่ายๆเลยตั้งแต่แรกหัดขี่จักรยาน บางคนก็ต้องใช้เวลาฝึก จะบอกได้ว่า “ทรงตัว” ได้ดีหรือไม่ได้จากหลายสถานการณ์ เช่น ตอนที่ต้องปล่อยมือข้างหนึ่งจากการจับแฮนด์มาให้สัญญาณแก่ยานพาหนะที่อยู่เบื้องหลังว่าคุณกำลังตั้งใจจะทำอะไร มากดกระดิ่ง มาเปิดไฟหน้า หรือโบกมือให้คนข้างถนนหรือผู้ใช้จักรยานคนอื่นที่ขี่สวนทางมา อีกสถานการณ์หนึ่งก็คือตอนที่คุณหันหัวไปมองด้านหลังเมื่อยานพาหนะที่ขี่ตามมาเป็นอย่างไร อาการของการ “ทรงตัว” ไม่ได้ดีคือ เมื่อคุณทำเช่นนั้น จักรยานของคุณจะส่ายหรือเหออกไปทางใดทางหนึ่งจากที่ขี่มาตรงๆ บางคนถึงกับต้องหยุดจอดหากจะหันไปดูข้างหลัง หรือยกแขนเพียงสั้นๆ แว้บๆ เมื่อจะให้สัญญาณ ดังนั้นถ้าที่ผ่านมา คุณมีอาการ “ทรงตัวไม่ดี” หรือคุณยังไม่มั่นใจว่า “ทรงตัวได้ดี” แล้ว บทความนี้และการฝึกตามที่บทความแนะนำอาจจะช่วยได้ คำแนะนำนี้เหมาะกับผู้ใช้จักรยานทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สำหรับการขี่วิบาก ขี่ลงเขา ขี่แข่ง หรือขี่แสดงที่พิสดารโลดโผนต่างๆ ซึ่งต้องการการ “ทรงตัว” ที่แตกต่างออกไป
หาความสมดุลของตัวคุณเอง
Photos by Richard Jupe
การจะฝึกทักษะการทรงตัวก็ต้องหาสถานที่ที่ปลอดภัยเสียก่อน อาจจะเป็นลานจอดรถว่างๆ หรือสนามของโรงเรียน หรือสถานที่ใดก็ได้ที่กว้างยาวพอที่จะขี่ตรงๆได้นานพอสมควร พื้นควรจะเรียบ และเป็นสถานที่เงียบๆ ไม่มีใครมารบกวนหลักของการขี่ให้มั่นคงเริ่มต้นด้วยท่าที่คุณใช้ขี่จักรยาน คุณโรซี่ สตรอง นักกายภาพบำบัดที่ทำธุรกิจสอนการขี่จักรยาน แนะนำว่า “การทรงตัวของคุณบนจักรยานนั้นที่สำคัญขึ้นอยู่กับจุดสามจุดที่คุณสัมผัสกับจักรยานคือ มือที่จับแฮนด์ เท้าที่วางบนบันได และก้นที่อยู่บนอาน ความจริงจุดสัมผัสมี ๕ จุด แต่ในที่นี้จะนับมือสองข้างรวมเป็นหนึ่ง เช่นเดียวกับเท้าสองข้าง คุณควรจะนั่งตรงๆบนอาน ไม่ไปข้างหน้าหรือข้างหลังจนเกินไป ฝ่าเท้าส่วนที่กว้างที่สุด(ไม่ใช่ส่วนกลางที่แคบและโค้งเข้าไป)วางอยู่บนบันได ผู้ใช้จักรยานบางคนจับแฮนด์แน่นราวกับจะฝากชีวิตไว้ตรงนั้น การทำเช่นนี้จะทำให้ร่างกายถ่ายน้ำหนักไปอยู่ที่ตรงนั้นมาก ทำให้เมื่อยมือและแขนอย่างรวดเร็ว และยังยากขึ้นที่จะปล่อยมือข้างหนึ่งจากแฮนด์มาทำกิจต่างๆ จับพอหลวมๆ ใช้กล้ามเนื้อแขนทำให้ลำตัวของคุณนิ่ง แต่อย่าให้เกร็ง ให้แขนของคุณทั้งสองข้าง คอ และไหล่ผ่อนคลายให้มากที่สุด และกระจายน้ำหนักร่างกายไปที่จุดสัมผัสทั้งสาม ตั้งเกียร์ให้ “เหมาะ” กับกำลังของคุณในขณะนั้น ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามสภาพร่างกายและเส้นทาง (หมายความว่าผู้ใช้จักรยานที่มีเกียร์ควรกะกำลังของตนเองได้ ใช้และเปลี่ยนเกียร์ตามกำลังและจังหวะการขี่ของตน เช่น ขณะออกรถ มีเส้นทางตรงให้ขี่ด้วยความเร็วคงที่ หรือขณะจะจอดรถ) ที่ว่า “เหมาะ” คือสามารถออกแรงกดให้บันได้หมุนไปได้โดยง่าย ขี่ไปด้วยรอบหรือความเร็วที่ค่อนข้างจะคงที่ให้มากที่สุด “รู้ใจ” และเชื่อใจจักรยานของคุณ “ผสานตัวคุณเป็นหนึ่งเดียวกับจักรยาน” ซึ่งจะทำได้ก็ต้องมีจักรยานที่ขี่ประจำจนรู้สมรรถนะ จุดแข็ง จุดอ่อนของมัน และดูแลให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีเสมอ
การขี่จักรยานมือเดียว
สำหรับการฝึกขี่จักรยานมือเดียวนั้น คุณโรซี่แนะนำว่าให้เริ่มต้นด้วยการปล่อยให้แขนทั้งสองข้างผ่อนคลาย ไม่เกร็ง คลายมือที่กำแฮนด์ข้างที่จะปล่อยออกและเอาปลายนิ้ววางไว้บนแฮนด์ เมื่อคุณรู้สึกมั่นใจในการขี่ด้วยมีมือข้างหนึ่งในท่านี้แล้ว ขั้นต่อไปก็ยกมือออกจากแฮนด์มาวางไว้บนหัวเข่าหรือตัก โดยที่ลำตัวยังตรง ฝึกขี่ในท่านี้จนมั่นใจว่าขี่ได้คล่องแล้ว ขั้นต่อไปก็เอามือข้างนั้นไปไขว้หลังหรือไปจับที่ด้านหลังของอาน เหมือนกับว่าคุณจะใช้มือให้สัญญาณอะไรบางอย่างกับคนข้างหลัง พยายามขี่ให้เป็นเส้นตรง แต่ถ้าจักรยานเริ่มเหหรือส่าย ใช้มือข้างที่ยังจับแฮนด์บังคับจักรยานให้กลับมาอยู่ในแนวขี่ตรงๆ อย่าออกแรงมากหรือฉับพลันเกินไปเพราะรถจะเหอย่างมากไปในทางตรงข้าม
การหันหัว
การมีกระจกส่องหลังช่วยได้มากทีเดียวสำหรับการดูว่ามียานพาหนะใดตามมาเบื้องหลังและในแบบใด ดังนั้นก็ขอแนะนำว่าถ้าคุณจะขี่จักรยานเป็นประจำในเมืองก็ควรจะหากระจกส่องหลังมาติดกับจักรยานของคุณเสียและใช้มันมองข้างหลังเป็นประจำเหมือนกับเวลาที่คุณขับรถยนต์ (ที่อังกฤษ คนที่สอบเอาใบขับขี่รถยนต์จะสอบตกภาคปฏิบัติทันที หากคนคุมสอบสังเกตเห็นว่าคุณไม่ได้มองดูกระจกส่องหลังเป็นระยะๆ) แต่อย่าหวังพึ่งกระจกส่องหลังเพียงอย่างเดียวเมื่อคุณจะเลี้ยว โดยเฉพาะการเลี้ยวขวาในกรณีของเมืองไทยที่การจราจรแล่นทางซ้ายของถนน ถึงแม้ว่าเมื่อดูในกระจกแล้วจะดูว่าถนนว่างพอให้คุณเลี้ยวได้ คุณก็ควรจะหันหัวไปดูอยู่ดีให้มั่นใจว่าไม่มียานพาหนะใดจ่อท้ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ จักรยานยนต์ หรือจักรยานหันหัวไปทางขวา และชายตาไปดูข้างหลังหากคุณทำได้ มองข้ามไหล่ขวาไป คุณควรจะเหลือบตาไปมองอย่างรวดเร็วพอที่จะเห็นว่ามียานพาหนะใดตามมาหลังคุณหรือไม่เท่านั้นคุณอาจจะพบว่าแม้คุณจะพยายามเช่นไร ฝึกมามากเพียงใด จักรยานของคุณก็ยังอาจจะเหทิศไปเมื่อคุณหันไปมองข้ามบ่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ลองเทคนิคอีกอย่างหนึ่งดู โดยมือซ้ายจับแฮนด์หลวมๆ ปล่อยมือขวาจากแฮนด์มาห้อยแขนขวาไว้ข้างลำตัวก่อนจะหันหัวไป หรือการจะลองเอามือขวาไปแตะที่ด้านหลังอาน หรือเอาวางบนหน้าขา หรือชี้แขนไปด้านหลังที่ด้านท้ายของจักรยาน คุณอาจจะลองท่าต่างๆเหล่านี้ดูในสถานที่ฝึกที่ปลอดภัยไม่มียานพาหนะอื่น ดูว่าท่าใดที่คุณทำได้ง่าย สะดวก และมั่นใจมากที่สุด แล้วก็ฝึกให้คล่อง และใช้ท่านั้นในสถานการณ์ที่เป็นจริงบนถนน
การให้สัญญาณมือบอกทิศทาง
กฎจราจรกำหนดให้ผู้ใช้จักรยานต้องให้สัญญาณเมื่อจะเลี้ยวหรือเปลี่ยนทิศทางการขี่ แต่ถ้าจะให้ดีให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นแล้ว คุณควรจะให้สัญญาณทุกครั้งไม่เพียงแต่เมื่อคุณจะเลี้ยวหรือเปลี่ยนทิศทาง แต่ให้สัญญาณด้วยถ้าทำได้เมื่อคุณจะขี่ตรงไป จะหยุด จะขี่ช้าลง (และคุณได้ขี่ผ่านสิ่งที่เป็นอันตรายบนถนนเมื่อมีผู้ใช้จักรยานคนอื่นขี่ตามมา) ดังนั้นคุณจะเห็นได้ว่าการขี่จักรยานด้วยมือเดียวเป็นทักษะที่สำคัญมากเพียงใดที่คุณต้องทำให้ได้ และทำให้ได้ดีด้วย
หันหัวไปมองข้างหลังดูยานพาหนะที่ตามมาและให้สัญญาณว่าคุณจะทำอะไรก่อนล่วงหน้าสักระยะหนึ่ง อย่าให้กระชั้นชิดเกินไป (นึกถึงเวลาคุณขี่จักรยานตามรถสักคันที่อยู่ๆก็มาเปิดไฟสัญญาณว่าจะเลี้ยวเอาก่อนจะเลี้ยวจริงๆนิดเดียว) ตั้งตัวตรง ยื่นแขนออกไปบ่งบอกทิศทางที่คุณจะขี่จักรยานไป และลดแขนลงมาจับแฮนด์อีกครั้งเมื่อคุณเลี้ยวเพื่อช่วยให้ควบคุมจักรยานของคุณให้ได้ดียิ่งขึ้น มองในทิศที่คุณจะขี่ไปเสมอ แล้วร่างกายของคุณกับจักรยานจะพาคุณไปเอง
ท้ายสุด ขอฝากว่าการขี่จักรยานให้ช้านั้นปลอดภัยกว่าการขี่เร็ว
หมายเหตุรูปประกอบนี้เป็นรูปประกอบบทความดั้งเดิมที่อยู่ในเว็บไซต์ต่างประเทศ(ออสเตรเลีย) การขี่จักรยานให้ปลอดภัย ทรงตัวได้ดี ไม่จำเป็นต้องใช้จักรยานหรือแต่งตัวอย่างผู้ใช้จักรยานดังในภาพ
กวิน ชุติมา เรียบเรียงจาก Hold the line เขียนโดย เอ็มมา คลาร์ค
15 ตุลาคม 2555