ค่ายจักรยานธนาคารโรงเรียนภาคใต้ ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดกระบี่
รายงานโดย กวิน ชุติมา
เลขาธิการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา เครือข่ายประสานงานผู้ใช้จักรยานจังหวัดกระบี่ได้จัดค่ายจักรยานธนาคารโรงเรียนภาคใต้ ครั้งที่ 1 ขึ้นที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ (วษท.กระบี่) โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม 3 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 50 คนจากโรงเรียน 11 แห่งใน 6 อำเภอของจังหวัดกระบี่ โดยมีวิทยากรและทีมพี่เลี้ยงจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพกระบี่ ชมรมจักรยานโรงแรมเชอราตัน ชมรมจักรยานโรงพยาบาลกระบี่ และชมรมจักรยานวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่
“ค่ายจักรยานธนาคารโรงเรียน”เป็นกิจกรรมค่ายสำหรับเยาวชนที่จัดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมเข้าใจประโยชน์ของการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและเรียนรู้ที่จะใช้จักรยานได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งรู้จักที่จะดูแลตนเองและเพื่อนๆให้มีสุขภาพดีทั้งกายใจ ห่างไกลยาเสพติด และเป็นเยาวชนที่ดีเป็นแบบอย่าง เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติ เหตุที่เรียกว่า “ค่ายจักรยานธนาคารโรงเรียน” ก็เนื่องจากธนาคารออมสินเป็นผู้สนับสนุนหลัก และเยาวชนที่เข้าร่วมไม่น้อยกว่าครึ่งมาจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารโรงเรียนของธนาคารออมสินที่ส่งเสริมให้เยาวชนรักการออม โดยสำหรับค่ายจักรยานธนาคารโรงเรียนภาคใต้ ครั้งที่ 1 นี้คุณจารุพันธ์ เมืองสง ผู้จัดการธนาคารออมสินเขตกระบี่ ให้เกียรติมาทั้งเปิดและปิดค่ายนี้ด้วยตนเอง ทั้งคุณจารุพันธ์ยังได้นำจักรยานที่ตนเองใช้ขี่เป็นประจำมาร่วมกิจกรรมขี่จักรยานในค่ายนี้ด้วย
นอกจากธนาคารออมสินซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักแล้ว ค่ายยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ผ่านทางโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย ที่ดำเนินงานโดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และจากบริษัทวิริยะประกันภัยและการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) อีกด้วย นอกจากนั้นในระหว่างค่าย เด็กๆยังได้รับกำลังใจจากลุงป้าน้าอา ผู้ใหญ่ใจดีจากชมรมจักรยานบ้านบางผึ้ง อ.เหนือคลอง และผู้ใช้จักรยานจากชุมชนศาลเจ้าแม่ในเทศบาลตำบลเขาพนม อ.เขาพนม ที่ขี่จักรยานมาเยี่ยมเยียนเด็กๆ ที่ค่ายด้วย
การจัดค่ายครั้งนี้ใช้หลักสูตรค่ายจักรยานเยาวชนที่ทำสรุปขึ้นมาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 ของผู้ที่เชี่ยวชาญด้านจักรยานและการจัดกิจกรรมให้การศึกษาเกี่ยวกับจักรยาน (ดูข่าวประชุมทำหลักสูตรค่ายจักรยานและฝึกอบรมการซ่อมจักรยาน) นำมาปรับส่วนหนึ่งให้เข้ากับสภาพในท้องถิ่นของกระบี่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่เข้าค่ายให้มากที่สุด รวมทั้งการมีส่วนร่วมคิดและทำกิจกรรมด้วยตัวของพวกเขาเอง เช่น การเลือกขวัญใจค่าย และการตั้งเครือข่าย
เยาวชนที่เข้าร่วมค่ายให้ความเห็นไว้ในใบประเมินผลว่า พวกเขาได้รู้จักวิธีการใช้จักรยานดีขึ้น ได้ทั้งความรู้และเพื่อน จึงอยากให้จัดมากวันกว่านี้ และขยายให้เยาวชนโรงเรียนอื่นๆ มาร่วมกิจกรรมด้วย นอกจากนั้นจากการติดตามเยาวชนบางส่วนหลังการจัดค่ายครั้งนี้ก็พบว่า พวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะใช้จักรยาน คนที่ยังไม่มีจักรยานของตนเองก็ไปขอให้ผู้ปกครองซื้อให้ บางคนชวนสมาชิกอื่นๆของครอบครัวให้ขี่จักรยาน บางคนกลับไปแนะนำเพื่อนๆที่โรงเรียนหรือแถวบ้านของตนเองให้ขี่จักรยานอย่างถูกต้องปลอดภัย และมีคนหนึ่งมาเป็นอาสาสมัครช่วยแนะนำการขี่จักรยานให้เด็กๆที่มาเที่ยวงานงานการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 33 ขององค์การเกษตรกรในอนาคตของประเทศไทยฯ ซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์ต่อมาด้วย (ดูข่าววิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ประกาศตัวเป็นวิทยาลัยจักรยาน)
สิ่งที่น่าชื่นชมในค่ายนี้คือเยาวชนในช่วงมัธยมปลายได้เอาใจใส่ดูแลน้องๆเป็นอย่างดี โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องสั่งเลย ทั้งเวลากลางวันที่ทำกิจกรรมต่างๆ และเวลากลางคืนที่พวกเขารวมกันเอาเงินส่วนตัวไปซื้อขนมและเครื่องดื่มมาเลี้ยงน้องในยามค่ำด้วยความริเริ่มของพวกเขาเอง มิตรภาพและความเอื้ออาทรเช่นนี้เองทำให้เด็กๆ ตกลงเลือกขวัญใจของพวกเขาขึ้นมาเอง และท้ายสุดมีการตกลงตั้ง“เครือข่ายชมรมชาวค่ายจักรยานธนาคารโรงเรียนภาคใต้ ครั้งที่ 1”มีการเลือกคณะกรรมการ 10 คนที่มีประธาน รองประธาน เลขา และฝ่ายกิจกรรม พร้อมสรรพ เพื่อรักษาความสัมพันธ์และหวังทำกิจกรรมร่วมกันต่อไปด้วยการสนับสนุนของเครือข่ายประสานงานผู้ใช้จักรยานจังหวัดกระบี่