ทางเดินลาดสำหรับคนพิการ
ทางเดินเท้าในประเทศไทยส่วนใหญ่มักไม่อยู่ในสภาพที่น่าเดินนัก แต่นั้นก็ยังพอทำเนาเพราะคนไทยอดทนสูง จึงเลือกที่จะทนเดินต่อไปโดยไม่ค่อยบ่น แต่ก็ไม่แน่ ต่อไปนี้เราอาจต้องบ่นมากขึ้นเพื่อให้ได้ทางเท้าที่เดินได้และน่าเดินในโอกาสต่อๆไป อย่างน้อยชมรมฯก็ควรจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้ต่อสังคมไทยแทนพวกเขานะครับ
ทว่า สิ่งที่น่ากังวลและให้ความสำคัญมากก็คือ ทางเท้าของไทยนี้ คนพิการที่ใช้เก้าอี้ล้อเลื่อน จะไม่สามารถใช้ในการสัญจรได้เลย ปัญหาคือนอกจากจะเป็นหลุมเป็นบ่อและมีสิ่งของกีดขวางทางมากแล้ว ยังมีขอบทางเท้าที่สูงถึงเป็นคืบ หรือบางที่สูงถึงเกือบหนึ่งไม้บรรทัด ผู้ที่ใช้เก้าอี้ล้อเลื่อนจึงไม่สามารถออกจากบ้านและเดินทางไปไหนมาไหน ผ่านทางเท้าของไทยได้เลย และนั่นหมายถึงว่าคนกลุ่มนี้จะออกไปทำงานนอกบ้านได้ยากมากเพราะไม่รู้จะเดินทางได้อย่างไร
ผมเคยเห็นฝรั่งที่คงไม่รู้พิษสงของทางเท้าไทยว่ามันใช้ไม่ได้ และจำต้องมาเข็นล้อวิ่งไปบนถนนในกทม. อยู่ ตามหลังรถเมล์ ซึ่งอันตราย นอกจากได้ควันพิษแล้วยังอาจถูกเหยียบทับเพราะคนขับรถเมล์มองไม่เห็นอีกด้วย วันนั้นผมกำลังขับรถอยู่ถัดไปอีกเลน สองเลน จึงลงไปช่วยไม่ได้และยังนึกเสียใจมาถึงทุกวันนี้
ทางเท้าสำหรับคนพิการที่ใช้เก้าอี้ล้อเลื่อนจึงมีขอบสูงไม่ได้เป็นอันขาด หากที่ใดมีพื้นที่ต่างระดับกัน ไมว่าจะเป็นที่ขอบทางเท้าหรือทางเข้าอาคาร ก็ต้องมีทางลาดสำหรับให้คนพิการกลุ่มนี้สามารถทำทางลาดไว้บริการคนพิการไว้แล้ว รวมทั้งพัฒนาสูงไปอีกขั้นคือ มีราวจับสำหรับคนสูงอายุหรือคนพิการแบบอื่นๆด้วย (ดูรูป)
แต่ก็น่าเสียดายที่สร้างแล้วสร้างเลย ยังไม่มีการดูแลรักษาที่ดีพอ ทางลาดที่ว่าจึงทรุดตัวลงและเกิดเป็นพื้นที่ต่างระดับขึ้นมาอีก เพราะทางทรุดแต่อาคารวางอยู่บนเสาเข็มจึงไม่ทรุด อาคารหรือหน่วยงานที่ควรได้รับรางวัลในฐานะที่มีวิธีคิดที่เอื้อต่อคนพิการ ก็เลยได้คะแนนติดลบไปเพราะเหตุนี้
ขอกระซิบ (ดังๆ) นะครับว่าอาคารนี้เป็นอาคารของหน่วยงานใหญ่ระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทยด้วยสิครับ
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
กันยายน 2555