ผมคงต้องขอแจ้งและขอยอมรับเป็นอันดับต้นก่อนว่า ผมเป็นคนนำแนวคิดคาร์ฟรีเดย์หรือวันไร้รถยนต์เข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย ในปีพ.ศ.2543 หลังจากที่ได้เคยไปร่วมรณรงค์คาร์ฟรีเดย์ที่ต่างประเทศมาแล้ว 2-3 ครั้ง
ครั้งนั้นผมได้ตอบผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์ว่าผมไม่ได้หวังว่าในกรุงเทพจะไม่มีรถวิ่งบนท้องถนนในวันนั้นแต่อย่างใด เพราะผมและทุกๆคนรู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ ผมบอกไปด้วยซ้ำว่าแม้แต่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือเมืองบาร์ซีโลนาในสเปน หรือเมืองเพิร์ธในออสเตรเลีย ก็ใช่ว่าจะไม่มีรถยนต์ส่วนตัวมาวิ่งเลยในวันนั้น มันยังมีรถยนต์วิ่งอยู่ไปทั่ว เพียงแต่เขากันพื้นที่ที่ถนนบางถนนให้เป็นถนนไร้รถยนต์ในวันนั้นเท่านั้น
ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่คาร์ฟรีเดย์จริงๆน่ะสิ ผู้สื่อข่าวถามผม
คำตอบคือใช่ ถ้าเช่นนั้นจะทำไปทำไมถ้ามันไม่เป็นจริงอย่างชื่อของมัน คำตอบของกลุ่มคนรณรงค์เพื่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันทั่วโลกจะเหมือนกัน คือ มันเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิในการดำรงชีวิตในเมืองอย่างมีความสุขและความสะดวกสบายตามอัตภาพ โดยมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งมันจะเป็นจริงขึ้นมาได้ ซึ่งก็มีบางส่วนของโลกที่สิ่งนี้ได้เป็นจริงขึ้นมาแล้วในหลายเมืองในทวีปออสเตรเลียและยุโรป
โดยอาจจะไม่ใช่ไร้รถหรือคาร์ฟรีทั้งเมือง แต่เป็นคาร์ฟรีในบางเขตของเมือง และในเขตนั้นๆไม่ใช่เป็นแค่คาร์ฟรีเดย์ด้วย แต่เป็นคาร์ฟรีเอฟรีเดย์หรือ Car Free Everyday หรือไร้รถทุกวัน ซึ่งบางประเทศในยุโรปซึ่งก้าวหน้าในเรื่องนี้กว่าสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียมาก ได้พูดถึงเป้าหมายในการกำหนดเมืองเล็กๆบางเมืองเป็นคาร์ฟรีทาวน์หรือ“เมืองไร้รถ”กันแล้วด้วยซ้ำ
เรากำลังพูดถึงการไร้รถยนต์ แต่ไม่ใช่ไร้รถเมล์ รถไฟ รถขนส่งมวลชน รถแท็กซี่ และรถจักรยาน ซึ่งแน่นอนรถหรือพาหนะเหล่านี้ยังมีอยู่ได้ในเมืองไร้รถยนต์ เพราะผู้คนยังจำต้องเดินทางไปมาหาสู่หรือประกอบอาชีพ แต่พาหนะเหล่านี้จะเคลื่อนที่ได้เร็วและมีประสิทธิภาพสูงเพราะไม่มีปัญหาจราจรติดขัดอันเกิดจากปริมาณรถยนต์ส่วนตัวมากเกินไปบนท้องถนน อย่างที่เราประสบกันอยู่ทุกวันในกทม.และเชียงใหม่
กลับมาเรื่อง‘คาร์ฟรีเดย์สำหรับใคร’
จากประสบการณ์ที่ผมได้ไปร่วมรณรงค์ในต่างประเทศ ผู้คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมรณรงค์จะเป็นชาวบ้านและประชาชนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริง ซึ่งดูได้จากชนิดจักรยานและการแต่งกายที่จะแตกต่างไปจาก “นักจักรยาน”
คนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจริงไม่ว่าจะในเนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี นอร์เวย์ สวีเดน สเปน อิตาลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และอีกหลายต่อหลายประเทศ จะไม่แต่งตัวด้วยชุดจักรยานรัดรูป รวมทั้งไม่ใส่หมวกกันน็อก เพราะเขาถือว่าการใช้จักรยาน ซึ่งไปได้ไม่เร็ว ไม่ใช่สิ่งอันตราย
อันตรายมันมาจากยานพานหะอื่นๆที่มารบกวนเขาต่างหาก องค์กร ECF หรือสหพันธ์จักรยานแห่งยุโรปถึงกับมีแถลงการณ์ออกมาหลังการประชุมจักรยานโลกในปีหนึ่งว่า พวกเขาไม่ต้องการใช้หมวกกันน็อกในการขี่จักรยาน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปจัดทำให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกแก่ผู้ใช้จักรยาน ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมในการใช้พื้นผิวถนนเช่นเดียวกับผู้ใช้ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์อื่นๆ
หันมาดูที่บ้านเราในข่าววันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นๆได้ตีพิมพ์หรือเสนอข่าวที่มีภาพของนักจักรยานใส่ชุดจักรยานเต็มยศ รวมทั้งหมวกกันน็อกออกมารณรงค์กันเต็มท้องถนนในหลายๆจังหวัด
ถามว่าคนพวกนั้นเป็นคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ คนกลุ่มนี้ใช้จักรยานสำหรับการบันเทิงและออกกำลังเท่านั้น ส่วนคนใช้จักรยานตัวจริงไม่ได้ออกมาร่วมรณรงค์ด้วย เพราะเขาไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่ได้เป็นเจ้าของโครงการเหล่านี้แม้แต่น้อย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาแต่งตัวไม่เหมือนคนพวกนั้น เขาไม่มีชุดรัดรูป เขาไม่มีหมวกกันน็อก เขาจึงไม่มาร่วม
ดังนั้นคาร์ฟรีเดย์ที่เรากำลังรณรงค์กันอยู่ทุกวันนี้จึงเป็นการรณรงค์เพื่อคนเพียงกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียว หาใช่คนส่วนใหญ่ที่ใช้จักรยานอย่างจริงจังในชีวิตประจำวันไม่
ผมเองเคยหลงผิดในสมัยรณรงค์เพื่อให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานกันมากๆในสมัยแรกๆ อาจจะประมาณ 20 ปีมาแล้ว คือหลงผิดไปตามสหรัฐอเมริกาที่บังคับให้ผู้คนต้องซื้อและใช้หมวกกันน็อกหากจะใช้จักรยานบนถนนในอเมริกา(แต่ก็เป็นเพียงบางรัฐเท่านั้นที่บังคับใช้ มีอีกหลายรัฐที่ไม่บังคับ)
เพิ่งมาถึงบางอ้อตอนไปประชุมจักรยานโลกและพบกับตัวจริงเสียงจริงที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่าเขาไม่ใช้กัน ประเทศอเมริกาเสียอีกที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการบังคับใช้หมวกกันน็อกกลับเป็นประเทศที่มีคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันติดอันอับบ๊วยๆของโลก ส่วนใหญ่จะใช้รถ 8 สูบ 3000 ซีซี ไว้ขับไปซื้อแมคโดนัลด์ข้างบ้าน
ดังนั้น ถ้าเราจะมารณรงค์ให้เกิดคาร์ฟรีเดย์ แล้วบังคับให้ตาสีกับยายสาใส่ชุดจักรยานแถมด้วยหมวกกันน็อกตอนขี่จักรยาน อีกนานก็คงยังไม่เกิดคาร์ฟรีเดย์ในประเทศกระมังครับ
หมายเหตุ: เพื่อป้องกันความสับสน หมวกกันน็อกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักจักรยานหากเขาใช้จักรยานในการแข่งขัน หรือขี่ทางไกล หรือขี่ลงเขาสูง หรือขี่ข้ามเมืองจากบางนาไปบางขุนเทียน คือยังจำเป็นต้องใช้หากกิจกรรมนั้นส่ออันตรายรุนแรง โดยไม่ใช่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแบบที่ชาวบ้านใช้ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวปากซอย
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในเดือนกันยายน ๒๕๕๓