Home / Articles / ผังเมือฝรั่งเน้น Smart Growth

ผังเมือฝรั่งเน้น Smart Growth

คำว่า “Smart Growth” ว่ากันว่าเป็นแนวคิดใหม่ในการผังเมืองมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้การ วางผังเมืองผิด ๆ แบบเดิม จนหากไม่มีรถส่วนตัว ก็เท่ากับพิการ ไม่มีขา เพราะบ้าน ร้านค้า โรงเรียน ฯลฯ แต่ละแห่ง ห่างไกลกัน เดินกันไม่ถึง  แต่ไทยเรายังเอาแนวคิดผังเมืองแบบ “พระเจ้าเหา” มาใช้

บทความโดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

ว่าด้วย ‘Smart Growth’
แนวคิดนี้คือ การพัฒนาเมืองโดยรวมศูนย์ความเจริญอยู่ภายในเมืองเพื่อป้องกันปัญหาการเติบ โตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดไปสู่ชานเมือง (Urban Sprawl)  แนวคิดนี้จะมีองค์ประกอบเกี่ยวกับ คุณภาพชีวิตของชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่อยู่อาศัยและการคมนาคมขนส่ง  ทั้งยังได้รับการต่อเติมให้ดูร่วมสมัยด้วยการพูดถึงการประหยัดพลังงาน การแก้ปัญหาโลกร้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน
หลักการ 10 ประการสำคัญของแนวคิดนี้คือ การสร้างโอกาสที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย การสร้างชุมชนที่เดินถึงกันได้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของท้องที่ การตัดสินใจพัฒนาที่คาดการณ์ได้เป็นธรรมและคุ้มค่า การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย การพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สร้างชุมชนใหม่) และการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่หนาแน่นเกินไป

เหล้าเก่าในขวดใหม่
ทำไมที่สหรัฐอเมริกากำลัง ‘ฮือฮา’ กับแนวคิดนี้ เหตุผลก็คือตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา อเมริกาสร้างแต่บ้านแนวราบกินพื้นที่ออกไปนอกเมืองมากที่สุด ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองที่สุด จนใครต่อใครทราบดีว่าในอเมริกา หากใครไม่มีรถ ย่อมเหมือนคนพิการ ไปไหนไม่ได้ เพราะแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สำนักงาน หรืออื่น ๆ ล้วนแต่ห่างไกลจากบ้านทั้งนั้น แต่อเมริกาก็พัฒนาอย่างสูญเปล่านี้ได้มานานเพราะมีเงินมาก จะบันดาลอะไรก็ทำได้นั่นเอง
ระยะหลังมานี้อเมริกาจึงค่อยสำนึกได้ว่านี่เป็นการพัฒนาที่ทำร้ายตัวเองเป็นอย่างมาก จึงเกิดแนวคิด Smart Growth นี้ขึ้น ข้อนี้ไทยและประเทศในเอเชียจึงไม่ต้องตื่นเต้นมากนัก เพราะเมืองไทยเราดีกว่ามากในแง่นี้ ขนาดเวียดนามที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังที่นั่นมาระยะหนึ่ง ก็ยังมีละแวกบ้านแบบพึ่งตนเองได้ จะซื้อหาอะไรก็มีอยู่แถวนั้น ไม่ต้องถ่อไปซื้อไกลถึงใจกลางเมือง ดังนั้นแม้แนวคิดนี้จะเพิ่งได้รับการโฆษณา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียว ผมเชื่อว่านี่เป็นเพียงการ ‘import’ วิธีการแบบตะวันออกไปใช้ในอเมริกา แล้ว ‘export’ ออกมาให้ชาวโลกได้ชื่นชมกันอีกคำรบหนึ่ง

เขามุ่งทำเมืองให้แน่นแต่ กทม. มุ่งให้หลวม
บางคนมักอ้างว่ากรุงเทพมหานครหนาแน่นเหลือเกินเพราะมีความหนาแน่นของ ประชากรสูงถึง 3,600 คนต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่ประเทศไทยโดยรวมมีความหนาแน่นเพียง 129 คนต่อตารางกิโลเมตร จึงเสนอแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงให้ชะลอการเติบโตของกรุงเทพมหา นคร โดยไม่ฉุกคิดว่า สิงคโปร์มีความหนาแน่นของประชากรเกือบ 7,000 คน หรือมากกว่ากรุงเทพมหานครถึงเกือบ 2 เท่า  แต่กลับดูโล่งโปร่งสบายกว่า
เกาะแมนฮัตตันในนครนิวยอร์ก มีประชากร 1,634,795 คน แต่มีขนาดที่ดินเพียง 59.5 ตร.กม. หรือมีความหนาแน่นสูงถึง 27,476  คนต่อตารางกิโลเมตร  นครนิวยอร์กโดยรวมมีประชากรถึง 8.3 ล้านคน มีความหนาแน่นของประชากรถึง 10,587 คนต่อตารางกิโลเมตร  ดังนั้นแนวคิดที่ตั้งใจทำกรุงเทพมหานครให้โล่งจึงควรได้รับการทบทวนเป็น อย่างยิ่ง เพราะเป็นแนวคิดที่จะมุ่งเก็บรักษาที่ดินในเมือง ซึ่งมักเป็นของผู้มีอันจะกินในวันนี้ไว้ และให้ผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลางจำต้องไปซื้อบ้านอยู่นอกเขตผังเมือง ที่ไม่อำนวยให้สร้างอาคารชุดหรือสร้างได้ในความสูงที่จำกัด
การคิดผิดเพี้ยนของนักผังเมืองไทยทำให้กรุงเทพมหานครในช่วง พ.ศ.2545-2554 มีประชากรลดลง 2%  แต่ในเขตปริมณฑลกลับมีประชากรเพิ่มจาก 3.9 ล้านคน ในปี 2545 เป็น 4.7 ล้านคนในปี 2554 หรือ 21% หากในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีผู้อยู่อาศัย 3,600 คนตามค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร ประชากร 1.2 ล้านคน ก็เท่ากับไปบุกรุกไร่นาเรือกสวนสีเขียวถึง 333 ตารางกิโลเมตร

ทำไมจึงเป็นไปได้
ทำไมในสหรัฐอเมริกาทำอะไรก็มักได้ ส่วนหนึ่งก็คือเขามีเงิน ประชากรมีรายได้มากกว่า จึงเก็บภาษีได้มากกว่า และเก็บในสัดส่วนที่มากกว่าไทย ของไทยเราภาษีท้องถิ่น ภาษีทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่มี ชุมชนหรือท้องถิ่นก็มีรายได้จำกัด โอกาสที่จะทำอะไรมากจึงจำกัด การนำแนวคิดนี้มาใช้ก็คง ‘เลียนแบบ’ มาได้บางส่วน และทำตามกำลัง
ในสหรัฐอเมริกา บ้านทุกหลังต้องเสียภาษีทรัพย์สินปีละ 1-2% ของมูลค่าตลาด ไม่ใช่ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของทางราชการไทย ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อนำเงินเหล่านี้มาใช้พัฒนาท้องถิ่น การนี้ท้องถิ่นก็มีเงินเพียงพอที่จะพัฒนา ลำพังการอาศัยการบริจาคจากภาคเอกชนหรือชุมชน ก็คงได้ทำอะไรเพียงเล็กน้อยแบบ ‘ลูบหน้าปะจมูก’ หรือ ‘ไฟไหมฟาง’ ดังนั้นการหวังให้ประชาคม บริษัทห้างร้าน มูลนิธิ ฯลฯ เข้าช่วยผลักดันแนวคิด ‘Smart Growth’ จึงมีความเป็นไปได้ที่จำกัด

ทำอย่างไรให้สำเร็จ
แนวคิดการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยวาทกรรมใหม่หรือเก่าใดๆ นั้น จะเป็นจริงได้ก็อยู่ที่ผู้บริหาร เช่น นายกเทศมนตรี ผู้นำชุมชน ผู้ว่าราชการ ตลอดจนผู้นำรัฐบาล หาไม่แนวคิดดีๆ ก็จะเพียง ‘ขึ้นหิ้ง’ หรือไม่ก็แค่อยู่ในตำรา หรืออย่างดีก็ได้รับการดำเนินการแบบ ‘ไฟไหม้ฟาง’ หรือ ‘ผักชีโรยหน้า’ ในที่สุด
ถ้าผู้บริหารยอมรับหรือได้รับการปรับทัศนคติ (Mindset) แนวคิดก็จะได้รับการยอมรับ สานต่อและทำให้เป็นจริงขึ้น เราจึงต้องขายความคิดให้กับผู้บริหาร แต่ลำพังผู้บริหารนั้น บางครั้งเวลาฟังให้ได้ศัพท์ยังไม่มี ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงต้องพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชนในวงกว้างด้วย เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้ผู้บริหารได้ตระหนักถึงความสำคัญและปรับทัศนคติ ต่อแนวคิดใหม่ ๆ ต่อไป

มองเทศแล้วย้อนมองไทยครับ อย่าให้แนวคิดการวางผังเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพครอบงำไทย

หมายเหตุ: มิใช่ข้อคิดเห็นของ TCC แต่ด้วยชื่นชมในแนวคิดการสร้างเมืองที่เดินถึงกันได้ จึงนำมาแบ่งปันให้ได้อ่านกัน

แหล่งข้อมูล//http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/area

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.