หลังปั่น Car Free Day ลองงด Car Full Day
ท่ามกลางอาการ ใครบางคน กำลังขี่ Bike และใครหลายคน แอบเนียนๆปั่นกระแสจักรยานเพื่อรับใช้ภาพลักษณ์ตัวเองตัวเองนั้น น่าสนใจว่าเมื่อมองไปยังแวดวงการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ที่จะมาถึงจะมีคนไหนบ้าง ที่ชูนโยบายถนนเล็กๆของเจ้าสองล้อที่ว่านี้
จักรยาน ก็ เหมือนรถไฟ ในแง่ของความผูกพัน ผมคิดว่าไม่มีใคร ไม่เคยผ่านเรื่องราวนี้ เพราะต่อให้ไม่ใช่ฐานะผู้ขี่ ก็คงชิดใกล้ในบทบาทของผู้นั่งหรือซ้อน ที่สำคัญไปกว่านี้ พาหนะสองประเภทที่ต่างไซส์กันมากแบบนี้ มีแง่มุมวันเก่าก่อนให้ผู้คนได้พูดถึงไม่รู้จบ
ทั้งสองอย่างกลับเป็นแทรนด์ในกิจกรรมไลฟ์สไตล์และวันหยุด มีทั้งเรื่องบวกและด้านลบ (เพราะบางทีก็เป็นการตลาดรับใช้สินค้าและเซแลบเยอะไป) เมื่อเนิ่นนานวันเราก็ต่างแอบคิดและมีหวังกับ พื้นที่จักรยาน เหมือนที่ก่อนหน้านั้น เราหวังกับพื้นที่โรงละครเวทีทางเลือก, หวังกับโรงหนังทางเลือกอย่างลิโด้และเฮาส์, หวังกับพื้นที่ของงานแสดงศิลปะที่ไม่อยู่ในการดูแลของราชการ
ทุกอย่างที่หวังมานี้ เราก็ได้มาอย่างสมใจหวัง แต่มันไม่ง่ายกับบิ๊กโปรเจคที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งเมืองอย่างจักรยาน
ผมเคยไปดูงานที่หมู่บ้านจักรยานในอัมสเตอร์ดัม ฮอลแลนด์ และโคเปนเฮเก้น ที่เดนมาร์ก คนจัดงานเขาให้เข้าไปอยู่แบบนั้นเลย เพื่อจะใช้ชีวิตสั้นๆและรับรู้รสของการอยู่กับจักรยาน ระหว่างนั้นก็ได้ความรู้หลายอย่างเกี่ยวกับระบบการจัดการ เห็นแง่มุมงดงามของมัน
แต่ก็ไม่ฟุ้งฝันคิดว่า จะเกิดขึ้นในกรุงเทพ เพราะมันต่างกันมากระหว่างผู้คน ระบบเมืองและอากาศ รวมทั้งความใจกว้างแคบของผู้เกี่ยวข้อง
มีอันหนึ่งที่น่ารักและจำได้ก็คือ ใครก็ตามที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแทนการขับรถ บริษัทหลาบแห่งจะรับเข้าทำงานก่อนคนใช้รถ เพราะถือว่าได้มีส่วนช่วยการลดมลพิษ และเมื่อทำงานไปเรื่อยๆจักรยานเกิดเสีย บริษัทที่ทำงานก็จะการซ่อมให้ฟรี นี่ยังไม่นับสวัสดิการมากมายที่ได้ เพื่อแลกกับการไม่เอาแต่สบายด้วยการขับรถ
กระนั้น แม้เราจะรักจักรยานกันทุกคน แต่เมื่อมองความเป็นจริง กรุงเทพยังไม่ใช่เมืองที่ปลอดภัยในการขี่จักรยานนัก ผมคิดแบบนี้และเตือนเพื่อนหลายคนว่า กรุงเทพเป็นเมืองที่มีพฤติกรรมการขับรถที่แย่ที่สุดเมืองหนึ่ง สหายรักคนหนึ่งไม่เชื่อ และขี่จักรยานหลังเลิกงานไปตามที่ต่างๆ
วันหนึ่ง เขาถูกรถเก๋งซึ่งชนแถวสุขุมวิท กระดูหักทั้งตัว แขนและขาหักสองข้าง นอนโรงพยาบาล 8 เดือน หมดค่าใช้จ่ายหลายแสน (จับคนชนไม่ได้ เพราะประมาณ 22:00 น.) สุดท้ายส่งผลถึงการออกจากงานในที่สุด
ภาพประกอบจาก http://www.sarakadee.com/blog/tigerjun/?p=162
เราควรจะมองการขี่จักรยานในความเป็นจริงมากกว่าเพ้อเจ้อเรื่องกรุงเทพจะเป็น หมู่บ้านจักรยาน วิธีการที่น่าจะลองก่อนและไม่กระทบใครมาก คือลองประกาศไปเลยว่าน่าจะมีวันอาทิตย์สักวันที่ปิดเมือง ไม่ใช้รถยนต์ และเป็นวันจักรยาน เท่านั้น ทำแบบวันเดียวพอก่อน เพื่อไม่ใช้กระทบหรือรู้สึกว่าจะไปเบียดบังคนใช้รถ
ขอกันไปเลยว่าวันอาทิตย์นั้นๆ เพียววันเดียว จะมีแต่จักรยาน ระหว่าง 06:00-17:00 น. พูดง่ายๆคือ ลองงด Car Full Day ที่มีแต่รถเต็มเมือง แออัด ลองแบ่งมาเป็น Car free day ของเจ้าสองล้อ การทำแบบนี้ไม่ได้นำไปสู่อะไรเชิงรูปธรรมก็จริง แต่มันจะช่วยสั่งสมและผุดพรายความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น
คนที่ไม่สนหรือมองไม่เห็นประโยชน์ของจักรยานเพราะติดรถยนต์ไปแล้ว ก็อาจจะรู้สึก ดีเหมือนกันถ้าสักวันในหนึ่งเดือนจะมีแต่จักรยาน เพราะเขาอาจจะไปลองขี่กับลูกๆมาแล้วมันสนุก แถมยังมีรอยยิ้ม(มิใช่แค่หยาดเหงื่อ)
ทำวันจักรยาน ให้เหมือนกิจกรรม ออกกำลังวิ่ง ที่จัดขึ้นกันอยู่เรื่อยๆพอคนเห็นคุณค่าและรู้สึกได้ มันจะค่อยๆเปลี่ยนทัศนคติของเมืองเอง เพราะกรุงเทพไม่สามารถเป็นเมืองแห่งจักรยานอยู่แล้ว (ผมไม่เชื่อ)
แต่เราสามารถแบ่งสเปซ แบ่งความรู้สึกกัน ระหว่างรถทั่วไปกับจักรยานได้
นักการเมืองบางคนเพ้อเจ้อ เอาแต่พูดว่ากรุงเทพจะเป็นเมืองจักรยาน ทั้งๆที่เส้นแบ่งนิดๆหน่อยๆเรายังไม่มีเลย และถ้ามี หวังว่าจะไม่มีใครโดนชนขาหัก ไปนอนรักษา 8 เดือนอีก
ฉะนั้น จึงยังไม่หวังอะไรมาก ค่อยๆทำดีไหม
เอาแบบวันอาทิตย์ทั้งวันของการปิดเมือง 1 วัน ขี่จักรยานก่อน แล้วเรื่องอื่นๆจะตามมาเอง
TCC ขออนุญาตนำเสนอแนวคิดดีดีให้ได้อ่านกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ (เสาร์ที่ 3 พ.ย.55)
บทความจากคอลัมน์ หน้าม่านมายา กรุงเทพฯธุรกิจ, 17 ต.ค.555
นันทขว้าง สิรสุนทร
twitter@nantakwang