การขี่จักรยานไปทำงานกำลังเติบใหญ่ในยุโรป แม้แต่สหภาพยุโรปก็เอาด้วย
โครงการสนับสนุนการขี่จักรยานไปทำงาน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bike To Workกำลังเกิดขึ้นทั่วทวีปยุโรป โดยขยายตัวออกไปเร็วมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในเดนมาร์คซึ่งถือกันว่าเป็น “เม็กกะของการขี่จักรยาน” นั้นมีคนเข้าร่วมการรณรงค์ “เราขี่จักรยานไปทำงาน” หรือ “we cycle to work”มากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ส่วนในเยอรมันก็ไม่น้อยหน้า โครงการที่ ADFCองค์กรผลักดันด้านจักรยานแห่งชาติของเยอรมัน หนุนหลังก็มีคนเข้าร่วมถึง ๑๒๕,๐๐๐ คน ประเทศอื่นๆ อย่างฮังการี สหราชอาณาจักร ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ (จำได้ไหมครับว่า คุณคริสเทียน่า ฟิเกอเรส เลขาธิการ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ ที่มีสำนักงานอยู่ในนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ เคยบอกเราชาวไทยว่า เธอขี่จักรยานไปทำงานทุกวัน ยกเว้นวันที่หิมะตก) ก็ล้วนแต่มีโครงการในลักษณะนี้ทั้งสิ้น โดยที่ขนาดพื้นที่และจำนวนคนที่เข้าร่วมเติบโตอยู่ตลอดเวลา
นาย Siim Kallasกรรมการด้านการขนส่งหรือรัฐมนตรีคมนาคมของคณะกรรมการยุโรปขี่จักรยาน
ไปทำงานเป็นตัวอย่าง (ภาพโดยMercator Media)
นายมาตี้ ทูเล็นไฮโม เจ้าหน้านโยบายการเดินทางในเขตเมืองของ ECFบอกว่าตอนนี้คนเรียกร้องต้องการโครงการขี่จักรยานไปทำงานกันมาก ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเทคโนโลยี เพราะโครงการจักรยานใหม่ๆจำนวนมากเดี๋ยวนี้ออนไลน์กันทั้งนั้น ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและกำลังคนที่ต้องใช้ลงไปได้มากในประเทศเบลเยี่ยมอันเป็นที่ตั้งสำนักงานส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรปนั้น ที่ผ่านมาหลายปียังไม่มีโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมการขี่จักรยานไปทำงานจนกระทั่งมาได้รับทุนจากกระทรวงสาธารณสุขยุโรปผ่านทาง Life Cycle projectของ DG SANCO ด้วยทุนก้อนนี้ Fietsersbond ซึ่งเป็นองค์กรผลักดันด้านจักรยานของเบลเยี่ยมก็ได้เริ่มโครงการของตนเอง แล้วเชื่อไหมครับว่าโครงการนี้ไปได้ดีและใหญ่โตเสียจนคณะกรรมการยุโรป(ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐบาลของสหภาพยุโรปที่ประกอบด้วย ๒๕ ประเทศ กรรมการแต่ละคนก็คือรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆของสหภาพยุโรปนั่นเอง) ต้องมาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย !!
“ก่อนที่สหภาพยุโรปจะให้เงินมาสนับสนุนโครงการขี่จักรยานไปทำงานในเบลเยี่ยมบ้างนั้นที่นั่นแทบไม่มีอะไรเลยแต่ในเวลาเพียงปีเดียวหลังจากที่ได้รับทุน โครงการก็เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วน่าตะลึงในความสำเร็จ มีรายงานว่าขณะนี้ชาวเบลเยี่ยมขี่จักรยานไปทำงานแล้วเดือนละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ กิโลเมตรทุกเดือน อ่านไม่ผิดหรอกครับ เดือนละหนึ่งล้านกิโลเมตร !!!
จักรยานของคณะกรรมการยุโรป
เมื่อชาวเบลเยี่ยมออกมาขี่จักรยานไปทำงานกันมากมายขนาดนั้น สหภาพยุโรปจะทนเฉยอยู่ได้อย่างไร ทั่วโลกรู้ดีว่าคณะกรรมการยุโรปนั้นมีชื่อเสียงในแง่การมีนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในบ้านตัวเองในกรุงบรัสเซลล์ เมืองหลวงของเบลเยี่ยมนั้น บุคลากรเกือบร้อยทั้งร้อยกลับใช้แต่รถยนต์กันมาเป็นเวลานาน และสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการยุโรปก็ยังตั้งอยู่บน “ถนนแห่งกษัตริย์” (Rue de la Loi) ซึ่งเป็นถนนที่รถติดมากที่สุดและมีมลภาวะมากที่สุดสายหนึ่งของยุโรปอีกด้วยแต่คณะกรรมการยุโรปก็อยากจะเปลี่ยนแปลงนะครับ และก็ท่าทางจะเอาจริงด้วย เริ่มต้นด้วยการลงนามเข้าร่วมโครงการขี่จักรยานไปทำงานของเบลเยี่ยมและเข้าร่วมการรณรงค์วันอาทิตย์ปลอดรถในกรุงบรัสเซ็ลล์ คณะกรรมการยังจัด “จักรยานบริการ” เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ใช้ในวันทำงาน ใช้ขี่ไปมาระหว่างอาคารต่างๆ ของคณะกรรมการยุโรปซึ่งมีอยู่มากมายรอบๆกรุงบรัสเซ็ลล์และระหว่างที่มีการซ่อมแซมถนนในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา คณะกรรมการยุโรปอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถขี่จักรยานกลับบ้านไปได้ด้วย
“ถนนแห่งกษัตริย์” บ้านของคณะกรรมการยุโรป
(ภาพโดยJilou)
การผลักดันให้เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปขี่จักรยานไปทำงานมากขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลงานของ “กลุ่มจักรยานสหภาพยุโรป” (European Union Cycling Group หรือ EUCG) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมของคนรักจักรยานที่ทำงานอยู่ในสถาบันองค์กรต่างๆของสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซ็ลล์ กลุ่มนี้มีสมาชิกมากกว่า ๑,๓๐๐ คน นาย Lewis Dijkstra ประธานของ EUCGบอกว่าทางกลุ่มตื่นเต้นมากที่คณะกรรมการยุโรปเข้าร่วมโครงการขี่จักรยานไปทำงาน “เราเชื่อมั่นว่าการเข้าร่วมครั้งนี้จะทำให้เพื่อนร่วมงานของผมมากขึ้นขี่จักรยานไปทำงาน”
เขาชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการยุโรปมีแนวโน้มไปในทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่กระฉับกระเฉง(active travel)“คณะกรรมการยุโรปส่งเสริมการเดิน การขี่จักรยาน และการใช้ขนส่งสาธารณะไปทำงาน ผมก็จะบอกว่าการขี่จักรยานไปทำงานเข้ากับยุทธศาสตร์นั้นได้ดี เช่นเดียวกับการจัดให้มีจักรยานบริการ ซึ่งกลายเป็นสิ่งยอดนิยม”
โครงการเริ่มแล้วนะครับ ทีนี้ก็มาคอยดูกันว่าอีกหนึ่งปีผ่านไปจะมีเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเข้าร่วมสักกี่คน เมื่อคำนึงว่าสหภาพยุโรปมีเจ้าหน้าที่ถึง ๒๕,๐๐๐ คน หากพวกเขาหันมาขี่จักรยานไปทำงานกัน “ถนนแห่งกษัตริย์” และกรุงบรัสเซ็ลล์ก็คงมีรถยนต์ออกมาแล่นน้อยไปโขทีเดียว
หันมาดูใกล้ๆคือกรุงเทพมหานครซึ่งมีเจ้าหน้าที่มากกว่า ๑๐,๐๐๐ คนที่จะไปทำงานที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ย่านดินแดง ถ้าบุคลากรจะขี่จักรยานไปทำงานแบบสหภาพยุโรปก็คงดีไม่น้อย ในการประชุมรับฟังความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการจราจรที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านในย่านนั้นก็แสดงความกังวลออกมาแล้วว่ารถจะติดกันมโหฬาร บริษัทที่ปรึกษาที่ กทม.จ้างมาทำได้แค่เสนอให้ทำอุโมงค์ลอดถนนวิภาวดีรังสิตมูลค่านับพันล้านบาทเพื่อ “ลด” ปัญหา ส่วนชาวบ้านก็ขอว่าเจ้าหน้าที่ กทม. ขับรถมาถึงแล้วก็ให้จอดไว้ในอาคารจอดรถของ กทม.เลย อย่าขับไปไหน รวมทั้งไปส่งลูกเข้าโรงเรียนของ กทม.บริเวณนั้น ซึ่งชาวบ้านคาดไว้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ไม่น้อยย้ายโรงเรียนลูกมาอยู่แถวนั้นเพื่อความสะดวกในการรับ-ส่ง ชาวบ้านขอให้เด็กเดินไปเองหรือผู้ปกครองเดินไปส่ง ในขณะที่ผู้แทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยไม่ถึงกับเสนอให้ กทม.มีโครงการขี่จักรยานไปทำงาน แต่เสนอว่าเริ่มต้นให้ทำทางเดินเท้าและทางจักรยานเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินใกล้นั้นมาที่ศาลาว่าการ กทม. ก่อน ให้เจ้าหน้าที่ กทม.ใช้รถไฟฟ้าแล้วมาเดินหรือขี่จักรยานต่อ แม้จะทำเป็นระบบปิด ติดแอร์ด้วย ก็ยังลงทุนน้อยกว่าการทำอุโมงค์ให้รถยนต์หลายๆเท่า ไม่รู้ว่า กทม.จะรับฟังไปทำแค่ไหน
กวิน ชุติมา เรียบเรียง
จาก Can The European Commission Bike To Work?
เขียนโดย Dr. Randy Rzewnicki เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และผู้จัดการโครงการ CycleLogistics ของ ECF ใน ECF Newsletter7 November 2012
23 พฤศจิกายน 2555