Home / Articles / อยากให้คนขี่จักรยานมากๆ ก็อย่าบังคับให้ใส่หมวกนิรภัย

อยากให้คนขี่จักรยานมากๆ ก็อย่าบังคับให้ใส่หมวกนิรภัย

  ในวันอาทิตย์ที่สดใสวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ฉันตัดสินใจที่จะไม่ไปพิพิธภัณฑ์หรือไปช้อปปิ้งอย่างคนทั้งหลายที่มาเยือนปารีสทำกัน และทำสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจมากกว่าสำหรับการเป็นนักข่าวสิ่งแวดล้อม นั่นคือการไปขี่เวลิบ (Velib) ที่มีคนกล่าวว่าเป็นโครงการใช้จักรยานร่วมกัน(bike sharing)ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก  แม้จะมีอายุเพียงไม่กี่ปี ระบบการใช้จักรยานร่วมกันของยุโรปก็ทำประโยชน์ไปแล้วหลายอย่าง ที่เห็นชัดๆก็คือการลดสภาพจราจรติดขัดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะนี้นครใหญ่ในสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนิวยอร์ค ซึ่งจะเริ่มโครงการใช้จักรยานร่วมกันในปีหน้า(๒๐๑๓)ก็อยากจะประสบความสำเร็จเช่นนั้นบ้าง

      ภาพจาก : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151116419366610&set=a.208170051609.140218.186035556609&type=1&theater

         ฉันซื้อบัตรผ่านที่ใช้ได้หนึ่งวันในราคาราวสองดอลลาร์(๖๐ บาท)ทางอินเตอร์เน็ต ป้อนข้อมูลล็อคอินของฉันเข้าไปที่สถานีแห่งหนึ่งในสถานีหลายร้อยแห่งที่กระจายอยู่ห่างกันสองสามช่วงตึกทั่วเมือง และเลือกเอาจักรยานสีเทารูปร่างเทอะทะ มีแฮนด์ตรง เกียร์พื้นฐาน และตะกร้าใส่ของพร้อมสรรพ ออกมาคันหนึ่งจากทั้งระบบที่มีกว่า ๒๐,๐๐๐ คัน

แล้วฉันก็ทำสิ่งหนึ่งที่แปลกประหลาด สิ่งที่ฉันไม่เคยทำเลยตลอดเวลา ๒๕ ปีที่ขี่จักรยานเป็นประจำในสหรัฐอเมริกา นั่นคือฉันขี่จักรยานออกไปโดยไม่สวมหมวกนิรภัยฉันขี่มันเที่ยวทั้งวันด้วยความเร็วปานกลางไปตามสองฝั่งของแม่น้ำแซน เข้าไปย่านลาติน ผ่านพิพิธภัณฑ์ลูฟ และไปตามถนนชองเซลีเซด้วยความรู้สึกตื่นเต้น ไม่ได้หวาดกลัวอะไร และฉันมีคนเป็นพันๆ ที่ขี่จักรยานโดยไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นเพื่อนท่ามกลางการจราจรของปารีส  ตัวบ่งชี้ความสำเร็จร่วมกันประการหนึ่งของโครงการจักรยานที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก จากปารีสไปถึงบาร์เซโลนาและกว่างโจว คือแทบจะไม่มีใครเลยใส่หมวกนิรภัย และไม่มีแรงกดดันใดๆให้พวกเขาต้องทำเช่นนั้นด้วย

     ในสหรัฐอเมริกา ความคิดที่ว่าหมวกนิรภัยสำหรับผู้ขี่จักรยานช่วยส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยด้วยการป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะนั้นเป็นที่ยอมรับกันเกือบๆจะเท่ากับความจริงของพระเป็นเจ้าทีเดียว ผู้ใช้จักรยานที่ไม่สวมหมวกนิรภัยจะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่รับผิดชอบเช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่ หลายเมืองส่งเสริมการใส่หมวกนิรภัยอย่างแข็งขันถึงขั้นที่จะเรียกว่าก้าวร้าวเลยก็ได้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจำนวนมากของยุโรปมีมุมมองที่แตกต่างออกไป ใช่ มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าถ้าคุณตกจากจักรยานที่ความเร็วระดับหนึ่งและหัวของคุณไปกระแทก หมวกนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงที่หัวของคุณจะได้รับบาดเจ็บร้ายแรงได้ แต่การตกในลักษณะเช่นนั้นหาได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะในระบบการขี่จักรยานในเมืองที่เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว

       อีกด้านหนึ่ง นักวิจัยหลายคนกล่าวว่า ถ้าคุณบังคับหรือกดดันให้คนสวมหมวกนิรภัย คุณจะบั่นทอนใจไม่ให้พวกเขามาขี่จักรยาน นั่นหมายความว่าจะมีคนเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคเบาหวานมากขึ้น และมีคนทั่วไปออกมาขี่จักรยานตามถนนไม่กี่คน ซึ่งก็ทำให้ยากขึ้นที่จะพัฒนาเครือข่ายการขี่จักรยานที่ปลอดภัย  นครที่ขี่จักรยานได้ปลอดภัยที่สุดอย่างเช่นอัมสเตอร์ดัมและโคเปนเฮเกน ซึ่งผู้ขี่จักรยานกลุ่มใหญ่เป็นคนวัยกลางคนที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงาน และผู้ใหญ่ที่ใส่หมวกนิรภัยขี่จักรยานนั้นมีน้อยเสียจนแทบจะหาไม่พบ“การผลักดันให้ใส่หมวกนิรภัยฆ่าการขี่จักรยานจริงๆนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จักรยานร่วมกัน เพราะมันส่งเสริมความรู้สึกที่ว่าการขี่จักรยานนั้นอันตราย ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเลย จริงๆแล้ว การขี่จักรยานมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย” ศาสตราจารย์ปิเอ็ต เดอ จอง แห่งภาควิชาการเงินประยุกต์ที่มหาวิทยาลัยแม็คควารีในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าว   อาจารย์ปิเอ็ตศึกษาประเด็นนี้โดยใช้การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และสรุปว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากการขี่จักรยานมีมากกว่าความเสี่ยงถึง ๒๐ ต่อ ๑ “ในทางสถิติแล้ว ถ้าเราต้องสวมหมวกนิรภัยขี่จักรยาน บางทีเราควรจะสวมหมวกนิรภัยเมื่อเราปีนบันไดหรือก้าวลงไปในอ่างอาบน้ำด้วย เพราะกิจกรรมสองอย่างหลังนี้ทำให้คนบาดเจ็บมากมายกว่าการขี่จักรยานมาก”

สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) กล่าวว่าผู้ใช้จักรยานมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บร้ายแรงเท่าๆกับคนเดินเท้าเมื่อคิดต่อกิโลเมตรที่เดินทางไปแต่กระนั้นหน่วยงานบริหารความปลอดภัยในการจราจรทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาก็ยังแนะนำให้ “ผู้ขี่จักรยานทุกคนสวมหมวกนิรภัยไม่ว่าจะขี่จักรยานที่ไหน” ดร.เจฟฟรีย์ ไมเคิล เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของหน่วยงานกล่าวประสบการณ์ล่าสุดจากเมืองต่างๆ บ่งบอกว่า เมืองใดที่ต้องการให้โครงการใช้จักรยานร่วมกันได้ผลและ “ติดลม” เมืองนั้นก็อาจจะต้องยอมให้คนขี่จักรยานโดยไม่สวมหมวกนิรภัย โครงการใช้จักรยานร่วมกันอายุสองปีในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งกฎหมายบังคับให้ผู้ขี่จักรยานใส่หมวกนิรภัย มีคนใช้เพียง ๑๕๐ เที่ยวต่อวัน แม้ว่าเมืองนี้จะมีพื้นที่ราบเรียบ ถนนก็กว้าง และอากาศอบอุ่นไม่ร้อนไม่หนาว ในขณะที่นครดับลิน เมืองหลวงของประเทศไอร์แลนด์ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขา ถนนจำนวนมากเป็นถนนโบราณที่มีก้อนหินตะปุ่มตะป่ำ และอากาศหนาวเย็น มีคนใช้กว่าวันละ ๕,๐๐๐ เที่ยว ทั้งที่เพิ่งเริ่มขึ้นมาใหม่ๆ  ส่วนนครเม็กซิโกซิตี้ก็เพิ่งจะยกเลิกกฎหมายบังคับให้สวมหมวกนิรภัยไปเมื่อเร็วๆนี้เพื่อให้โครงการใช้จักรยานร่วมเดินหน้าไปได้ แต่ที่นี่ในสหรัฐอเมริกามีการเมืองเข้ามาเกี่ยว

ฌอน เมอร์ฟี่ ผู้ประสานงานการขี่จักรยานของนครมินนีอาโปลิส ซึ่งเริ่มโครงการใช้จักรยานร่วมกันในชื่อ Nice Ride ในปี ๒๕๕๓ และขยายออกไปยังเมืองเซนต์พอลในปีต่อมา ถูกประจานยับว่าขี่จักรยานโดยไม่ใส่หมวกนิรภัย “ผมอยากให้คนเห็นว่าการขี่จักรยาน(ในเมือง)เป็นสิ่งที่คนธรรมดาสามัญสามารถทำได้” คุณฌอนอธิบายให้สื่อมวลชนท้องถิ่นฟังเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา “คุณไม่ต้องการอุปกรณ์พิเศษ คุณเพียงแต่ขึ้นนั่งคร่อมอานแล้วก็ขี่ออกไป”

  ในนครยิวยอร์คซึ่งปีที่แล้วมีผู้ใช้จักรยานเสียชีวิต ๒๑ คน คุณแจเน็ต ซาดิก-ข่าน กรรมาธิการด้านการขนส่ง จะปรากฏในภาพขี่จักรยานโดยใส่หมวกนิรภัยเสมอ  อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของนายกเทศมนตรีไมเคิล อาร์ บลูมเบิร์ก ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้ตรวจสอบ จอห์น ซี. หลิว ที่ให้นครนิวยอร์คออกกฎหมายบังคับให้ผู้ขี่จักรยานสวมหมวกนิรภัยไปแล้วเมื่อโครงการใช้จักรยานร่วมกัน ๑๐,๐๐๐ คันจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ด้วยเกรงว่าคนจะไม่มาใช้ แต่ตัวนายกเทศมนตรีเองก็ยังพูดว่าการสวมหมวกนิรภัยเป็นความคิดที่ดี และนครนิวยอร์คจะส่งเสริมการใช้หมวกนิรภัยผ่านการให้การศึกษาและการแจกหมวกนิรภัย  ในสหรัฐอเมริกา หลายนครกำลังดิ้นรนหาทางเอาชนะปัญหาสำคัญในทางปฏิบัติของการหลอมรวมการใช้หมวกนิรภัยเข้ากับโครงการใช้จักรยานร่วมกัน เช่น การจัดให้มีเครื่องแจกจ่ายหมวกนิรภัยที่ฆ่าเชื้อแล้วตามสถานีจอดจักรยานต่างๆแต่ผู้ผลักดันการใช้จักรยานบอกว่า ปัญหาของการผลักดันให้ใช้หมวกนิรภัยไม่ใช่ปัญหาในเชิงปฏิบัติ แต่การใช้หมวกนิรภัยทำให้กิจกรรมที่โดยพื้นฐานแล้วปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่อันตรายขึ้นมาจริงๆ

“ประโยชน์แท้จริงของการใช้จักรยานร่วมกันในแง่ของสุขภาพ การขนส่ง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดมาจากการที่คนธรรมดาสามัญใช้มัน” คุณเซริ วูลสโกรฟ เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปกล่าว “และถ้าคุณบอกว่าการขี่จักรยานเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่คุณต้องใส่เกราะนะ พวกเขาก็จะไม่ขี่จักรยานคนเหล่านี้เป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ ไม่ใช่นักรบในเมือง”

    ในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยในยุโรปบอกว่า ตัวชี้วัดที่บ่งบอกความเข้มแข็งของโครงการใช้จักรยานร่วมกันคือการที่มีผู้หญิงมาใช้มากกว่าผู้ชาย  ในประเทศเนเธอร์แลนด์ คนที่ขี่จักรยานในชีวิตประจำวันร้อยละ ๕๒ เป็นผู้หญิง  คนที่ผลักดันการใช้จักรยานในยุโรปกล่าวว่า แทนที่จะส่งเสริมการใช้จักรยาน นครต่างๆควรจะจัดให้มีทางจักรยานที่ปลอดภัยมากกว่าขึ้นมา ทำให้การจราจรช้าลงหรือหันเหออกไปทั้งหมดจากย่านใจกลางเมือง “การขี่จักรยานในนิวยอร์คหรือในออสเตรเลียเหมือนกับการวิ่งวัว(ในสเปน) มีแต่ชายหนุ่มทั้งนั้น” คุณจูเลียน เฟอร์กูสัน โฆษกของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปกล่าว และนี่แหละคือส่วนที่ทำให้การขี่จักรยานอันตรายจริงๆ (หลายประเทศในยุโรปกำหนดให้เด็กต้องสวมหมวกนิรภัยในการขี่จักรยาน)  ในนครลอนดอนซึ่งโครงการใช้จักรยานร่วมกันที่เพิ่งเริ่มประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายทั้งปวง จำนวนผู้ที่ขี่จักรยานในชุดสูทและใส่กระโปรงกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย และชาวลอนดอนทิ้งหมวกนิรภัยไว้ที่บ้านมากกว่าใส่มัน

    เราอาจจะต้องทำตามนี้ จากการศึกษาโครงการใช้จักรยานร่วมกันที่เพิ่งเริ่มใหม่ในทวีปอเมริกาเหนือ รวมทั้งในนครมอนทรีออล วอชิงตัน และมินนีอาโปลิส ดร.ชาฮีน พบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุนั้น “ต่ำจริงๆ” ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ที่สุดเห็นเห็นตรงกันว่าพวกเขาได้ออกกำลังกายมากขึ้น และการใช้หมวกนิรภัยในโครงการใช้จักรยานร่วมกันจะน้อยกว่าสาธารณชนทั่วไปมาก

คุณจอห์น แครเมอร์ แห่งมหาวิทยาลัยยอร์ชทาวน์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนการสวมหมวกนิรภัยขี่จักรยาน พบในการศึกษาที่เขาเป็นคนทำว่า มีเพียงร้อยละ ๓๐ เท่านั้นของชาวบ้านร้านถิ่นที่ใช้โครงการใช้จักรยานร่วมกันของกรุงวอชิงตัน ดีซี ที่สวมหมวกนิรภัย เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ ๗๐ ของคนที่ขี่จักรยานของตนเองก่อนที่คุณจะแสดงความเห็นและบอกฉันว่าคุณรู้จักคนที่การสวมหมวกนิรภัยอาจจะช่วยชีวิตของเขาไว้ ฉันก็จะบอกคุณว่าฉันรู้จักเหมือนกัน ฉันยังรู้จักคนที่เชื่อว่าชีวิตของเขารอดมาได้เพราะการตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทานของต่อมลูกหมากเป็นการเฉพาะ ทำให้ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมาก  แต่ความรู้สึกว่าได้ช่วยคนให้พ้นภัยนี้มันสมเหตุสมผลจริงๆหรือ ต่อคนเป็นคนๆไปและต่อทั้งสังคม

    กลับมานิวยอร์ค ฉันสวมหมวกนิรภัยออกไปขี่จักรยานวันหยุดสุดสัปดาห์ในเซ็นทรัลพาร์ค แต่ฉันไม่แน่ใจว่าฉันจะทำอย่างเดียวกันนี้ในอีกสองปีข้างหน้าเมื่อฉันขี่จักรยานไปทำงานด้วยระบบใช้จักรยานร่วมกันของนิวยอร์คที่มั่นคงแล้วคุณปิเอ็ต ซึ่งเติบโตขึ้นมาในเนเธอร์แลนด์ ตั้งข้อสังเกตต่อนครอัมสเตอร์ดัมว่า “ที่นี่ไม่มีใครสวมหมวกนิรภัย เราถือว่าการขี่จักรยานเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัยเป็นปกติอย่างสิ้นเชิง คุณจะไม่ได้ยินคนพูดว่าการใส่หมวกนิรภัยช่วยชีวิตฉันไว้”

ภาจากจาก http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151116419366610&set=a.208170051609.140218.186035556609&type=1&theater

กวิน ชุติมา แปลจาก To Encourage Biking, Cities Lose the Helmets

เขียนโดย Elisabeth Rosenthalในหนังสือพิมพ์ New York Times ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2012

แก้ไขข้อมูลบางประการให้ถูกต้องแล้วในวันที่ 7 ตุลาคม 2012

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.