Home / Articles / สมาชิกสภายุโรปชวนคนเลิกใช้รถมาขี่จักรยาน

สมาชิกสภายุโรปชวนคนเลิกใช้รถมาขี่จักรยาน

มิชาเอล เครเมอร์เป็นสมาชิกสภายุโรปจากประเทศเยอรมัน และเป็นสมาชิกของกลุ่มกรีน/พันธมิตรเสรียุโรป (Green/European Free Alliance)ในรัฐสภายุโรป ผู้อยากจะให้ประชาชนในทวีปยุโรปที่ประสงค์จะเปลี่ยนมาเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยจักรยาน สามารถเลือกวิธีการเดินทางนี้ได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มงบประมาณของสหภาพยุโรปไปสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางจักรยาน  ตัวเขาเองนั้นเลิกใช้รถยนต์หันมาใช้จักรยานตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ แล้ว มาอ่านกันนะครับว่า สส.ยุโรปเขาคิดเขาทำอะไร และ สส.ไทยเราควรทำอะไร

“ในช่วงเวลาที่มีความยากลำบากทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ดูเหมือนว่าการสนับสนุนการใช้จักรยานไม่น่าจะได้รับความสนใจลงทุนนัก ทางเลือกในการใช้งบประมาณสำหรับการเดินทางขนส่งน่าจะไปลงที่โครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่โตน่าตื่นตาตื่นใจอย่างเช่น ทางหลวง รถไฟความเร็วสูง หรือการเดินทางทางน้ำ มากกว่า  แต่ในความเป็นจริงแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับและส่งเสริมการใช้จักรยานนั้นก็สร้างผลกระทบอย่าง ใหญ่หลวง ให้การตอบแทนอย่างเศรษฐกิจมหาศาล แล้วก็สำคัญพอๆกัน

ทำไมน่ะหรือครับ

“ประการแรกเลย จักรยานสามารถทำให้ภาคขนส่งของเรา “สะอาด” ขึ้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคขนส่งเท่ากับร้อยละ ๓๐ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในสหภาพยุโรป (ตัวเลขของประเทศไทยคือร้อยละ ๒๖ – ผู้แปล) และตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เป็นต้นมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙ ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ ๓๔ ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นความสำเร็จของภาคส่วนต่างๆในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ลงทุนไปมหาศาลหลายพันหลายหมื่นล้านยูโรก็จะสูญเปล่าเพราะภาคขนส่ง ดังนั้นผมขอฟันธงว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการเดินทาง เราก็จะไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตรงนี้เองที่การใช้จักรยานสามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้  ดูประเทศเยอรมันเป็นตัวอย่างสิครับ ร้อยละ ๙๐ ของระยะทางทั้งหมดที่เราใช้รถยนต์ในการเดินทางแต่ละครั้งนั้นน้อยกว่า ๖ กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเดินทางด้วยรถไฟ(และรถไฟฟ้า) รถประจำทาง รถราง และจักรยาน  ในเมืองต่างๆของเยอรมัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ ๗๐ มาจากรถยนต์ (ตัวเลขของกรุงเทพมหานครคือร้อยละ ๕๐ – ผู้แปล) ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนนิสัยของเราโดยเฉพาะในเขตเมือง ถ้าเพียงแต่เราแทนที่การเดินทางด้วยรถยนต์ในระยะทางน้อยกว่า ๖ กิโลเมตรร้อยละ ๓๐ ด้วยการใช้จักรยาน ก็จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจราจรขนส่งลงได้ถึงร้อยละ ๔

“การศึกษาของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF)พบว่า ถ้าเราแต่ละคนในสหภาพยุโรปใช้จักรยานเท่าๆกับชาวเดนมาร์คคือเฉลี่ยวันละ ๒.๖ กิโลเมตร เราจะช่วยให้สหภาพยุโรปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ทีเดียว เราไม่ควรจะประเมินพลังของการใช้จักรยานในการทำให้ภาคขนส่งสะอาดต่ำเกินไป

“ประการที่สอง การใช้จักรยานให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล จากการใช้เครื่อง HEAT (การประเมินผลของสุขภาพต่อเศรษฐกิจ) ขององค์การอนามัยโลก การใช้จักรยานในระดับปัจจุบันของยุโรปสร้างประโยชน์ทางด้านสุขภาพคิดเป็นมูลค่ามากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านยูโร (ราว ๘,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หรือแปดล้านล้านบาท)ในแต่ละปี ไม่มีการเดินทางรูปแบบอื่นใดจะให้ผลประโยชน์ทางด้านสุขภาพทัดเทียมกันได้  การท่องเที่ยวที่ใช้จักรยานสร้างรายได้ให้กับภาคเศรษฐกิจของยุโรปปีละ ๔๔,๐๐๐ ล้านยูโร (ราว ๑,๕๖๐,๐๐๐ ล้านบาท)  ตัวผมเอง(สส.เครเมอร์)มีส่วนทำให้เกิด Iron Curtail Trail หรือ “เส้นทางจักรยานหลังม่านเหล็ก” (ใน “ยุคสงครามเย็น” สื่อมวลชนมักเรียกสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอว์ว่า “หลังม่านเหล็ก” – ผู้แปล) ยาว ๙,๐๐๐ กิโลเมตร ผ่าน ๒๐ ประเทศ จากนอร์เวย์ รัสเซีย ไปจนถึงพรมแดนบัลกาเรีย-ตุรกี

“เส้นทางจักรยานนี้เลียบพรมแดนทางตะวันตกของประเทศกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอว์ นั่นก็คือเส้นแบ่งระหว่าง “ตะวันออก” กับ “ตะวันตก” ของยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่ใหญ่โตกว่าที่มีชื่อเรียกว่า EuroVelo ซึ่งเป็นเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่ข้ามพรมแดนประเทศต่างๆไปทั่วยุโรป เครือข่ายนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จากการศึกษาที่รัฐสภายุโรปเป็นผู้จ้างทำ ผลกระทบหนึ่งของเครือข่าย EuroVelo ที่เสร็จสมบูรณ์คือรายได้โดยตรงปีละ ๗,๐๐๐ ล้านยูโร (ราว ๒๘๐,๐๐๐ ล้านบาท) ที่เยี่ยมที่สุดคือเส้นทางจักรยานเหล่านี้จะตัดผ่านนคร เมือง และภูมิภาคต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปสามารถใช้เดินทางในชีวิตประจำวันได้

“ในวันอังคารที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผมจะผลักดันให้คณะกรรมาธิการขนส่งของรัฐสภายุโรปรวมเอาการใช้จักรยานและเครือข่ายทางจักรยาน EuroVelo เข้าไว้ในแนวทางของเครือข่ายการขนส่งข้ามยุโรป (Trans-European Transport Network หรือ TEN-T)ด้วย เราไม่ควรจะละเลยพลเมือง ๓๕ ล้านคนในยุโรปที่ขี่จักรยานทุกวัน และเราควรกระตุ้นให้คนใช้จักรยานกันมากขึ้นด้วยการให้ทุนทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยาน นี่เป็นโอกาสแล้วที่รัฐสภายุโรปจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถปรับปรุงสภาพของการใช้จักรยานให้ดีขึ้นทั่วยุโรป (มีข่าวดีว่าการผลักดันนี้ซึ่งมีสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปเป็นหัวแรงสำคัญได้ประสบความสำเร็จไปแล้ว – ผู้แปล)

“ชาวเนเธอร์แลนด์ขี่จักรยานกันคนละมากกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตรในแต่ละปี ประเทศอื่นๆที่มีสภาพเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกันใช้จักรยานน้อยกว่ามาก นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ นี่เป็นเพราะนโยบายขนส่งของเนเธอร์แลนด์ได้รวมเอาการใช้จักรยานเข้าไว้ด้วยและมีการลงทุนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง คนใช้จักรยานเพราะมันเป็นทางเลือกที่ง่าย สะดวก ผมไม่ได้ใช้รถยนต์มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ แล้ว แต่ผมก็ไม่ใช่คนวิเศษวิโสแปลกประหลาดอะไรในนครเบอร์ลิน เพราะว่าในนครแห่งนี้ทุกครัวเรือนมีคนที่เดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ ผมอยากจะทำให้สิ่งนี้เป็นทางเลือกที่สะดวกง่ายดายของคนทุกคนในยุโรป”

เมื่อใดประเทศไทยของเราจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิกที่คิดที่ทำเช่นนี้บ้าง และใครจะเป็นคนแรกครับ จะต้องคอยไปอีกนานเท่าใดกว่าผู้แทนของเราจะตระหนักถึงข้อดีมากมายของการใช้จักรยานซึ่งจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับการลงทุนดังตัวอย่างของยุโรปข้างต้นนี้

กวิน ชุติมา

เรียบเรียงแปลจาก Should we give up our cars to cycle and save the planet?

เขียนโดย มิชาเอล เครเมอร์ในเว็บ www.publicserviceeurope.comวันที่ 13 ธันวาคม 2012

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.