ไม่สูญเสียจากการวิจารณ์ ที่ไม่สร้างสรรค์
ดร.บวร ปภัสราทร
borworn@computer.org
ตำราเล่มหนึ่งบอกไว้ว่าความสำเร็จของคนหนึ่ง อาจจะกลายเป็นการคุกคามของอีกคนหนึ่งได้เสมอ เพื่อนร่วมงานทำงานได้ผลดี ถือเป็นความสำเร็จของคนนั้น ในขณะที่อีกคนหนึ่งย่อมจะมีโอกาสน้อยลงในการช่วงชิงตำแหน่งบริหารในหน่วยงานนั้น ความสำเร็จของคนหนึ่งจึงกลายเป็นการคุกคามการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของอีกคนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มนุษย์เราจึงสร้างกลไกป้องกันการคุกคามจากความสำเร็จของคนอื่นขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ การวิพากษ์วิจารณ์ให้ความสำเร็จนั้น ดูเป็นเรื่องที่ไม่ได้ดีอย่างที่เป็นอยู่จริง การวิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์นี้ นักปราชญ์บางท่านบอกว่าเป็นกลไกที่มาจากความริษยาในความสำเร็จของคนอื่นนั่นเอง
ซึ่งคนแต่ละคนควบคุมการตอบโต้การวิจารณ์ที่มาจากความริษยาแตกต่างกัน บางคนออกไปในทางโมโหท้าตีท้าต่อย วิจารณ์มา ฉันด่ากลับไป ซึ่งตอบโต้แบบนี้ไม่กี่ครั้งก็กลายเป็นศัตรูถาวรที่จ้องทำลายอีกคนหนึ่งอย่างไม่ลืมหู ลืมตา คล้ายๆ กับที่เราเห็นสุนัขวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถไปไล่กัดอีกตัวหนึ่งโดยไม่สนใจว่ารถจะชน ตายไม่กลัวแต่กลัวไม่ได้กัดอีกตัวหนึ่ง การตอบโต้การวิจารณ์จากความริษยาแบบนี้ถือเป็นการตอบโต้ในระดับที่มีสำนึกต่ำสุด แต่น่าสนใจที่ว่าเป็นกลไกการตอบโต้ที่มีการใช้มาก
“คนที่ติเพื่อก่อจะมีคำตอบให้เสมอแต่ถ้าด่าอย่างเดียวโดยไร้ข้อเสนอแนะเราใจเย็นและอดทนเพียงพอในการตอบโต้ไม่ช้าความจริงก็จะปรากฎ”
เมื่อใดก็ตามที่เราได้สร้างความสำเร็จใดๆ ขึ้นมา ให้ทำใจเตรียมพร้อมที่จะรับคำวิจารณ์จากความริษยาไว้ก่อน ถ้าพบการวิจารณ์จากความริษยาเมื่อใด ให้เริ่มต้นด้วยการหยุดคิดสักนิดหนึ่งก่อนที่จะโต้ตอบออกไป หยุดคิดทบทวนให้แน่ใจว่าเป็นการวิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์แน่ๆ ไม่ใช่ว่าตัวเราอ่อนไหวต่อการวิจารณ์มากเกินไปจนมองคำวิจารณ์ทุกอย่างเป็นการติเตียนอย่างไม่สร้างสรรค์ไปทั้งหมด หยุดแค่สองสามวินาที เราจะหยุดกลไกโต้ตอบการคุกคามจากการวิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติลงไปได้ ซึ่งการตอบโต้โดยอัตโนมัติมักเป็นไปในทางที่จะเกิดความสูญเสียกับตัวเราตามมาเสมอ
แต่วันนี้เป็นกรรมเวรอย่างหนึ่งที่ผู้คนเชื่อว่าการไม่โต้ตอบคือการยอมรับว่าเป็นจริงตามคำวิจารณ์นั้น ดังนั้น ไม่โต้ตอบไม่ได้เสียแล้ว หนทางที่ทำได้คือต้องโต้ตอบไปในทางที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าผู้ที่วิจารณ์นั้นไม่ได้รู้เรื่องจริงกับงานที่เราสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น โดยทบทวนในถ้อยคำที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายว่าคำวิจารณ์คืออะไร ตรงไหนของความสำเร็จของงานของเราที่ไม่ดีพอในความเห็นของผู้วิจารณ์ แต่พึงระวังอย่าให้กลายเป็นการถกเถียงในเรื่องเล็กน้อย เป็นการต่อปากต่อคำ เพราะคนด่าสรรหาเรื่องเล็กน้อยมาด่าได้ง่าย แต่คนทำกว่าจะอธิบายเรื่องหนึ่งได้นั้นต้องอธิบายกันยืดยาวมาก ๆ คนสร้างความสำเร็จจึงต่อปากต่อคำสู้คนริษยาที่ชอบด่าคนอื่นไม่ได้ การต่อปากต่อคำในประเด็นเล็กน้อย จะกลายเป็นความสูญเสียต่อการงานของคนที่สร้างความสำเร็จขึ้นมาได้ ในขณะที่เป็นชัยชนะของคนริษยา
สกัดย่อมาจากคอลัมน์ทัศนะวิจารณ์
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันจันทร์ที่ 14 ต.ค. 2556 หน้า 10
ภาพประกอบจาก: http://www.siamzone.com/board/view.php?sid=3000682